การศึกษาชี้ อาหารสำหรับเด็กเล็กที่จำหน่ายในประเทศเอเชียและแอฟริกามีน้ำตาลเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ขณะที่สินค้าเดียวกันในยุโรปไม่มีน้ำตาล พบในไทยมีปริมาณน้ำตาลสูงสุดที่ 6 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เหตุกฎหมายไม่เข้มงวด ผู้บริโภคขาดความเข้าใจด้านโภชนาการเด็ก
การวิจัยจัดทำขึ้นโดย Public Eye องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากสวิตเซอร์แลนด์ และ International Baby Food Action Network (IBFAN) ที่ได้นำอาหารเด็ก 150 แบรนด์ ทั้งนมผง และอาหารธัญพืชผสมนม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี จากหลายๆ พื้นที่ในโลก ทั้งประเทศรายได้ปานกลางอย่างประเทศในเอเชีย และแอฟริกา มาเทียบปริมาณส่วนผสมและสารอาหารกับอาหารเด็กแบรนด์เดียวกันที่ขายในประเทศรายได้สูง เช่น ประเทศในยุโรป
จากการศึกษา พบว่า อาหารเด็กที่ขายในประเทศเอเชียและแอฟริกานั้นมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าอาหารเด็กแบรนด์เดียวกันที่ขายในยุโรป โดยอาหารเด็กเล็กในประเทศเอเชียและแอฟริกานั้นมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 4 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ขณะที่อาหารเด็กในยุโรปนั้นไม่มีการใส่น้ำตาลเพิ่มเลย
ผู้วิจัยชี้ว่าการกระทำนี้สะท้อนความสองมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตอาหารเด็กที่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในประเทศยากจน และการที่ประชาชนในพื้นที่รายได้ต่ำไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโภชนาการเด็ก เพื่อใส่น้ำตาลลงไปในอาหารเด็กเพื่อให้เด็กติดใจรสชาติสินค้าของตัวเอง
ปริมาณน้ำตาลที่สูงทำให้เด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพราะจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีไม่ควรบริโภคน้ำตาลที่ไม่ได้มาจากผลไม้ เพราะการกินอาหารที่มีน้ำตาลสูงจะทำให้เด็กติดหวาน และมีสิทธิสูงที่จะมีปัญหาโรคอ้วน และปัญหาโรคหัวใจในอนาคต
ฟิลิปปินส์น้ำตาลมากที่สุด ไทยเฉลี่ย 3.2 กรัม
จากรายงานของ Public Eye ประเทศที่ทีมวิจัยพบปริมาณน้ำตาลในอาหารเด็กเล็กสูงที่สุดในโลก คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งพบน้ำตาลเฉลี่ยที่ 7.3 กรัมต่อหนึ่งหน่วยการบริโภค รองลงมาเป็นไนจีเรียที่พบน้ำตาลเฉลี่ย 6.8 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และเซเนกัลที่พบน้ำตาลเฉลี่ย 5.9 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
ด้านประเทศไทย พบว่าอาหารเด็กเล็กในประเทศไทยมีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ที่ 3.2 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค โดยอาหารเด็กประเภทที่พบน้ำตาลมากที่สุดในไทยคืออาหารธัญพืชผสมนมสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนแบรนด์หนึ่งที่มีน้ำตาลมากถึง 6 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังระบุอีกว่ามีถึง 7 ใน 15 ประเทศที่ไม่เขียนปริมาณน้ำตาลในอาหารเด็กไว้บนฉลาก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย เซเนกัล เวียดนาม เอธิโอเปีย บราซิล และปากีสถาน ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้บริโภคที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าอาหารที่ซื้อให้เด็กรับประทานนั้นมีปริมาณน้ำตาลมากเท่าใด
ยุโรปกฎหมายมีช่องโหว่ แต่ประชาชนใส่ใจโภชนาการ
จากการศึกษาเดียวกัน ผู้วิจัยพบว่าอาหารธัญพืชผสมนมสำหรับเด็กในประเทศยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี นั้นไม่มีการเพิ่มน้ำตาลลงไปในอาหารเด็กเลย แต่ไม่ได้เป็นเพราะมีกฎหมายคอยควบคุมอย่างแน่นหนา แต่เป็นเพราะผู้บริโภคในตลาดนี้ใส่ใจและจะไม่ซื้ออาหารเด็กที่มีการเพิ่มน้ำตาล
ปัจจุบัน กฎหมายด้านอาหารและโภชนาการของยุโรปเป็นไปตามมาตรฐาน Codex Alimentarius ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่และตัวแทนจากหลายรัฐบาลในยุโรป ซึ่งอนุญาตให้มีการใส่น้ำตาลในอาหารเด็กได้
ดังนั้น การที่บริษัทผลิตอาหารเด็กเหล่านี้ตัดสินใจไม่ใส่น้ำตาลในอาหารเด็กในประเทศเหล่านี้เป็นเพราะว่าบริษัทรู้ว่าผู้บริโภคที่ยุโรปจะม่เลือกซื้อสินค้าของบริษัทถ้าพวกเขาเห็นว่ามีการเพิ่มน้ำตาลในอาหารเด็ก
ผลการศึกษานี้จึงสะท้อนการเลือกปฏิบัติและความสองมาตรฐานของบริษัทผลิตอาหารเด็กที่มีต่อผู้บริโภคในแต่ละประเทศอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับเด็กในแต่ละพื้นที่ เพราะเด็กเล็กในประเทศยากจนหรือรายได้ปานกลางก็ควรจะมีสิทธิเข้าถึงอาหารเด็กคุณภาพสูงที่ไม่มีการใส่น้ำตาลเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน บริษัทที่กินส่วนแบ่งนมผงและอาหารเด็กมากที่สุดในโลกคือ “เนสท์เล่” (Nestle) ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดถึง 20% มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารซีเรียลผสมนมสำหรับเด็กเล็กชื่อดังอย่าง “ซีรีแล็ค” (Cerelac)
ที่มา: Time, Public Eye