ท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย (Noi Bai International Airport) คว้าตำแหน่งสนามบินที่ดีที่สุดในเอเชียของนักเดินทางเพื่อทำธุรกิจ (business travellers) จากการจัดอันดับของ Business Financing บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินจากอังกฤษ ขณะที่ 2 สนามบินไทยติดอันดับยอดแย่ อันดับ 7 และ อันดับ 10
สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางทำธุรกิจบ่อยๆ สถานที่หนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอยู่เป็นประจำก็คือ ‘สนามบิน’ ซึ่งเป็นประตูสู่ประเทศปลายทางที่ต้องไปทำธุระ รวมไปถึงเป็นที่พักรอไฟลท์บินก่อนกลับบ้าน ทำให้ผู้เดินทางเพื่อทำธุรกิจถือว่าเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์กับสนามบินมากที่สุด
ดังนั้น Business Financing จึงได้รวบรวมรีวิวและคะแนนประเมินสนามบินจากผู้ใช้ของเว็บไซต์ AirlineQuality หรือ Skytrax ที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจทั้งหมดมาใช้เพื่อเฟ้นหาว่า สนามบินใดคือสนามบินที่ดีที่สุดในโลก และในทวีปต่างๆ สำหรับนักเดินทางเพื่อทำธุรกิจ
โดยจากเว็บไซต์ AirlineQuality ผู้ใช้จะสามารถให้คะแนนสนามบินได้ตั้งแต่ 1-10 และสามารถประเมินสนามบินได้จาก 8 ปัจจัย คือ
จากการประเมิน พบว่า มีเพียง 12 สนามบินในโลกนี้เท่านั้นที่ได้รับคะแนนรีวิวเกิน 5 คะแนนเต็ม 10 คะแนน และใน 20 อันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลก มีถึง 14 สนามบินเป็นสนามบินจากเอเชีย
จากการจัดอันดับ สนามบินที่ได้คะแนนรีวิวจากผู้เดินทางเพื่อทำธุรกิจสูงที่สุดในโลกและเอเชีย คือ ท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย (Noi Bai International Airport) ในเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ด้วยคะแนนเฉลี่ย 6.8 คะแนน
ท่าอากาศยานโหน่ยบ่ายเป็นสนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเวียดนามรองจากท่าอากาศยานเตินเซินเญิ้ต (Tan Son Nhat International Airport) ในกรุงโฮจิมินห์ และถูกเปิดใช้งานเป็นครั้งแรกในปี 1978 หรือเมื่อ 46 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นสนามบินหลักของสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ (Vietnam Airlines) และเป็นฐานดำเนินงานของสายกาารบินแฟซิฟิกแอร์ไลน์ (Pacific Airlines) และ เวียดเจ็ตแอร์ (VietJet Air)
ในด้านขนาด ท่าอากาศยานโหน่ยบ่ายถือว่าเป็นท่าอากาศยานขนาดเล็ก โดยประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร แบ่งเป็นอาคาร 1 สำหรับผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ และ อาคาร 2 สำหรับผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งถูกเปิดใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015
ทั้งนี้ แม้ในด้านรูปลักษณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกจะไม่สามารถสู้สนามบินดังอย่างท่าอากาศยานชางงี (Changi International Airport) ของประเทศสิงคโปร์ได้ สนามบินโหน่ยบ่ายได้คะแนนรีวิวที่ดีในแง่ความเร็ว การบริหารจัดการระบบภายในที่ดี ความสะอาดเรียบร้อยของอาคารผู้โดยสาร และการให้บริการของพนักงานในสนามบินที่ยินดีให้ความช่วยเหลือกับผู้โดยสาร
นี่ทำให้แม้ท่าอากาศยานโหน่ยบ่ายอาจไม่ใช่สนามบินที่น่าประทับใจที่สุดสำหรับผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารท่องเที่ยว แต่สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจ ท่าอากาศยานโหน่ยบ่ายกลับเป็นที่ชื่นชม เพราะความสะดวกและความรวดเร็วคือสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับคนทำงานที่เวลาเป็นเงินเป็นทอง
ทั้งนี้ นอกจากท่าอากาศยานโหน่ยบ่ายแล้ว สนามบินอื่นๆ ในเอเชียที่ได้รับคะแนนรีวิวสูงจากนักเดินทางยังรวมถึง ท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์ ที่โดดเด่นด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและความสวยงาม และ 2 สนามบินของญี่ปุ่น คือ ท่าอากาศยานนาริตะ และฮาเนดะ ที่โดดเด่นเรื่องความสะอาด และการจัดการที่เป็นระบบระเบียบ
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ สนามบินของเรากลับไม่ได้เป็นที่น่าพิศมัยสำหรับนักเดินทางนัก เพราะทั้ง 2 สนามบินของเราคือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง นั้น ติดอันดับสนามบินยอดแย่ทั้งคู่ โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดอันดับสนามบินที่แย่ที่สุดอันดับที่ 7 และดอนเมืองอันดับที่ 10
จากการรีวิวในเว็บไซต์ AirlineQuality ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับเสียงติติงที่สุดในด้านความล่าช้า ทั้งในการการเช็กอิน ตรวจกระเป๋า และตรวจคนเข้าเมือง และมีการบริหารจัดการที่ไม่ดี เพราะมีพนักงานน้อย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีการวางผังที่ไม่ดี มีทางเดินที่ยาววกวนเกินควร สภาพที่นั่งหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ห้องน้ำ ก็เก่าและไม่สะอาด
ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง ก็ได้รับเสียงติติงในด้านความล่าช้าเช่นกัน โดยเฉพาะในขั้นตอนการตรวจกระเป๋าและตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่มีเคาน์เตอร์เปิดเป็นจำนวนน้อย ทั้งที่มีผู้โดยสารเข้ามามาก อีกทั้งยังได้รับคำวิจารณ์ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีน้อยและไม่เพียงพอ จากขนาดของสนามบินที่เล็ก และผู้ใช้บริการที่มาก ทำให้สนามบินดูแออัดเกินไป
ดังนั้น ด้วยการบริหารจัดการระบบการทำงานที่ไม่ดี และล่าช้า สนามบินของไทยจึงกลายเป็นสนามบินที่เป็นเหมือนฝันร้ายของนักเดินทางไป โดยเฉพาะนักเดินทางเพื่อธุรกิจที่ต้องอาศัยความรวดเร็วในการทำงานของพนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ที่นั่งที่เพียงพอ และอินเทอร์เน็ต ในการทำงานมากที่สุด
อ้างอิง: Skytrax, Business Financing