Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดสถิติหุ้น IPO ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2565
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เปิดสถิติหุ้น IPO ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2565

31 ต.ค. 65
12:03 น.
|
3.5K
แชร์

เมื่อพูดถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) หรือตลาดหุ้น คือ ตลาดหรือเป็นตัวกลางสำหรับให้นักลงทุนทั่วไปได้มีโอกาสทำการซื้อและขายหุ้นของบริษัทต่างๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นช่องทางการระดมทุนของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการเงินทุนlสามารถออกขายหุ้น IPO เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต

 

หุ้น IPO คืออะไร?

เปิดสถิติหุ้น IPO ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2565

สำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่บริหารกิจการมาถึงจุดหนึ่ง บริษัทเติบโตมากขึ้นเริ่มจะมองหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายกิจการ นอกจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารแล้ว การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถนำหุ้น IPO ออกมาขายให้นักลงทุนทั่วไปเป็นทางเลือกในการระดมทุน 

โดยการทำ IPO จะเป็นช่องที่ช่วยให้บริษัทได้รับเงินทุนและสามารถเข้าจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก 

 

ก่อนจะเป็นหุ้น “IPO”

หุ้นไอพีโอคือ

การทำ IPO ต้องผ่านกระบวนการมากมาย โดยบริษัทมหาชนที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องแต่งตั้ง 'ที่ปรึกษาทางการเงิน' หรือ FA เพื่อช่วยประเมินคุณสมบัติ ให้คำแนะนำและช่วยเตรียมความพร้อมในทุกเรื่อง เช่น การทำบัญชี, ปรับโครงสร้างธุรกิจ, ดูแลระบบควบคุมภายใน เพื่อให้มีคุณสมบัติเพียงพอเหมาะสมในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่จัดทำหนังสือชี้ชวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์หรือที่เรียกกันว่า 'ไฟลิ่ง' เพื่อเสนอแก่ ก.ล.ต. จะเห็นได้ว่าที่ปรึกษาทางการเงินมีความสำคัญมาก ดังนั้นบริษัทจะต้องพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินที่มีคุณภาพ

พร้อมให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี เมื่อได้รับอนุญาตให้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว บริษัทก็จะต้องแต่งตั้ง ผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนต่อไป

ขณะที่หุ้น IPO เป็นที่ต้องการของนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่จำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่ เมื่อเข้ามาเทรดในตลาดวันแรก ราคามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับการตั้งราคาขายหุ้น IPO ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนใหญ่มักตั้งราคา IPO ที่มีส่วนลดจากมูลค่าที่แท้จริงเพื่อจูงใจนักลงทุน

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทำให้มีโอกาสทำกำไรได้ง่ายและเร็ว ความสนใจเข้าจองซื้อหุ้น IPO จึงมีสูง ดังนั้น จำนวนหุ้น IPO ที่เปิดให้จองมักจะหมดลงอย่างรวดเร็วแทบไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการจองซื้อ 
เปิดสถิติปี 2565 มีหุ้น IPO กี่ตัว

 

สถิติหุ้น IPO ดาวรุ่ง-ดาวร่วง 10 เดือนแรกปี 2565

สถิติหุ้นไอพีโอ ปี 2565

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพ์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รายงานในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีบริษัทที่ขายหุ้น IPO จำนวน 25 บริษัท มีมูลค่าหุ้น ณ ราคา IPO รวม  258,482 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มีให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกในวันแรกที่เข้าเทรดในวันแรก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนติดลบในวันแรกที่เข้าซื้อขาย โดยมี 5 หุ้น IPO ที่เรียกได้ว่าเป็นดาวรุ่งในปีนี้มีดังนี้

  1. บริษัท ทเวนตี้ โฟร์ คอน แอนด์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)  หรือ 24CS  ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดบวกไป 200%
  2. บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ KCC ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดบวกไป 148.65%
  3. บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF  ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดบวกไป 111.54%
  4. บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ CH  ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดบวกไป 76.92%
  5. บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดบวกไป 66.67%


ส่วน 5 หุ้น IPO ดาวร่วงเพราะต้องบอกว่าราคาร่วงกันไปถ้วนหน้ามีดังนี้

  1. บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PCC ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดลบไป 14.50%
  2. บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดลบไป 2.50%
  3. บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดลบไป  2.17% 
  4.  บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดลบไป  0.63%
  5. บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ที่เข้าเทรดวันแรกราคาปิดมีการเปลี่ยนจากราคาไอพีโอ แต่ราคาล่าสุดไหลลงไปปิดต่ำกว่าราคา IPO แล้ว

 

5 ข้อควรระวัง ซื้อหุ้น IPO ไม่ให้ติดดอย

ซื้อหุ้น IPO ไม่ให้ติดดอย

 

ด้าน 'อธิป กีรติพิชญ์' นักลงทุนหุ้นแนว VI เจ้าของเพจ นิ้วโป้ง Fundamental VI ให้ข้อคิดที่ควรระมัดระวังการลงทุนในหุ้น IPO ว่า การเข้าลงทุนหุ้น IPO หรือเข้าลุยซื้อในวัน 1st Trading Day แล้วถือไว้เฉย ๆ นั้น มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน โดยส่วนตัว ผมมีข้อสังเกตและข้อควรระวัง ในการเข้าจองหุ้น IPO หรือเข้าซื้อขายหุ้น IPO ในวันแรก ดังนี้

1. อย่าจองซื้อหุ้น IPO โดยที่ยังไม่รู้อะไรเลยอย่างเด็ดขาด : แม้ว่าจะเป็นการจองซื้อหุ้น IPO แต่การวิเคราะห์กิจการก่อนเข้าลงทุน ยังคงทำเหมือนการวิเคราะห์หุ้นทั่วไปทุกประการ กล่าวคือ กิจการนั้น ต้องอยู่ในเมกะเทรนด์ อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นขาขึ้น มีปัจจัยเชิงคุณภาพของลักษณะกิจการที่ดี และมีงบการเงินย้อนหลังที่ดูดีใช้ได้ ซึ่งอย่างน้อยควรมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นย้อนหลังตลอด 3 ปีก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์

2. ระวังราคาจองซื้อหุ้นและราคาที่เข้าซื้อในวัน 1st Trading Day : สมัยก่อนนักลงทุนบางท่านมักจะแซวกันขำ ๆ ว่า IPO ย่อมาจาก It's Probably Overvalueเพราะอะไร? ลองนึกถึงหลักความเป็นจริง ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัท จะนำบริษัทมาขายแบ่งส่วนให้คนทั่วไป ถามว่า เราอยากขายถูกหรือขายแพง? แล้วบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการ IPO ทั้งที่ปรึกษาทางการเงิน หรือบริษัทที่รับผิดชอบการนำหุ้นออกขาย อยากขายให้ได้เงินน้อยหรือมาก? เท่านี้

เราก็คงพอเดาได้ว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO มักจะไม่ใช่ราคาถูก และมีหุ้นหลายตัวที่ราคาจองซื้อ IPO จัดว่าแพง และยิ่งเป็นราคา 1st Trading Day ที่ราคาหุ้นบวกเพิ่มจากแรงเก็งกำไรในวันแรก ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะฉะนั้นมูลค่าที่แท้จริงของกิจการยังเป็นเรื่องสำคัญ

3. หุ้น IPO ตัวนี้เข้ามาในตลาดเพื่ออะไร ? : จุดนี้นักลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและหาคำตอบให้ได้ เพราะบางกิจการทำธุรกิจครอบครัว ก่อร่างสร้างตัวมาจนกระทั่งเติบโตเต็มที่และเข้าสู่ช่วงอิ่มตัวแล้ว ตลาดเต็มไปด้วยการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูงจากการ Disruption

ทำไมเจ้าของถึงอยากเอากิจการเข้าตลาดหุ้นในตอนที่ภาพในอนาคตแทบไม่มีการเติบโตอีกแล้ว เอาเข้ามาเพื่อแบ่งสมบัติในครอบครัว เอาเข้ามาเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เจ้าของเดิม หรือกิจการอาจมีผลประกอบการขาดทุนยาวนาน และให้เหตุผลในการระดมทุนว่า "...เพื่อนำไปชำระหนี้ ลดการขาดทุนสะสม..." โดยที่ไม่ได้ฉายภาพอนาคตของการเติบโตใด ๆ เลย แบบนี้ก็ควรระมัดระวัง

4. จงระวังหุ้น IPO ที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย : กรณีที่หุ้น IPO ตัวใดที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ขายหนักอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันแรก หรือช่วงแรกของการเข้าตลาด (ซึ่งราคายังสูงอยู่) จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหุ้นตัวนั้นอย่างมาก และในบางกรณี หุ้นบางตัวอาจมีการจ่ายเงินปันผลออกมาอย่างหนัก ก่อนจะกระจายหุ้นแบ่งให้คนอื่นมาร่วมถือหุ้นด้วย หรือ หุ้นบางตัวอาจมีการเพิ่มทุนก่อนที่ราคาจะต่ำ (เช่น ราคาพาร์) ก่อนเข้าตลาดไม่นาน เพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นในมือของตัวเองก่อนวันขายหุ้น IPO ให้แก่ประชาชนทั่วไป

5. จงระวังหุ้น IPO ที่เหลือจากการขาย มีโควต้ามาถึงมือรายย่อยเป็นจำนวนมากและได้มาแบบง่าย ๆ : ปกติหุ้น IPO เป็นสิ่งที่คนอยากได้และมีอยู่จำกัด การที่มีโควต้าให้หุ้น IPO มาถึงมือรายย่อยทั่วไปเป็นจำนวนมากและได้มาแบบง่าย ๆ แปลตรงตัวได้ว่า การระดมทุนรอบนี้ อาจจะมีจำนวนมากเกินไป ทั้งในเชิงจำนวนหุ้น (มากไป) และราคาหุ้น (สูงไป) ไม่มีใครสนใจ นักลงทุนจึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

 

 

แบงก์ไทยพาณิชย์แนะเคล็ดลับลงทุน IPO

เคล็ดลับลงทุน IPO


ธนาคารไทยพาณิชย์ อธิบายว่า IPO คือ หุ้นใหม่ที่เพิ่งจะมีการซื้อขายในตลาด ดังนั้นความแตกต่างของหุ้นชนิดนี้เมื่อเทียบกับหุ้นโดยทั่วไป คือ การที่หุ้นยังไม่เคยซื้อขาย เราจึงไม่รู้ราคาตลาดที่แน่นอน ไม่มีราคาสูงสุด ต่ำสุด แนวต้าน – แนวรับ ทางเทคนิค

ทำให้ราคาหุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปได้เรื่อยๆ หรือในทางตรงข้ามหุ้นอาจจะมีราคาต่ำจองได้เป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งหุ้นตัวนี้เป็นที่รู้จัก มีการเรียนรู้พื้นฐานของบริษัทและเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน 
หลังจากนั้นราคาเริ่มปรับตัวไปสู่พื้นฐานที่ควรจะเป็น ด้วยคุณสมบัติแบบทำให้หุ้นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดจึงเป็นที่นิยมของนักเก็งกำไร

โดยเฉพาะหากเป็นบริษัทที่มีหุ้นหมุนเวียนอยู่จำนวนไม่มาก เพราะการดันราคาจะทำได้ไม่ยากก่อนที่จะนักลงทุนจะทำการจองหุ้นหรือลงทุนในหุ้น IPO  นักลงทุนสามารถขอดูหนังสือชี้ชวน ซึ่งภายในจะมีข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

  1. ลักษณะอุตสาหกรรมที่บริษัทนี้ดำเนินกิจการอยู่ โดยต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไรในอนาคต มีการแข่งขันเป็นอย่างไร มีลักษณะของการผูกขาดหรือไม่ นอกจากวิเคราะห์หุ้น IPO ที่นักลงทุนสนใจแล้ว นักลงทุนควรต้องวิเคราะห์บริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันว่า มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และมีราคาหุ้นเป็นอย่างไร เป็นการเปรียบเทียบ
  2. ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท โดยพิจารณาว่าบริษัทนี้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอย่างไร มีนโยบายการดำเนินงานอย่างไร มีคู่แข่งหรือไม่ แล้วคู่แข่งคือใคร นอกจากนี้นักลงทุนอาจจะลองไปใช้บริการดู เพื่อประกอบการตัดสินใจ
  3. วัตถุประสงค์ในการระดมทุน เช่น เพื่อใช้สำหรับการขยายกิจการ ชำระคืนหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ ซึ่งจะช่วยให้ประเมินโอกาสและความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้าได้
  4. วิเคราะห์งบการเงินของบริษัท วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน และคาดการณ์ผลประกอบการณ์ในอนาคต โดยวิเคราะห์จากงบกำไรขาดทุนเพื่อดูความสามารถในการทำกำไร วิเคราะห์งบกระแสเงินสดเพื่อดูความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและคุณภาพของกำไร และวิเคราะห์งบดุลเพื่อตรวจสอบสถานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และโครงสร้างเงินทุนของบริษัท แม้ว่างบการเงินก่อนเข้าตลาดนั้นจะมีความละเอียดลออในการตรวจสอบน้อยกว่างบการเงินของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดแล้ว แต่นักลงทุนก็ยังคงต้องวิเคราะห์งบการเงินของหุ้น IPO อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ให้ลองเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันที่อยู่ในตลาดแล้ว เพื่อให้มีมาตรฐาน (benchmark) สำหรับการวิเคราะห์
  5. พิจารณาผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ว่าเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และสัดส่วนการถือหุ้นว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือถือหุ้นกระจายคนละนิดละหน่อย เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง เมื่อเข้าตลาดแล้ว อาจมีการขายหุ้นทิ้ง เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามขาย ส่งผลถึงราคาของหุ้นและความน่าเชื่อถือของบริษัทในอนาคตได้
  6. สภาวะการลงทุนในขณะที่หุ้น IPO เข้าตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะหากสภาพตลาดมีแนวโน้มที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เมื่อเข้าตลาดแล้ว หุ้นนั้นมีราคาต่ำจอง และทำให้เราขาดทุนได้

 

โบรกฯ แนะก่อนซื้อ IPO ต้องศึกษาข้อมูล-ความเสี่ยงธุรกิจ

 419038


ด้าน 'สมภพ กีระสุนทรพงษ์' กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)  อธิบายว่า นักลงทุนมักจะได้ยินเสมอว่า ราคาหุ้น IPO ที่กำหนดขึ้นมาเป็นราคาที่มีส่วนลด (Discount) ส่วนการที่จะให้ส่วนลดมากน้อยแค่ไหนนั้น

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภาวะตลาดโดยรวม แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ ปริมาณและความต้องการและความสนใจของนักลงทุน เช่น ในช่วงที่ตลาดไม่ดี มีความผันผวนสูง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ในการกำหนดราคาอาจให้ Discount มากพอสมควร เช่น 20 - 30%

หากในภาวะที่ตลาดสดใส นักลงทุนมีความเชื่อมั่น มีความสนใจสูงก็อาจจะให้ Discount ที่ลดลง ทั้งนี้การกำหนดราคาและให้ส่วนลดไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การตั้งราคาของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ในแต่ละกรณี แต่ละสถานการณ์

โดยการที่ราคา IPO มี Discount ก็เพื่อทำให้หุ้นมีความน่าสนใจและลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุน รวมทั้งเพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินธุรกิจเดียวกัน มีอัตราการเติบโต มีความสามารถในการทำกำไร และมีอัตราส่วนทางการเงินที่เหมือนกันทุกประการ

คำถาม คือ ถ้าบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ตั้งราคาเสนอขายหุ้น IPO เท่ากับ Valuation ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจองซื้อหุ้น IPO ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เพราะสามารถที่จะซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่เหมือนกันในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันที และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาด เช่น สมมติว่า ตลาดหุ้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันทำให้ตลาดปรับลดลง นักลงทุนก็สามารถขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงได้ทันที

แต่ถ้าจองซื้อหุ้น IPO และมีปัจจัยลบเข้ามากระทบและส่งผลต่อตลาดหุ้นโดยรวมในช่วงวันจองซื้อหุ้น ก็อาจทำให้นักลงทุนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจจองซื้อหุ้น IPO นักลงทุนควรศึกษาและอ่านข้อมูลจากหนังสือชี้ชวน บทวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจธุรกิจ โอกาสและการเติบโตในอนาคต

รวมถึงความเสี่ยงของบริษัท เพื่อดูให้แน่ใจว่าราคาหุ้น IPO เหมาะสมแล้วหรือไม่ ซึ่งบทวิเคราะห์ก็จะเป็นตัวช่วยให้กับนักลงทุน สามารถทราบราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ได้ประเมินเอาไว้ รวมถึงประเมินข้อมูลอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น P/E Ratio อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงติดตามการให้ข้อมูลจากผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เช่น การจัดโรดโชว์นำเสนอข้อมูลของผู้ออกหลักทรัพย์ รวมถึงการประเมิน Valuation ที่เหมาะสม

สุดท้ายนี้ อยากจะให้ข้อคิดกับนักลงทุนว่า เวลาซื้อของสักชิ้น เช่น โทรศัพท์มือถือก็ยังต้องดูแล้วดูอีกว่าจะซื้อยี่ห้อไหน แต่ละรุ่นใช้งานอะไรได้บ้าง เปรียบเทียบราคา และคุณสมบัติของแต่ละยี่ห้อ ดังนั้น เวลาจองซื้อหุ้น IPO ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนเหมือนซื้อของด้วยเช่นกัน และอย่าลืมว่า การลงทุนในหุ้นเป็นการซื้ออนาคต ดังนั้น ทุกข้อมูลจึงมีความสำคัญในการประเมินการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้าประเมินถูกต้องก็จะรู้ว่าราคาหุ้น IPO นั้นถูกหรือแพง

แชร์

เปิดสถิติหุ้น IPO ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2565