แม้ TikTok จะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ยอดฮิต ที่มีจำนวนผู้ใช้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เกิด Content Creator หรือที่เรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ‘TikToker’ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็มีน้อยคนที่จะเข้าใจว่า ตกลงแล้ว อัลกอริธึมในการ ‘ดันคลิป’ ของ TikTok นั้นทำงานอย่างไร?
เว็บไซต์ The Verge เผยว่า พนักงานใน TikTok สหรัฐบางกลุ่ม สามารถเลือก ‘ดันคลิป’ ที่เห็นว่าน่าสนใจ เพื่อแนะนำ ‘เซเลบคนดัง หรือครีเอเตอร์ที่กำลังเป็นที่นิยม’ เข้าสู่สายตาชาวประชาในคอมมูนิตี้ของ TikTok ได้ หรือที่คนใน TikTok เรียกกันว่า ‘การกดปุ่ม Heating’ อ้างอิงจากโฆษกของ TikTok ที่ให้สัมภาษณ์กับ Forbes
TikTok ให้เหตุผลว่า เครื่องมือดังกล่าว มีขึ้นเพื่อทำให้คอนเทนต์ที่แสดงบนฟีดของผู้ใช้งานมีความหลากหลาย ไม่ได้เต็มไปด้วยเทรนด์ฮิตแค่ 1 - 2 เทรนด์ ในบรรดาฟีดทั้งหมด TikTok อ้างว่า จะมีแค่ 0.002% ที่เป็นวิดีโอที่ถูก Heat แต่เอกสารภายในที่ Forbes ได้มาเผยว่า วิธีที่ถูก Heat นั้นคิดเป็น 1 - 2% ของยอดวิวทั้งหมดในแต่ละวัน
อย่างไรก็ดี วิดีโอที่ถูก Heat นั้น จะ “ไม่มีเครื่องหมายบอก” เหมือนวิดีโอที่ซื้อบูสต์ (ที่จะมีแถบเล็กๆ โชว์ว่า ‘Sponsored’ หรือ ‘สนับสนุน’) แต่จะปรากฏขึ้นมาอย่างแนบเนียน มีหน้าตาเหมือนคลิปทั่วไป ที่ถูกจัดสรรโดยระบบอัลกอริธึมของ TikTok ทำให้ผู้ชมไม่สามารถแยกออกได้เลย ว่าคลิปที่ขึ้นบนฟีดพวกเขา มีพนักงาน TikTok เลือกเสิร์ฟให้ถึงที่
ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มเจ้าตลาดอย่าง Facebook เอง ก็เคยแสดงยอดวิวที่ ‘เฟ้อเกินจริง’ เพื่อดึงดูดให้นักโฆษณาและบริษัทสื่อเข้ามาใช้บริการของแพลตฟอร์ม นำไปสู่คดีความที่ทำให้ Meta ต้องยอมจ่ายเงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์ (1.3 พันล้านบาท) เพื่อให้คดีจบ แม้ยอดวิวจาก TikTok จะเกิดจากผู้ชมจริงๆ แบบ Organic แต่การมีปุ่มวิเศษเช่นปุ่ม Heating นี้ ก็อาจทำให้บรรดาครีเอเตอร์คิดว่า พวกเขามียอดวิวสูงกว่าความเป็นจริงได้
เมื่อมีกระบวนการดันคลิปโดยฝีมือมนุษย์แล้ว คำถามที่จะเกิดขึ้นก็คือ แล้วจะใช้เกณฑ์อะไรในการชี้ขาดว่าในแต่ละวันจะต้องดันคลิปใคร? และจะป้องกันไม่ให้เกิด ‘ความลำเอียง’ ได้อย่างไร? ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่ง Forbes รายงานว่า มีพนักงานเลือกดันโพสต์ที่ไม่ควรจะถูกดัน หรือเลือกดันคลิปจากเพื่อน คู่รัก หรือแอคเคานต์ของตัวพนักงานเอง
หลังจากที่เป็นม้ามืดในวงการมาหลายปี ปัจจุบันนี้ TikTok เริ่มเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เจ้าตลาดโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ YouTube ซึ่งได้พัฒนาแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง Reels และ Shorts ขึ้นมาสู้ และเริ่ม ‘แบ่งเงินให้ครีเอเตอร์’ เพื่อแย่งผู้ใช้จาก TikTok แล้ว โดยหนทางที่ TikTok ใช้สู้กลับ ประกอบด้วยโมเดลการจ่ายเงินให้กับครีเอเตอร์ที่ได้เฉพาะบางราย และการแบ่งรายได้จากโฆษณาให้แบบจำกัด ซึ่งอาจเป็นการเปิดโอกาสให้คู่แข่งรายอื่นเบียดแซงขึ้นมาได้