เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารและหัวหน้า ล้วนทราบดีว่า “พนักงาน” คือ จิ๊กซอว์ตัวสำคัญของธุรกิจ ธุรกิจจำเป็นต้องมีพนักงานที่เก่งและมีศักยภาพสูง
ผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารคนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เหนือไปกว่านั้น คือ การรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรนานๆ มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น
แต่หลายครั้ง การพยายามรักษาทรัพยากรเหล่านี้กลับกลายเป็นการทำร้ายลูกน้องทางอ้อม การทะนุถนอมพวกเขามากเกินไป อาจทำให้พวกเขาเข้าสู่ ‘Comfort Zone’ และปิดกั้นโอกาสเติบโต
“คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ซีอีโอ MFEC” ได้แชร์มุมมองการบริหารคนในงาน Digital SME Conference Thailand 2023 ที่ผ่านมา โดยได้พูดถึงประสบการณ์ตรงที่เคยดูแลลูกน้อง และเกิดคำถามว่า ทำไมลูกน้องหลายคน ที่ย้ายจากบริษัทของตนไปยังบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติที่สิงคโปร์ กลับมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด เก่งขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว
หลังตกตะกอนเป็นระยะเวลานาน คุณศิริวัฒน์ก็ได้ตกตะกอนแนวคิดการบริหารคน ให้เติบโตทะลุขีดจำกัด และไม่หมดไฟในการทำงาน ซึ่ง Spotlight สรุปออกมาได้ดังนี้
คุณศิริวัฒน์ ผู้บริหารคนสำคัญของ MFEC แชร์ประสบการณ์หลังจากที่ลูกน้องของตนได้ลาออกจากบริษัท ไปร่วมงานกับนายจ้างสิงคโปร์ว่า ลูกน้องได้เข้ามาปรับทุกข์กับตน ว่าทำงานกับนายจ้างสิงคโปร์ ไม่สบายใจเหมือนกับที่ทำงานที่เก่า ตกกลางคืนก็ต้องสรุปงานส่งในตอนเช้า เพราะ แถมโดนโทรหา 3 รอบต่อวัน คุณศิริวัฒน์จึงเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปถามเพื่อนๆ ผู้บริหารชาวสิงคโปร์ และได้คำตอบว่า
“คนไทยไม่รู้วิธีบริหารคนไทยด้วยกัน”
หนึ่งข้อคิดสำคัญที่ได้จากเพื่อนผู้บริหารชาวสิงคโปร์คือ ‘คนไทยปรับตัวให้คุ้นชินกับสิ่งใหม่ได้ไวมาก’ ไม่ว่าจะเจอเรื่องกดดัน ท้าทายแค่ไหน เราก็จะบ่นในระยะแรก แต่ก็ปรับตัวได้อย่างว่องไว ในระยะเวลาอันสั้น (พร้อมยกตัวอย่างแกมหยอก ถึงสถานการณ์การเมืองซึ่งกินระยะเวลายาวนานหลายปีที่ผ่านมา แม้มีคนจำนวนมากบ่นและไม่พอใจ แต่ก็ปรับตัวให้ชินและทนอยู่มาได้จนเปลี่ยนรัฐบาล)
พร้อมกับได้เคล็ดลับว่า ถ้าอยากให้พนักงานมี Productivity เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องเขียนซอฟต์แวร์ใหม่ ไม่ต้องปรับระบบการทำงาน เพียงโทรหาพนักงาน 3 รอบ/วัน ซึ่งเมื่อคุณศิริวัฒน์ให้ทีมงานระดับหัวหน้าลองทำตามคำแนะนำนั้น ก็พบว่าทำให้ Productivity เพิ่มขึ้นได้จริงๆ
อีกหนึ่งข้อคิดสำคัญที่ได้จากผู้บริหารชาวสิงคโปร์ก็คือ การทำงานกับคนไทย อย่าให้สองสิ่งนี้มาบรรจบพบกัน นั่นคือ
“ความรู้สึกมั่นคง” และ “ความรู้สึกว่าจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้”
สองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในตัวคนไทยเมื่อไร จะทำให้การเจริญเติบโตหดหาย และศักยภาพถดถอยเมื่อนั้น ต่อให้บี้ให้ตายเขาก็อยู่ในสภาวะนั้น ไม่พัฒนาต่อไป
เมื่อลูกน้องรู้สึกอยู่ตัวที่บริษัทเดิม ต่อให้สั่ง ต่อให้จ้ำจี้จ้ำไช ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่กลับกัน เวลาที่ลูกน้องย้ายไปที่บริษัทใหม่ ต่อให้สื่อสารเหมือนกัน ลูกน้องก็จะกระตือรือร้นมากกว่า เพราะว่ายังรู้สึกแปลกที่ รู้สึก ‘ไม่มั่นคง’ และยัง ‘ไม่สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้’ นั่นเอง
ผู้บริหาร เจ้าของบริษัท และผู้นำชาวไทย มักจะติดกับดัก “อยากเป็นที่รักของลูกน้อง” อยากให้ลูกน้องสบายใจ พูดถึงเราลับหลังในทางที่ดี แม้ต้องจากลากันไป ก็ยังพูดถึงแต่สิ่งดีๆ ขององค์กร ซึ่งต้องถือว่าเป็นกับดักอย่างหนึ่งของคนไทย
เปรียบเสมือนกับการมีเทรนเนอร์ส่วนตัว ช่วยเทรนเรื่องการออกกำลังกาย หากเทรนเนอร์คนนี้ไม่ยอมให้เราเหนื่อย ไม่ยอมให้เราเจอความท้าทาย ไม่ยอมให้ยกน้ำหนักเพิ่ม ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อก็คงจะไม่สามารถมีเพิ่มขึ้นได้
หากเป็นหัวหน้าแล้วเป็นคนขี้เกรงใจ ก็คงจะไม่สามารถสร้างงานใหญ่ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้ หัวหน้าที่ดีต้องสามารถทำให้ลูกน้องเก่งขึ้นได้ทุกปี เพิ่มน้ำหนักงาน เพิ่มเป้าหมาย เพิ่มความกดดัน เพิ่มภาระความรับผิดชอบ ให้คนได้พัฒนาขึ้นตลอด สำหรับคนไทยที่ทำงานในองค์กรสิงคโปร์ แม้จะเจองานหนัก แม้จะโดนว่า แต่ศักยภาพของตัวเขาพัฒนาขึ้นทุกปี เขาก็อยากอยู่กับองค์กรนั้นๆ ต่อ เพราะทำให้เขาเก่งขึ้น
.
และหนึ่งอาวุธสุดท้ายที่ ผู้บริหาร เจ้าของบริษัท หรือหัวหน้า พึงใช้ให้เป็นก็คือ
อีกหนึ่งข้อคิดสำคัญสำหรับผู้บริหาร จากคุณศิริวัฒน์ก็คือ การรู้จักบาลานซ์ระหว่าง ‘การให้รางวัล’ และ ‘การลงโทษ’ เปรียบเสมือนสมดุลระหว่าง หยิน กับ หยาง ดังตัวอย่างเช่น
ในการลงโทษพนักงาน ต้องสื่อสารถึงความหวังดี จริงใจควบคู่ไปการลงโทษนั้น
ในการให้รางวัล ระหว่างรางวัลที่ได้มาโดยง่ายๆ ก็คงจะไม่มีความหมายเท่ากับกับรางวัลที่ได้มาแลกมาด้วยวินัย ความกดดัง ความคาดหวัง และให้รางวัลในช่วงที่พนักงานเผชิญกับความเครียด รางวัลนั้นก็จะมีความหมายกับเขามากขึ้นไปอีก
ผู้บริหารที่เก่ง จะต้องมีทั้งพระเดชและพระคุณ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานเติบโตยิ่งขึ้นไป
ผู้บริหารไทยควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการการบริหารคน โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตของพนักงานมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อผู้บริหารสามารถผลักดันให้ลูกน้องเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด องค์กรก็จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน