ธุรกิจการตลาด

เปิดที่มาความปลอดภัย Japan Airlines กฎเหล็กที่เขียนจากโศกนาฎกรรม 520 ศพ

4 ม.ค. 67
เปิดที่มาความปลอดภัย Japan Airlines กฎเหล็กที่เขียนจากโศกนาฎกรรม 520 ศพ

เปิดปี 2024 มาเพียงไม่กี่วัน โลกก็ต้องเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือเหตุเครื่องบิน Airbus Air 350 เที่ยวบิน 516 ของ เจแปน แอร์ไลน์ (Japan Airlines: JAL) ชนกับเครื่องบินเล็กของหน่วยยามชายฝั่งญี่ปุ่นขณะลงจอด ทำให้เกิดเพลิงไหม้ซึ่งจะลุกลามไปทั่วตัวเครื่องในเวลาถัดมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นอุบัติเหตุใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับตัวเครื่อง เหตุการณ์นี้กลับมีผู้เสียชีวิตเพียง 5 คน คือคนจากเครื่องบินเล็กเท่านั้น ขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 379 คนรอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ทั้งหมด เพราะสามารถอพยพออกจากตัวเครื่องได้ทั้งหมดในเวลาเพียง 18 นาทีหลังเครื่องลงจอด และเพียงไม่กี่นาทีก่อนเครื่องจะเกิดระเบิดจนไฟลุกท่วม

ความสำเร็จนี้ ทำให้สายการบินเจแปนแอร์ไลน์และลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้นได้รับเสียงชื่นชม และมีผู้พยายามหาคำตอบว่าลูกเรือเจแปนแอร์ไลน์ทำอย่างไรจึงสามารถนำผู้โดยสารทั้งหมดลงจากเครื่องได้ทันเวลาโดยไม่มีใครเสียชีวิต  

โดยจากคำบอกเล่าของผู้โดยสารและลูกเรือในวันนั้น ลูกเรือสามารถติดต่อสื่อสารกันเพื่อเปิดประตูและปล่อยทางลงจากเครื่องได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาทีหลังเครื่องลงจอด โดยใช้โทรโข่งและการตะโกน เพราะระบบประกาศเสียงภายในเกิดขัดข้อง และสามารถบอกให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องได้อย่างเป็นระเบียบ โดยไม่มีใครพยายามเอาสัมภาระของตัวเองลงจากเครื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การอพยพเป็นไปอย่างทันท่วงที

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนไปดูมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจแปนแอร์ไลน์ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสายการบินที่ปลอดภัยที่สุดในโลก รวมไปถึงย้อนดูเหตุโศกนาฎกรรมเครื่องบินตกในปี 1985 ที่ทำให้เจแปนแอร์ไลน์ปฏิวัติวิธีรักษาความปลอดภัย จนไม่มีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นอีกเลยนับจากนั้น

ซ้อมหนักก่อนขึ้นเครื่อง ต้องเป๊ะยันน้ำเสียง

ก่อนหน้าจะมีกรณีดังกล่าว เจแปนแอร์ไลน์เป็นสายการบินที่ขึ้นชื่อมานานเรื่องการรักษาความปลอดภัย และการรักษาระเบียบด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

โดยจากคำบอกเล่าของอดีตลูกเรือเจแปนแอร์ไลน์ นักบินและลูกเรือใหม่ทุกคนต้องเข้าฝึกการอพยพผู้โดยสาร และรักษาความปลอดภัยบนเครื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนเข้าทำงานในเครื่อง โดยจะมีทั้งการสอบข้อเขียน และการฝึกซ้อมรับมือกับความวุ่นวายในสถานการณ์จำลองต่างๆ เช่น กรณีที่เครื่องลงบนน้ำ หรือกรณีที่มีเหตุไฟไหม้บนตัวเครื่อง

การฝึกซ้อมนี้รวมไปถึงการฝึกการสื่อสาร การใช้คำพูด และการใช้น้ำเสียงเมื่อต้องคุยกับผู้โดยสารในเวลาคับขันเพื่อให้ผู้โดยสารเข้าใจ และสงบมากที่สุด เพราะหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ และปล่อยให้ผู้โดยสารตื่นตระหนกแล้ว ขั้นตอนในการอพยพและแก้ปัญหาของลูกเรือที่ต้องใช้ระบบระเบียบก็จะถูกรบกวน ไม่ทันท่วงที และไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และมีผู้เสียชีวิตได้

มาตรการในการรักษาความปลอดภัยของจึงไม่ได้เน้นที่ขั้นตอนด้านเทคนิคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการควบคุมสถานการณ์ และการควบคุมฝูงชนเพื่อระงับความตื่นตระหนก (panic control) ให้การรักษาความปลอดภัยบนตัวเครื่องมีประสิทธิภาพสูงสุด

cabin-web2

 

ไฟลท์ 123 เที่ยวบินที่ทำให้เจแปนแอร์ไลน์ยกระดับความปลอดภัย

ทั้งนี้ ก่อนจะกลายมาเป็นสายการบินที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยอย่างในปัจจุบัน ในปี 1985 เจแปนแอร์ไลน์ได้เจอเหตุการณ์หนึ่งที่เข้ามายกระดับความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยของสายการบิน นั่นก็คือเหตุการณ์เที่ยวบิน 123 ตกในภูเขาทาคามากาฮาระ ในวันที่ 12 สิงหาคมปี 1985 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 520 คน จากลูกเรือและผู้โดยสาร 524 คน และทำให้เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์เครื่องบินตกที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก

จากการสืบสวน เหตุการณ์นี้เกิดจากความผิดพลาดของโบอิ้ง (Boeing) ในการซ่อมแซมเครื่องบินรุ่น Boeing 747 ที่แจแปนแอร์ไลน์ส่งซ่อมหลังเกิดอุบัติเหตุในระหว่างลงจอดในปี 1978 หรือ 7 ปีก่อนการเกิดเหตุ โดยลงจอดด้วยมุมที่เงยเกินไป ทำให้ท้ายเครื่องที่มีแผงกั้นปรับความดันอากาศส่วนท้าย (Rear Pressure Bulkhead) อยู่เกิดความเสียหาย

โดยจากรายงานของ คณะกรรมการสอบสวนกรณีอันเกี่ยวกับอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร ของญี่ปุ่น ช่างของโบอิ้งได้ใช้แผ่นโลหะสองแผ่นที่เชื่อมกันในการซ่อมแซมความเสียหาย ทั้งที่ความจริงควรจะใช้โลหะเพียงแผ่นเดียวเพื่อความแข็งแรงทนทาน

5db68178d237797ce5281ec4_800x 

นี่ทำให้เมื่อใช้งานไป โลหะสองแผ่นที่เชื่อมกันอยู่ก็เจอแรงดันจนเสียหายไปเรื่อยๆ จนในที่สุดในวันที่ 12 สิงหาคมปี 1985 ส่วนท้ายของเครื่องบินก็รับความดันในเครื่องไม่ได้อีกต่อไป จนเมื่อนักบินนำเครื่องขึ้นไปถึงระดับ 24,000 ฟุต หางของเครื่องบินระเบิดหายไป ทำให้ระบบไฮดรอลิคทั้ง 4 ระบบถูกตัดขาด ซึ่งส่งผลให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ตามไปด้วย

ทั้งนี้ แม้ผลการตรวจสอบจะชี้ว่านี่ไม่ใช่ความผิดพลาดของเจแปนแอร์ไลน์ สายการบินก็ได้รับแรงกดดันจากประชาชน และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ตรวจสอบสภาพเครื่องบินให้ดีเสียก่อน ทำให้ผู้จัดการด้านการซ่อมบำรุงและวิศวกรที่ตรวจสอบเครื่องบินก่อนขึ้นบินตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อชดใช้ และนำไปสู่การปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งในด้านการตรวจซ่อม และการทำงานของลูกเรือ

นับตั้งแต่นั้นมา เที่ยวบินของเจแปนแอร์ไลน์ไม่เคยเจออุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตอีกเลย และในปี 2005 เจแปนแอร์ไลน์ยังได้ตั้งนิทรรศการภายในสำนักงานใหญ่ของบริษัท และนำซากเครื่องบิน ภาพเหตุการณ์ รวมไปถึงเรื่องราวของผู้เสียชีวิตมาโชว์เพื่อย้ำเตือนกับพนักงานรุ่นใหม่ว่าพวกเขาจะผิดพลาดไม่ได้เป็นอันขาด

ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เจแปนแอร์ไลน์ยกระดับการรักษาความปลอดภัย และสร้างระบบที่รอบคอบรัดกุมที่สุดเพื่อป้องกันและแก้ไขเหตุร้าย แม้ต้นเหตุจะไม่ได้มาจากความผิดพลาดของสายการบินก็ตาม

ความปลอดภัยที่เกิดจากโศกนาฎกรรม

นอกจากเหตุการณ์ของเจแปนแอร์ไลน์แล้ว ระบบรักษาความปลอดภัยบนเครื่องบินในยุคใหม่ล้วนแล้วแต่เกิดจากการเรียนรู้และอุทาหรณ์จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาก่อนทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์เที่ยวบิน 163 ของสายการบิน Saudia ที่ผู้โดยสาร 301 คนเสียชีวิตทั้งหมดจากการสูดควันไฟ เพราะนักบินไม่สามารถประกาศอพยพได้ทันเวลา เนื่องจากในเวลานั้น ลูกเรือยังไม่มีสิทธิในการตัดสินใจให้เริ่มอพยพได้หากยังไม่ได้รับคำสั่งอย่างชัดเจนจากนักบิน ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมามีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานในเครื่องบิน ซึ่งเปิดให้ลูกเรือสามารถเริ่มอพยพผู้โดยสารได้ทันทีหากเห็นว่ามีความจำเป็น

หรือเหตุการณ์ เที่ยวบิน 328 ของสายการบิน British Airtours ที่เกิดเพลิงไหม้ขึ้นขณะนักบินกำลังนำเครื่องขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมปี 1985 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 55 คนจากการสูดควันไฟ แม้เครื่องจะยังไม่ได้ขึ้นบิน ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะตัวเครื่องถูกออกแบบมาไม่ดี ทั้งตัวถังน้ำมันที่เสี่ยงต่อการถูกกระทบกระแทกมากเกินไป ตัวเครื่องบินที่ไม่ทนไฟ วัสดุตกแต่งภายในที่ปล่อยสารพิษเมื่อถูกเผาไหม้ และผังที่นั่งภายในที่ไม่เอื้อกับการอพยพ

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการออกแบบภายในตัวเครื่องใหม่ที่เอื้อให้กับการอพยพ ไม่ว่าจะเป็นการเว้นที่ว่างบริเวณทางออก ไฟนำทางผู้โดยสารบนพื้น การให้ผู้โดยสารที่แข็งแรงนั่งใกล้ทางออกเพื่อให้ช่วยเปิดประตูในกรณีมีเหตุฉุกเฉินได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนวัสดุตกแต่งห้องเครื่องให้มีความเป็นพิษน้อยลงหากถูกเผาไหม้

istock-1209626570

จากตัวอย่างเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่ให้สำคัญจากการเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นอย่างมาก เพราะแม้อุบัติเหตุทางอากาศจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักหากเทียบกับอุบัติเหตุทางบก เหตุการณ์แต่ละครั้งก็นำมาซึ่งความสูญเสียมหาศาลที่ไม่สามารถปล่อยให้เกิดซ้ำได้

ดังนั้น อุบัติเหตุทางอากาศแต่ละครั้งจึงมักถูกตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียดทุกแง่มุมเพื่อนำบทสรุปที่ได้นั้นมาปรับปรุงมาตรฐานการบินในอนาคต เช่นเดียวกับอุบัติเหตุของเจแปนแอร์ไลน์ในครั้งนี้ที่มีการสอบสวนกันอยู่ ซึ่งสุดท้ายไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร ความสำเร็จของเจแปนแอร์ไลน์ก็ชี้ชัดแล้วว่าทุกกฎระเบียบบนเครื่องบินนั้นมีเหตุผล และผู้โดยสารทุกคนควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยสูงสุด



อ้างอิง: CNN, BBC, Reuters

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT