Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดเมนูใหม่สายเขียว "ซีเล็คทูน่า" ผสมกัญชง
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เปิดเมนูใหม่สายเขียว "ซีเล็คทูน่า" ผสมกัญชง

23 มี.ค. 65
17:32 น.
|
1.1K
แชร์

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋อ แบรนด์ “ซีเล็คทูน่า” ประกาศแผนพร้อมจับมือกับพาร์ทเนอร์ร่วมกันพัฒนาสินค้า "ทูน่าผสมกัญชง"

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนดำเนินงานปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ พร้อมกับวางงบลงทุนทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ไม่รวมการเข้าซื้อธุรกิจใหม่ ขณะที่เป้าหมายรายได้คาดการณ์โต 5% โดยปีนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้นและธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่าพร้อมนำจุดเเข็ง
นวัตกรรม R&D ต่อยอดสินค้าใหม่ ๆ

โดยเฉพาะส่วนประกอบอาหาร อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและโปรตีนทางเลือก (plant besed) โดยปีนี้จะเห็นความชัดเจนของการพัฒนาสินค้าร่วมกับ Startup สัญชาติอิสราเอล ผู้ผลิตโปรตีนจากการเพาะเลี้ยงแมลง ซึ่งอยู่ระหว่างสร้างโรงงาน จ.เพชรบุรี และ Start up สิงคโปร์ โรงงานทำแป้งลดเบาหวาน จ.สมุทรสาคร รวมทั้ง Start up เยอรมนี เรื่องของเทคโนโลยี เป็นการนำระบบ AI มาใช้ในระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับตลาดที่เติบโตเร็วในธุรกิจเหล่านี้ตามเทรนด์บริโภค พร้อมทั้งอยู่ระหว่างจับมือพันธมิตรเพื่อออกผลิตภัณฑ์แบรนด์ “ซีเล็คทูน่า” ผสมกัญชง ซึ่งต้องรอความชัดเจนของกฎหมายภาครัฐ รวมทั้งมีแผนนำบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับก่อนหน้านี้ ผู้บริหารบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ระบุว่า ได้ศึกษาธุรกิจกัญชง ศึกษาน้ำมันจากกัญชง ซึ่งหากกฎหมายมีความชัดเจน บริษัทพร้อมที่จะทำผลิตภัณฑ์ทูน่าในน้ำมันกัญชง

โดยบริษัทนี้ถือเป็นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงรายแรกในประเทศไทยที่เป็นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นผู้รับจ้างผลิต OEM ซึ่งจะเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งมองว่าอุตสาหกรรมนี้ยังเติบโตต่อเนื่องจากวิถีใหม่ที่คนหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในเอเชียที่ยังมีศักยภาพมากซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ (Growth engine) ในอนาคตอีกด้วย

ส่วนแผนขยายตลาดต่างประเทศ จากการที่บริษัทประสบผลสำเร็จผลิตภัณฑ์แบรนด์ ซีเล็กทูน่าใน สปป.ลาวและกัมพูชา ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ปีนี้ยังมีแผนขยายไปยังเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างยูเครน รัสเซีย ยังไม่มีผลต่อภาพรวมธุรกิจของไทยยูเนี่ยน แม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนในรัสเซีย แต่ก็น้อยและเป็นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบในรัสเซียเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยประชาชนในรัสเซียยังเป็นปกติ แต่ปัจจัยหลักที่ต้องระมัดระวังในการลงทุนคืออัตราเฟ้อ ราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทั่วโลกเหมือนกันหมด ตั้งแต่ก่อนวิกฤติรัสเซีย ยูเครน

ดังนั้น สินค้าของไทยยูเนี่ยนจึงจำเป็นต้องปรับราคาตามเงินเฟ้อ อยู่ที่ 5-7% ตามชนิดแต่ละผลิตภัณฑ์ แต่ขณะเดียวกัน การปรับราคาดังกล่าวจะทำควบคู่ไปกับการลดต้นทุน นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้มากที่สุด ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้บริษัทจึงสามารถบริหารจัดการได้

“ในปี 2565 นี้ แม้ว่าจะยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับทุกคน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การแพร่ระบาด ห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แต่ภาวะรัสเซีย ยูเครน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัท ทั้งนี้ไทยยูเนี่ยนจะยังเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อสร้างผลงานให้ได้ดีเหมือนปีที่ผ่านมา”

สำหรับปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนทำผลงานได้ดีเยี่ยมเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำไรสุทธิเติบโต 28.3 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 8,013 ล้านบาท ยอดขายเพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 141,048 ล้านบาท ส่วนกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 9.9 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 25,727 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยอดขายในไตรมาส 4 ปี 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 38,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากธุรกิจอาหารทะเลแช่งแข็งและแช่เย็นที่ฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา ภายหลังมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการผ่อนคลายและร้านอาหารและโรงแรมเริ่มทยอยเปิดให้บริการ

นอกจากนี้ยอดขายจากหน่วยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจเพิ่มมูลค่ายังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้กำไรสุทธิของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาทะยานขึ้นถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1,930 ล้านบาท แม้จะประสบสภาวะการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกก็ตาม

โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด นอกจากไทยยูเนี่ยนจะบริหารธุรกิจให้ผ่านวิกฤตไปได้แล้ว ทีมผู้บริหารยังมองถึงการพัฒนาธุรกิจให้มีแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าจะต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด แต่ไทยยูเนี่ยนยังมองไปยังอนาคต โดยมีการลงทุนกลยุทธ์ทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตในอนาคต

ไทยยูเนี่ยนยังได้ตั้งบริษัท ไทยยูเนี่ยน ไลฟ์ไซเอนซ์ จำกัด ขึ้นเพื่อเข้ามาดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ส่งตรงถึงผู้บริโภค ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตเร็ว รวมทั้งในปี 2564 บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเป็นบริษัทในเครือยังได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะรองรับการเติบโตและขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในเอเชีย ไทยยูเนี่ยนยังให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยมีการเปลี่ยนชื่อ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทในเครือ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป็น บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อรองรับการพัฒนาและขยายกิจการในธุรกิจสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไทยยูเนี่ยนมีแผนจะนำบริษัท ไอ-เทล จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปีนี้

พร้อมกันนี้ ไทยยูเนี่ยนได้เริ่มก้าวสู่ Blue Finance โดยเป็นบริษัทแรก ๆ ในประเทศไทยที่เดินหน้าการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนและตั้งเป้าหมายการทำงานที่สนับสนุนการอนุรักษ์มหาสมุทร และผลสำเร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของเครื่องมือการเงินชนิดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อหรือหุ้นกู้

 

โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับสินเชื่อและออกหุ้นกู้ที่ส่งเสริมความยั่งยืนรวมทั้งสิ้น 27,000 ล้านบาท โดยไทยยูเนี่ยนได้ตั้งเป้าหมายระยะยาว ให้ 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัทเป็น Blue Finance ภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มจาก 50 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นปี 2564


แชร์
เปิดเมนูใหม่สายเขียว "ซีเล็คทูน่า" ผสมกัญชง