ไทยเป็นฮับด้านการแพทย์ที่สำคัญของภูมิภาค แต่ในโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่กลับมี ‘อุปกรณ์และนวัตกรรมทางการแพทย์’ ที่เป็นผลงานของคนไทยในสัดส่วนที่น้อยมาก
ซึ่งอันที่จริง ประเทศใกล้บ้านเราอย่างจีน และไต้หวัน ก็ขยับขึ้นมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญได้ จากการที่ประเทศจีนใช้โอกาสจากช่วงโควิด-19 กระจายเครื่องมือการแพทย์ของตัวเองสู่ภูมิภาคใกล้เคียง ระหว่างที่ซัพพลายเชนทั่วโลกประสบปัญหา ฝั่งไต้หวันก็เติบโตได้ภายในระยะเวลาราว 8 ปี จากเป้าหมายและการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากภาครัฐ
แม้อุตสาหกรรมทางการแพทย์บ้านเรายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังถือว่ามีขนาดเล็ก และยังขาดผลิตภัณฑ์ประเภท Deep Technology (เทคโนโลยีขั้นสูง ที่เกิดจากการวิจัยอย่างลึกซึ้ง ยากที่จะทำตามได้ง่ายๆ) อยู่มาก อุปสรรคหลักๆ ของนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1) ‘การรับรองมาตรฐานระดับโลก’ มีกำแพงราคาที่สูง
เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายตัว เป็นอุปกรณ์ที่จะต้องสัมผัสกับคนไข้ทั้งภายนอก และภายในร่างกาย จึงต้องมีมาตรฐานการรับรองที่เข้มงวด รวมถึงขั้นตอนการตรวจวัดที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อนมากกว่า บางครั้งเป็นข้อบังคับทางการกฎหมายด้วย ว่าเครื่องมือประเภทใด ต้องได้รับการรับรองอะไร ก่อนที่จะสามารถออกวางจำหน่ายได้จริง
ในการตรวจวัดมาตรฐานสักชนิด มักต้องส่งไปตรวจกับผู้ให้บริการการตรวจมาตรฐานระดับโลก ซึ่งอาจใช้เงินหลักแสน หรือหลักล้านบาท และใช้เวลานานนับเดือนจากการส่งตัวยังไปยังห้องแล็บเฉพาะทางที่อยู่ในอีกทวีปหนึ่ง ซึ่งสำหรับบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Startups ที่ยังมีทุนทรัพย์น้อย และยังไม่มียอดการจำหน่ายสินค้าเลยนั้น ถือเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่สกัดให้ธุรกิจไปต่อได้ยากลำบาก รวมถึงเป็นอุปสรรคในการได้รับการยอมรับในระดับโลกด้วย
2) คนไทยไม่ใช้ แต่หวังขายต่างชาติ
อีกหนึ่งความจริงที่น่าปวดใจ คือ โรงพยาบาลใหญ่ๆ ในไทย ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ ยังให้ความเชื่อถือกับอุปกรณ์ด้านการแพทย์จากฝั่งตะวันตก หรือญี่ปุ่น เกาหลี อยู่มาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยที่จะมาเข้ารับบริการด้วย
อุปสรรคข้อนี้ซ้ำเติมปัญหาจากข้อ 1 นอกจากการเพิ่มความน่าเชื่อถือจากมาตรฐานรับรองระดับนานาชาติจะยากลำบากแล้ว การได้รับความเชื่อถือจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศยังติดขัดอีก จุดนี้ไม่ใช่หน้าที่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งให้การสนับสนุน
3) ปัญหางูกินหาง : นักลงทุน กับจำนวนธุรกิจ
เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือโมเดลธุรกิจเชิงพาณิชย์อื่นๆ ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมยาวนานกว่า (อาจใช้เวลาได้ 5 - 10 ปี หรือมากกว่านั้น) ทำให้นักลงทุนหันไปหา Startups หรือธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ส่งผลให้ธุรกิจด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังขาดนักลงทุนอยู่มาก
ในทางตรงกันข้าม ก็ทำให้เกิดประเภท ชนิดของธุรกิจที่มีจำนวนน้อย ส่งผลให้ทางเลือกของนักลงทุนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่โฟกัสไปที่ผู้บริโภคโดยตรง หรืออยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ
หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานด้านนวัตกรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในไทยจึงร่วมมือกัน และเร่งมืออุดสามช่องโหว่เหล่านี้ เพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งภายในปี 2030 จะเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อ GDP ของประเทศไทยขึ้นไปอีก 3-4 เท่าเลยทีเดียว หนึ่งในช่องทางที่ทำให้ Startups ด้านอุปกรณ์การแพทย์ของไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น คือการเข้าร่วมงานจัดแสดงระดับบนานาชาติ ซึ่งเป็นที่สนใจและได้รับการยอมรับจากบริษัทและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งระดับโลก และในประเทศไทย
มหกรรมด้านการแพทย์ครั้งใหญ่ ‘Medical Fair Thailand’ กลับมาอีกครั้งหลังโควิด-19
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และ บริษัท Messe Düsseldorf Asia ผู้จัดงาน MEDICA มหกรรมเทรดแฟร์ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึง Medical Fair Thailand งานลูกที่เกิดขึ้นในไทยที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 แล้ว จึงร่วมมือกันผลักดัน Startups ด้านการแพทย์ของไทย เกิดเป็นโซน ‘Startup Park’ ภายในงานMedical Fair Thailand 2023 ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และ 16-22 กันยายน 2566 ในรูปแบบออนไลน์
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมและ Startups ของประเทศ มีเป้าหมายที่จะผลักดันผู้ประกอบการและนวัตกรให้เติบโตไปอย่างสอดคล้องกับเทรนด์โลก โดยเฉพาะการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (ดีพเทค : DeepTech) เช่น ระบบอัตโนมัติ (AI) เทคโนโลยีเสมือนจริง การเชื่อมอินเทอร์เน็ตกับหลากสรรพสิ่ง (IoT) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
NIA จึงเล็งเห็นความสำคัญของการร่วมนำหน่วยงานในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีมาแสดงนวัตกรรมภายในงาน Medical Fair ในโซนของ Thai Pavillion ซึ่งจากการออกบูทในงาน Medical Fair Asia ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นอย่างดี
"ธุรกิจที่เกี่ยวข้องการการแพทย์และสุขภาพ สร้างโอกาสให้กับ Startups อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ การบริการทางการแพทย์ สังคมผู้สูงวัย ฯลฯ ซึ่ง NIA มีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีพื้นที่และมีโอกาสเติบโต เห็นได้จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2566 หรือ Global Startup Ecosystem Index 2023 โดย StartupBlink ระบุว่าประเทศไทยได้ลำดับที่ 52 ของประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในโลก ถือเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดีหากมีการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ การเชื่อมโยงเครือข่าย และการสนับสนุนเงินลงทุน" ดร. กริชผกา กล่าว
ฝั่งของผู้จัดงาน Daphne Yeo ผู้อำนวยการบริหารโครงการ กลุ่มธุรกิจ Healthcare จาก Messe Düsseldorf Asia กล่าวว่า Messe Düsseldorf Asia เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่จัดงานระดับโลกในไทยมากว่า 20 ปี ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมด้านการแพทย์ของประเทศไทย โดยการจัดงาน Medical Fair Thailand เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2005 และล่าสุดในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 10 แล้ว ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนผู้ร่วมงานและนักลงทุนเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนถึงทิศทางการการเติบโตของนวัตกรรมเฮลท์เทคของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางนานาชาติ (Medical Hub)
ทางด้านโรงพยาบาล ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในวงการการแพทย์ไทยเช่นกัน นางสาวพราว ปธานวนิช ผู้อำนวยการสายงานนวัตกรรม โรงพยาบาล เมดพาร์ค กล่าวว่า โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีเป้าหมายในการดึงศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย โดยใช้แนวคิดและการปฏิบัติแบบ Integrated Care คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยส่งเสริมการศึกษาและงานวิจัย เพื่อสนับสนุนให้เพิ่มพูนองค์ความรู้ของบุคลากรให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ
นอกจากนี้โรงพยาบาลเมดพาร์คยังเป็นผู้นำด้าน Co-Creation ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยกำหนดตั้งแต่รากฐานโครงสร้างผู้ถือหุ้น ตึกและแผนกในโรงพยาบาลซึ่งออกแบบร่วมกันระหว่างแพทย์เฉพาะทางและสถาปนิก ไปจนถึงการทำนวัตกรรมหรือออกแบบโซลูชันต่างๆ ที่ได้ประโยชน์จากการร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสหสาขาวิชาชีพ สร้างความเป็นเจ้าของและความร่วมมือในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้าน ซึ่งจะนำไปสู่ระบบสุขภาพที่ยั่งยืนโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
นางสาวพราว กล่าวอีกว่า กลุ่มโรงพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์และ Startup ทางการแพทย์ ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่นับวันยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด ยิ่งต้องใช้ความร่วมมือกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพเพื่อช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการสุขภาพของตนได้มากยิ่งขึ้น
การระบาดของโควิด-19 นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาและนำเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาใช้มากขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังต้องเร่งสร้างบุคลากรให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่มีการแข่งขันสูงขึ้นและมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งภายในงาน Medical Fair ถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะช่วยระดมความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการดูแลสุขภาพได้