ธุรกิจการตลาด

BYD ทุ่ม 3.6 หมื่นล้านบาทตั้งโรงงานใน ‘ตุรกี’ เปิดฐานการผลิตในยุโรปหนีกำแพงภาษี

9 ก.ค. 67
BYD ทุ่ม 3.6 หมื่นล้านบาทตั้งโรงงานใน ‘ตุรกี’ เปิดฐานการผลิตในยุโรปหนีกำแพงภาษี

บีวายดี (BYD) ทุ่มเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในตุรกี สร้างงาน 5,000 ตำแหน่ง กำลังผลิต 150,000 คัน/ปี พร้อมศูนย์วิจัยและพัฒนา มุ่งขยายการผลิตในยุโรปเพื่อลดผลกระทบจากกำแพงภาษีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า ในวันจันทร์ ที่ 8 กรกฏาคม ที่ผ่านมา Wang Chuanfu ประธานของ BYD และ Mehmet Fatih Kacir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของตุรกีได้ลงนามในสัญญาการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.6 หมื่นล้านบาท ในตุรกี

บีวายดี เผยว่า โรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จพร้อมเริ่มการผลิตได้ในภายในปลายปี 2026 และจะสร้างงานในพื้นที่ถึงประมาณ 5,000 ตำแหน่ง โดยจะตั้งอยู่ในจังหวัด Manisa ซึ่งอยู่ห่างจาก Izmir หนึ่งในท่าเรือขนส่งหลักของตุรกีเป็นระยะทางเพียง 40 กิโลเมตร 

จากข้อมูลของบีวายดี ระบุว่า โรงงานที่ตุรกีจะเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์แห่งที่ 2 ของ BYD ในยุโรป หลังจาก BYD ได้ลงทุนสร้างฐานการผลิตไปแล้วหนึ่งแห่งในประเทศฮังการี และเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ต่างชาติแห่งแรกในประเทศตุรกี

ทั้งนี้ นอกจากการสร้างฐานการผลิตแล้ว บีวายดียังได้มีแผนสร้างศูนย์การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รถยนต์ภายในประเทศตุรกี เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิตและสมรรถภาพของรถยนต์ที่ผลิตภายในยุโรปอีกด้วย

 

BYD ตั้งโรงงานยุโรปหลีกกำแพงภาษี มุ่งตีตลาดตะวันตกต่อ

ในการแถลงข่าวการลงนามในสัญญาการลงทุนดังกล่าว บีวายดีเผยเหตุผลที่เลือกลงทุนสร้างโรงงานในตุรกีว่า บีวายดีมองเห็นศักยภาพของตุรกีในฐานะศูนย์กลางการผลิตและขนส่งรถยนต์ เพราะเป็นทางเชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรป มีระบบเทคโนโลยีที่เหมาะกับการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า และมีซัพพลายเชนที่แข็งแรง มีแรงงานที่มีทักษะ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า อีกปัจจัยที่ทำให้บีวายดีเลือกที่จะตั้งฐานการผลิตแห่งที่ 2 ในยุโรปที่ตุรกี คือ บีวายดีต้องการที่จะลดผลกระทบจากกำแพงภาษีทั้งจากตุรกีเองและสหภาพยุโรป และต้องการใช้ประโยชน์ของข้อตกลงการค้าที่ตุรกีมีกับประเทศอื่น เพราะปัจจุบันตุรกีมีข้อตกลงการค้าเสรีกับคู่ค้าถึง 20 ประเทศ รวมถึง เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศเพื่อนบ้านอย่างอียิปต์ และจอร์เจีย

นอกจากมาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ในช่วงปี 2023 ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการกีดกันการค้าของตุรกี เพราะตุรกีเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของยุโรป โดยเป็นฐานการผลิตของรถยนต์แบรนด์ดังอย่าง Toyota และ Ford ผลิตรถยนต์ได้ถึง 1.4 ล้านคันต่อปี และส่งออกรถยนต์เป็นมูลค่าถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

ด้วยขนาดอุตสาหกรรมที่ใหญ่ ธุรกิจผลิตรถยนต์จึงมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของตุรกี และทำให้การที่ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านราคาเริ่มเข้าไปตีตลาดรถยนต์ในยุโรป ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายใหญ่ภายในประเทศโดยตรง

ดังนั้น เพื่อปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนมีนาคมปี 2023 รัฐบาลตุรกีจึงได้ตัดสินใจเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเพิ่มอีก 40% ทบไปจากเดิม 10% ทำให้รวมเป็น 50% และเพิ่มข้อกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่ได้ผลิตรถยนต์ในตุรกี หรือประเทศที่ตุรกีมีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ต้องตั้งศูนย์บำรุงและซ่อมอย่างน้อย 20 แห่งภายในประเทศ ซึ่งกระทบผู้ผลิตรถยนต์จีนและญี่ปุ่นโดยตรง

มาตรการกีดกันทางการค้านี้ ส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ผลิตอีวีจากจีนอย่างมาก และทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนพยายามส่งรถยนต์ประเภทอื่น เช่น รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องยนต์ไฮบริดเข้าไปในตุรกีแทน ซึ่งไม่นานในเดือนมิถุนายนปี 2023 ก็ถูกรัฐบาลตุรกีออกมาโต้ตอบ ด้วยการออกมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ทุกชนิดที่นำเข้าจากจีนอีก 40% เป็นการปิดทางดิ้นของผู้ผลิตรถยนต์จีนในทุกทาง

ดังนั้น หลังจากสหภาพยุโรปออกมาประกาศเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์จากจีน ผู้ผลิตรถยนต์จีนอย่างบีวายดีจึงไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากการตั้งฐานการผลิตในยุโรป หากยังต้องการทำธุรกิจและขายรถยนต์ในยุโรป เพราะจะทำให้บีวายดีสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากกำแพงภาษีได้

โดยนอกจากบีวายดีแล้ว นักวิเคราะห์ยังมองอีกว่า หากผู้ผลิตรถยนต์จีนไม่สามารถเจรจาลดภาษีกับสหภาพยุโรปได้ ผู้ผลิตอื่นๆ เช่น Chery และ Geely ก็อาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังตุรกีเช่นกันเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งก็นับว่าน่าดึงดูด เพราะยอดขายอีวีในตุรกีกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2023 มีอีวีถึง 65,000 คัน ถูกจำหน่ายในตุรกี คิดเป็น 7% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด 

นอกจากการตั้งโรงงานที่ประเทศตุรกีแล้ว บีวายดีก็ยังมีแผนขยายการลงทุน ด้วยการตั้งโรงงานในบราซิล และเม็กซิโก เพื่อขยายการผลิต และเจาะตลาดอเมริกาใต้อีกด้วย

 

ที่มา: Nikkei Asia 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT