หลายคนอาจคิดว่า ร้านฮะจิบัง เป็นของคนไทยไปแล้วเพราะมีสาขาในประเทศไทยมากกว่า 100 แห่ง และเปิดกิจการในประเทศไทยมากว่า 31 ปี
ล่าสุด ฮะจิบัง ประกาศลงทุนในประเทศไทยเพิ่มด้วยการสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ในประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกันยายน ปี 2566 นี้ ซึ่งโรงงานผลิตแห่งใหม่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในกระบวนการผลิตให้กับ ฮะจิบัง ที่มีเป้าหมายขยายจำนวนร้านอาหารในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 70% เป็น 250 แห่ง จากปัจจุบันมี 159 แห่ง ซึ่งเทียบกับจำนวนร้านอาหารบ้านเกิดอย่างญี่ปุ่นมีอยู่ 115 ร้านเท่านั้น โดยในประเทศไทย ฮะจิบัง ตั้งใจจะเปิดสาขาปีละ 10 แห่ง
เรียกได้ว่า ร้านราเมนของคนญี่ปุ่น แต่กลับเสริฟ์ให้คนอาเซียนมากกว่าคนญี่ปุ่นเสียอีก อะไรทำให้ ราเมนฮะจิบัง เติบโตได้ดีในตลาดประเทศไทย SPOTLIGHT สรุปข้อมูลมาฝาก
ชื่อร้าน Hachiban ramen ได้รับการตั้งชื่อตามหมายเลขทางหลวงแห่งชาติหมายเลข 8 (Hachi แปลว่า 8) ซึ่งเป็นทางหลวงที่ร้านราเมนแห่งแรกของบริษัทเปิดดำเนินการ ส่วนผลิตภัณฑ์ซิกเนเจอร์ของ Hachi-Ban คือราเมนที่มีผักผัดราดอยู่บนหน้า ซึ่งเมนูบะหมี่ราเมนนี้ ถือเป็นอาหารที่นิยมในภูมิภาคโฮคุริคุของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ Hachi-Ban นั่นเอง
ฮะจิบัง เกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจซักเท่าไหร่ เมื่อบริษัทสิ่งทอของไทยเดินทางไปทำธุรกิจที่ภูมิภาค โฮคุริคุ และได้ไปลองชิม Hachiban ramen เขารู้สึกประทับใจมากจนผู้ประกอบการรายนี้ได้เซ็นสัญญาแฟรนไชส์กับ Hachi-Ban และเปิดร้าน Hachiban ในต่างประเทศแห่งแรกในกรุงเทพฯ ในปี 1992 หรือ พ.ศ. 2535 หรือ 31 ปีที่ผ่านมา
ฮะจิบังผลิตราเมนจากวัตถุดิบในท้องถิ่นของไทย ครัวกลางในไทยถูกตั้งขึ้นใน พ.ศ.2549 ซึ่งนี่เป็นกุญแจสำคัญในการรักษารสชาติ ตัวอย่างเช่น แม้ว่าน้ำซุปของฮะจิบังราเมงที่เสิร์ฟในญี่ปุ่นจะทำจากส่วนผสมของหมูและไก่ แต่ในประเทศไทยน้ำซุปนั้นทำจากเนื้อหมู ในขณะที่ของเวียดนามทำจากไก่ และรู้หรือไม่ว่า ราเมนฮะจิบังที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย คือราเมนต้มยำกุ้ง ในราคา 118 บาท (480 เยน) ซึ่งราคาราเมนที่จับต้องได้ทำให้ ฮะจิบัง ถูกใจผู้บริโภคชาวไทย จนปี 2562 ยังได้จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในปี 2562 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อีกด้วย
หลังจากที่บริษัทเตรียมดำเนินการครัวกลางแห่งที่ 2 เพิ่ม พื้นที่ราว 5,000 ตร.ม จะทำให้ ฮะจิบัง สามารถขยายสาขาร้านราเมนไปในพื้นที่เมืองรองของไทย ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนร้านค้าทั่วประเทศประมาณ 10 แห่งต่อปี รวมถึงการผลิตเมนู อย่าง เกี้ยวซ่า บะหมี่ และเดินหน้าพัฒนาระบบอัตโนมัติ นำเสนออุปกรณ์แปรรูปอาหารล้ำสมัยเพิ่มจากเดิม
หลังจากเปิดสาขาแรกเมื่อปี 2562 และ เดือนเมษายนปีนี้อีก 1 แห่ง ฮะจิบังมีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่งในเวียดนามภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าหมายระยะสั้นในตลาดเวียดนามจะมีสาขา ฮะจิบังทั้งสิ้น 50 แห่งอีกด้วย
ทิ้งท้ายนี้คนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นบางครั้งอาจแปลกใจที่เห็นร้านฮะจิบังหากพวกเขาไปโฮคุริคุ ที่นั่นคือ บ้านเกิดของฮะจิบังนะ…ไม่ใช่ประเทศไทย