สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แล้วหลังรัฐบาลจีนออกมาประกาศห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ราชการใช้ iPhone ในการทำงาน ทำหุ้นดิ่งกว่า 6% มูลค่าตลาดหายเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 7.1 ล้านล้านบาทใน 2 วัน เหตุนักลงทุนกลัวการแบนอาจลามไปถึงผู้บริโภคทั่วไปในจีนที่คิดเป็นถึง 18% ของรายได้ทั้งหมด
จากการรายงานของ The Wall Street Journal รัฐบาลจีนออกมาประกาศห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐต่างๆ นำ iPhone เข้าออฟฟิศหรือใช้ทำงานในวันพุธที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ทำหุ้น Apple ดิ่งลง 4% ในวันเดียวกัน ก่อนลดเพิ่มลงอีก 3% ในวันต่อมา
โดยถึงแม้รัฐบาลจะยังไม่ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลจะห้ามเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานใดใช้ iPhone หรือห้ามยังไงบ้าง ข่าวนี้ก็สร้างความตกใจไปทั่วกลุ่มนักลงทุนของ Apple แล้ว ด้วย 3 สาเหตุด้วยกัน คือ
ดังนั้น ถ้าสุดท้ายจีนออกมาแบนไม่ให้ข้าราชการใช้ iPhone อย่างเด็ดขาดจริง Apple ก็จะเสี่ยงขาดรายได้จากลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่กำลังเติบโต ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลอย่างมากต่อแผนการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของ Apple ในอนาคต
โดยจากการวิเคราะห์ของ Toni Sacconagh นักวิเคราะห์จาก Bernstein มาตรการนี้จะทำให้ยอดขาย iPhone ในจีนลดลงถึง 5% และก็อาจจะลามไปถึงประชาชนจีนทั่วไปในอนาคตด้วย เพราะเมื่อตัวเจ้าหน้าที่คนนี้ไม่ใช้ iPhone แล้ว ญาติพี่น้องของเขาก็อาจจะไม่ใช้ iPhone ตามไปด้วย
จากการวิเคราะห์ของสื่อและนักวิชาการ การออกมาแบน iPhone ในครั้งนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวตอบโต้ของของจีนในสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ที่ทั้งสองประเทศต่างออกนโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้ามาขัดขากันอยู่ตลอด โดยเฉพาะกับการพัฒนาและผลิตชิปเซ็ต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างซอฟต์แวร์ และฝึกฝนการเรียนรู้ให้กับเทคโนโลยีระดับสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์
บริษัทจีนเริ่มได้ผลกระทบจากมาตรการกีดกันของสหรัฐมาตั้งแต่ปี 2019 หลังกระทรวงการพาณิชย์ของสหรัฐ จัด Huawei บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่ของจีนเข้าแบล็คลิสต์ ทำให้บริษัทพัฒนาชิปต่างๆ ของสหรัฐฯ เช่น Google และ Qualcomm ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐก่อนส่งออกสินค้าให้กับ Huawei ซึ่งทำให้ Huawei ที่เคยเป็นดาวรุ่งด้านสมาร์ทโฟนในตอนนั้นสะดุดไป เพราะไม่สามารถใช้ชิปที่พัฒนาโดยบริษัทสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป
ต่อมาในปี 2020 บริษัทจีนอีกรายที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จัดเข้าลิสต์นี้ก็คือ SMIC หรือ Semiconductor Manufacturing International Corporation บริษัทผลิตชิปของจีน โดยทางสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าเพราะรัฐบาลกังวลว่า SMIC จะใช้เทคโนโลยีชิประดับสูงไปให้รัฐบาลจีนพัฒนาอาวุธ ถึงแม้ทาง SMIC จะออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าทางบริษัทไม่มีความสัมพันธ์อะไรกับกองทัพจีน
และในปี 2022 มาตรการนี้ก็ถูกขยายไปรวมถึงบริษัทอื่นๆ ของจีนด้วย เมื่อในวันที่ 7 ตุลาคม รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาห้ามบริษัทชิปสหรัฐ รวมไปถึงบริษัทต่างชาติที่ทำงานร่วมกับบริษัทชิปสหรัฐ เช่น ASML จากเนเธอร์แลนด์ ส่งออกชิประดับสูงทุกชนิดไปยังลูกค้าที่เป็นบริษัทจีน ซึ่งชิประดับสูงที่ว่านี้หมายถึงชิปที่สามารถประมวลผลได้อย่างน้อย 300 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที หรือ 300 TeraOps ซึ่งชิปในระดับนี้ส่วนมากจะเป็นชิปที่ต้องใช้ในศูนย์ข้อมูล หรือใช้ในการเทรนปัญญาประดิษฐ์
ดังนั้น มาตรการการห้ามส่งออกชิปสมรรถภาพสูงไปจีนนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการจงใจตัดตอนความสามารถในการผลิตชิปของจีนแบบเด็ดขาด เพราะในตอนนั้นบริษัทชิปจีนยังไม่มีองค์ความรู้พอที่จะสร้างชิประดับสูงสำหรับใช้ภายในประเทศได้ และทำได้แค่หยุดการส่งออกวัตถุดิบในการทำชิปให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรม
จีนมุ่งดันสมาร์ทโฟนในประเทศโต หลังผลิตชิประดับสูงได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มาตรการนี้จะทำให้วงการเทคโนโลยีจีนตกอยู่ในที่นั่งลำบากมาหลายปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อ Huawei ออกมาเปิดตัวโทรศัพท์รุ่น Mate 60 Pro ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่ววงการเทคสหรัฐฯ เพราะโทรศัพท์ที่ว่านี้ใช้ชิป 5G Kirin 9000s ซึ่งเป็นชิปความเร็วสูงขนาด 7 นาโนเมตร ที่พัฒนาและผลิตโดย SMIC ทำให้ทั้งผู้ออกกฎหมาย และคนในวงการเทคฯ ของสหรัฐฯ ออกมาตั้งข้อสงสัยว่ามาตรการที่มีอยู่นี้ใช้ได้ผลจริงหรือเปล่า ในเมื่อจีนยังสามารถผลิตชิปประสิทธิภาพสูงแบบนี้ได้ด้วยตัวเอง
ดังนั้น ถึงแม้ชิปตัวนี้จะยังไม่ได้ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงล้ำกว่าชาวบ้าน เพราะในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตชิปขนาด 3 นาโนเมตรซึ่งใช้ใน iPhone 15 ที่กำลังจะเปิดตัว ชิปตัวนี้ก็ถือว่ายังเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับจีน และถือว่าดีพอแล้วในการกลับเข้ามาแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟน
และยิ่งถ้ามีนโยบายของรัฐบาลเข้ามาช่วย Huawei อาจจะกลายเป็นเจ้าสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของจีน และมีเงินทุนในการปั้นชิปสมรรถภาพสูงขึ้นมาแข่งกับบริษัทตะวันตกอีกในอนาคต
ดังนั้น การออกมาประกาศแบน iPhone ในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวและประกาศศึกด้านการพัฒนาเทคโนโลยีครั้งสำคัญของจีน และทำให้การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจสองประเทศนี้มีความเข้มข้นขึ้นอีก ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการภายในสองประเทศแล้ว ยังอาจจะส่งผลและอาจจะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีในประเทศข้างเคียงซึ่งรวมไปถึง ประเทศไทย ที่กำลังเร่งตั้งไข่ เพื่อที่จะก้าวขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกในอนาคตด้วย
ที่มา: CNN, CNBC, BBC, IEEE Spectrum