Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ลงทุนร้านอาหารต้องระวัง การแข่งขันสูง กำลังซื้อหด ปี 68 สตรีตฟูด โตได้
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ลงทุนร้านอาหารต้องระวัง การแข่งขันสูง กำลังซื้อหด ปี 68 สตรีตฟูด โตได้

16 ธ.ค. 67
16:40 น.
|
523
แชร์

รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีร้านอาหารและเครื่องดื่มเกือบ 7 แสนร้าน มีคนทำงานอยู่ในธุรกิจนี้มากกว่า 1 ล้านคน และธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังเชื่อมโยงกับหลายส่วนตั้งแต่เกษตรกร ผู้แปรรูปวัตถุดิบ ผู้จัดจำหน่ายทั้งขายส่งขายปลีก จนมาถึงหน้าร้านที่ประชาชนเลือกซื้อ ดังนั้นในวันที่สภาพเศรษฐกิจคึกคัก ประชาชนมีกำลังซื้อ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มย่อมเติบโตดีตามไปด้วย 

ในทางกลับกันในวันที่เศรษฐกิจซบเซา อย่างกรณีการระบาดของโควิด 19 ร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดกิจการลง และดูเหมือนว่าปัจจุบันแม้โควิดคลี่คลายแล้วแต่คนที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มหรือการขยายกิจยังคงต้องคิดให้มากขึ้น เพราะเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความท้าทายมากมาย ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังน่าสนใจต่อไปอีกหรือไม่? โดยเฉพาะในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มต้องเตรียมตัวรับมือและปรับตัวอย่างไรบ้าง ?  SPOTLIGHT สรุปข้อมูลแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย มาฝากกัน 

ปี 2568 มูลค่าธุรกิจร้านอาหารชะลอตัวลง 

แม้อาหารและเครื่องดื่มจะเป็นปัจจัย 4 สำหรับทุกคนก็จริง แต่ในสภาพเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในวันนี้และอนาคต ทำให้คนทำธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มไม่ได้ประสบความสำเร็จกันง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มูลค่าการเติบโตของธุรกิจชะลอตัวลงจากปี 2567 โดยคาดว่ามูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 657,000 ล้านบาท เติบโต 4.6% 

สิ่งที่เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในปี 2568 มีหลายปัจจัยอย่างมาก 

  • ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 
  • การแข่งขันที่รุนแรง 
  • ต้นทุนที่สูงขึ้น 
  • ทำให้ผู้ประกอบการต้องคิดหากลยุทธ์และปรับตัวกันอย่างหนัก 

จากข้อมูลพบว่า การแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยรุนแรงในทุกระดับราคาและประเภทของอาหาร ไม่น่าแปลกใจเลยเพราะจำนวนร้านมีอยู่มหาศาลนับเป็นความหนาแน่นของร้านอาหารต่อประชากรอยู่ที่ 9.6 ร้านต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูง 

โดยในปี 2568 คาดว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มจะมีจำนวนประมาณ 6.9 แสนร้าน และยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มร้านอาหารเอเชีย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มมาจากแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่นการเปิดห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานเปิดใหม่ๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน 

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงลงทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศ นอกจากนี้จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี เชียงใหม่และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพ  

 นอกจากผู้ประกอบการในไทยจะมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มแล้ว การแข่งขันในธุรกิจยังมาจากการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนร้านอาหารและเครื่องดื่มจำแนกตามสัญชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจากจีนมีมูลค่าการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น และแนวโน้มการเข้ามาลงทุนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่รุนแรงนี้ ทำให้เห็นการปิดกิจการสูงขึ้นด้วยสะท้อนจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ร้านอาหารปิดตัวเร่งขึ้น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ร้านอาหารมีการจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจสูงถึง 89% เทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การเปิดตัวใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ร้านสตรีตฟูดยังไปต่อเพราะราคาประหยัดถูกปากคนไทยและต่างชาติ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เจาะเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหารพบว่ากลุ่มร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีอัตราการเติบโตดีกว่ากลุ่มอื่น คาดว่าจะเติบโต 6.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 266,000 ล้านบาท เนื่องจาก เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่สูงได้รับความนิยมจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Tourism) เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ประกอบกับไทยมีร้านอาหารที่ติดอยู่ในมิชลินไกด์ กว่า 482 ร้านอาหาร จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า การใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ของการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมด

ส่วนแนวโน้มธุรกิจร้านเครื่องดื่มในปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 85,320 ล้านบาท เติบโต 3.2% จากปี 2567

ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

นอกจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นไม่เต็มที่ ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วยโดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงที่ผู้ประกอบการยังต้องติดตามนโยบายของภาครัฐในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2568ซึ่งแน่นอนว่า คงจะกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก

ส่วนต้นทุนวัตถุดิบอาหารซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจสัดส่วนประมาณ 1ใน 3 ของต้นทุนทั้งหมด กำลังผันผวนด้วยสภาวะอากาศที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้ราคาวัตถุดิบอาจปรับขึ้นได้โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบนำเข้าอย่างนมผง เนย ชีส โกโก้ และแป้งสาลี โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าในปี 2568 ยังทรงตัวสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในกลุ่มร้านเบเกอรี่และอาหารตะวันตกค่อนข้างมาก

สุดท้ายหนีไม่พ้นเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจบริการ “ความแปลกใหม่+ประสบการณ์+สุขภาพ+ราคาสมเหตุสมผล” ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำและเปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างต่อเนื่อง โจทย์ยากทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มต้องเผชิญ รวมถึงใครที่กำลังจะลองมองหาธุรกิจใหม่ๆ แล้วสนใจอยากทำธุรกิจร้านอาหารลองประเมินศักยภาพและความเป็นไปได้อีกครั้ง เพราะตลาดนี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด  

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

แชร์
ลงทุนร้านอาหารต้องระวัง การแข่งขันสูง กำลังซื้อหด ปี 68 สตรีตฟูด โตได้