ธุรกิจการตลาด

บีทีเอสชี้กทม.มีหนี้ต้องจ่าย 4 หมื่นล้าน วอนให้เข้ามาเจรจา

31 ก.ค. 67
บีทีเอสชี้กทม.มีหนี้ต้องจ่าย 4 หมื่นล้าน วอนให้เข้ามาเจรจา

นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 3 ปี ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส คดี “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรุงเทพธนาคม(KT) ชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง(O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2567 

จนเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ กทม.และ KT ร่วมกันชำระหนี้ ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง จำนวน 11,755 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฟ้องครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นค่าจ้างของเดือนพฤษภาคม 2562-พฤษภาคม 2564 

โดยบีทีเอสต้องได้รับค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - วงเวียนใหญ่ - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต (เดือนเมษายน 2560 ถึง พฤษภาคม 2564) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท  

บีทีเอสชี้กทม.มีหนี้ต้องจ่าย 4 หมื่นล้าน วอนให้เข้ามาเจรจา

ย้อน Timeline คดี “รถไฟฟ้าสายสีเขียว”

  • 15 ก.ค.2564 บีทีเอสยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องให้กรุงเทพมหานนคร (กทม.) และกรุงเทพธนาคม(KT) ชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง(O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 หนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พฤษภาคม 2562-พฤษภาคม 2564 ทุนทรัพย์ประมาณ 12,000 ล้านบาท ( คดี O&M1)
  •  7 ก.ย.2565 ศาลปกครองกลางพิพากษาคดี O&M1 ให้ กทม.และ KT ร่วมหรือแทนกันชำระหนี้ให้บีทีเอสตามคำฟ้อง ทั้งหมดประมาณ 11,755 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนต่อขยายที่ 1 รวมประมาณ 2,348 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 รวมประมาณ 9,406 ล้านบาท
  • 6 ต.ค.2565 กทม. และ KT ยื่นอุทธรณ์คดี O&M1  ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง
  • 22 พ.ย.2565 บีทีเอสยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องให้ กทม.และ KT ชำระหนี้ ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ทุนทรัพย์ประมาณ 11,811 ล้านบาท (คดี O&M2) ซึ่งปัจจุบัน คดี O&M2 อยู่ระหว่างการวินิจฉัย และทำคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
  • 17 ส.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุดนัดพิพากษาคดี O&M1 ครั้งแรก ตุลาการผู้แถลงมีความเห็นให้ยืนตามศาลปกครองกลางให้ กทม.และ KT ชำระหนี้ 
  • 26 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กทม.และกรุงเทพธนาคม ร่วมชำระหนี้ ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง

โดยปัจจุบันมีหนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุงที่ กทม.และกรุงเทพธนาคม รวมดอกเบี้ยแล้ว ราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีต้องเสียอัตราดอกเบี้ยปีละประมาณ 2,600 ล้านบาท หรือวันละประมาณ 7 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นยอดเงินที่กทม.และ KT ต้องชำระหนี้ให้กับ บีทีเอส นั้น ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  1. หนี้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา (ฟ้องครั้งที่ 1 : พ.ค.62-พ.ค.64) ประมาณ 11,755 ล้านบาท
  2. หนี้ที่ฟ้องอยู่ในศาลชั้นต้น (ฟ้องครั้งที่ 2 : มิ.ย.64-ต.ค.65) ประมาณ 11,811 ล้านบาท
  3. หนี้ที่ยังไม่ได้ฟ้อง (พ.ค.65-มิ.ย.67) ประมาณ 13,513 ล้านบาท

รวมแล้วประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และยังไม่นับ ส่วนที่ 4 

    4. ค่าจ้างตามสัญญาในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบัน- จนสิ้นสุดสัญญาจ้าง ปี 2585

บีทีเอสชี้กทม.มีหนี้ต้องจ่าย 4 หมื่นล้าน วอนให้เข้ามาเจรจา

ล่าสุด นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บีทีเอส นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส และพ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงประเด็นนี้ 

โดยนายคีรี เผยว่า “นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่บีทีเอสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง จนได้รับความเป็นธรรมจาก
ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เราทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน
รับทราบมาโดยตลอด และ ณ วันนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความพยายามที่บีทีเอสทำมาตลอดนั้นไม่สูญเปล่า”

นายคีรี กล่าวยืนยันอีกว่า “บีทีเอสทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมาย
อย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง ตนย่อมไม่ลงนามอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เพราะบีทีเอส
เป็นบริษัทมหาชน ดังนั้น ตนต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน รวมถึง กลุ่มผู้โดยสาร ที่ตนยืนยันเสมอมาว่า
จะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน”

ที่สำคัญ คือ คำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นแนวทาง

ในการพิจารณาคดีในหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป ทั้งนี้ บีทีเอสก็อยากให้กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วยเนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน 

นอกจากนี้ บีทีเอสพร้อมที่จะเจรจากับกทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ทั้งนี้ หากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่น ๆ ที่อยากให้พิจารณา  บีทีเอสก็ยินดี และพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

"รู้สึกดีใจ และเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดยไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจ
เพราะสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิด ฉะนั้นสิ่งที่เราทำมา หรือสิ่งที่ตนเคยพูด พวกเราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่ากทม. และ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชนอย่างเรา ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่บีทีเอสโดยเร็ว" นายคีรี กล่าว

บีทีเอสชี้กทม.มีหนี้ต้องจ่าย 4 หมื่นล้าน วอนให้เข้ามาเจรจา

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT