สินทรัพย์ดิจิทัล

"สิงคโปร์-อังกฤษ-สเปน" คุมเข้มโฆษณาคริปโต

19 ม.ค. 65
"สิงคโปร์-อังกฤษ-สเปน" คุมเข้มโฆษณาคริปโต

 

หากปี 2021 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการ "แจ้งเกิด" ของคริปโตเคอร์เรนซี ที่เพิ่งจะมาดังเป็นวงกว้างจริงๆ หลังเดบิวต์มานานหลายปี ปี 2022 นี้ก็อาจจะกลายเป็นปีแห่งการ "คุมเข้ม" คริปโตทั่วโลกตามมา หลังจากที่เกิดนักลงทุนรายย่อยและหน้าใหม่ในวงการคริปโตขึ้นทั่วโลก หลายคนไม่เคยเปิดพอร์ตหุ้น ไม่เคยซื้อกองทุน และไม่เคยลงทุนมาก่อน ขณะที่บางคนถึงกับลาออกจากงานประจำเพิ่อมาเทรดคริปโตเต็มตัว

 

หลังเริ่มต้นปีใหม่มายังไม่ถึง 1 เดือนเต็ม เริ่มมีหลายประเทศออกกฎมาคุมคริปโตในประเทศของตัวเองแล้ว ซึ่ง "ทีมข่าว SPOTLIGHT" จะพาไปดูการออกกฎควบคุมการ "โฆษณา" เกี่ยวกับคริปโตใน 3 ประเทศ ดังนี้

 


สหราชอาณาจักร (UK)

1200px-flag_of_the_united_kin

  • ในเร็วๆ นี้ การโฆษณาคริปโตใน "อังกฤษ เวลส์ ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์" ซึ่งเป็น 4 ประเทศในกลุ่มสหราชอาณาจักร (UK) จะต้องอยู่ภายใต้หลักการเดียวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์/บริการทางการเงิน

  • กระทรวงการคลังเตรียมเสนอการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การโฆษณาสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโต "อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน" ซึ่งโดยหลักแล้ว จะเน้นที่การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงเตือนความเสี่ยงในการลงทุนด้วย แต่การโฆษณาเกี่ยวกับคริปโตที่ผ่านมา มักจะมีเป้าหมายเป็นผู้บริโภครายย่อยที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทนี้

  • รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ระบุว่า สินทรัพย์คริปโตยังสามารถโฆษณาถึงโอกาสใหม่ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจจากธุรกรรมและการลงทุนในคริปโต "แต่ต้องไม่ใช่การขายที่อวดอ้างให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อน"

  • ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลทางการเงิน (FCA) ถูกวิพากษณ์วิจารณ์ว่าไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้ และปล่อยให้มีการโฆษณาคริปโตเกลื่อนตามรถเมลล์และรถไฟใต้ดิน โดยเฉพาะในกรุงลอนดอน จนทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ต้องประกาศเตือนนักลงทุนถึงความเสี่ยงในการลงทุนคริปโตที่อาจสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดได้

 


สเปน (Spain)

582577

  • สเปนจะหันมาออกกฎควบคุมการใช้ "อินฟลูเอ็นเซอร์" ในการโฆษณาคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ 

  • อินฟลูเอ็นเซอร์และผู้โฆษณาที่มียอดผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนคน จะต้องแจ้งการโฆษณาคริปโตไปยังคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ (CNMV) อย่างน้อย 10 วัน ก่อนที่โฆษณาจะถูกเผยแพร่ออกไป

  • การโฆษณาจะต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน และมีการเตือนถึง "ความเสี่ยง" ของคริปโตด้วย เช่น ข้อมูลที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า การลงทุนคริปโตไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐหรือเอกชนแต่อย่างใด  

  • หากไม่แจ้งต่อทางการตามกฎที่ตั้งไว้ จะถูกลงโทษ โดยมีโทษปรับเป็นเงินสูงสุด 3 แสนยูโร (ราว 11.3 ล้านบาท)

  • กฎหมายใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป

 


สิงคโปร์ (Singapore)

621329

  • ในบรรดาการคุมโฆษณาคริปโต สิงคโปร์ น่าจะเป็นเคสที่ "เข้มงวดที่สุด" เพราะถึงขั้น "ห้ามโฆษณาในสื่อ-พื้นที่สาธารณะ" ซึ่งกินพื้นที่กว้างมากตั้งแต่พื้นที่สาธารณะอย่าง ป้ายรถเมลล์ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน กิจกรรมตามที่สาธารณะ ไปจนถึงหนังสือพิมพ์ แผ่นพับ ทีวี วิทยุ สื่อบนอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย

  • ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ออกประกาศเมื่อวันที่17 ม.ค. 2565 ถึงแนวปฏิบัติต่อผู้ให้บริการซื้อขายคริปโต "ไม่ให้โฆษณาบริการของตนต่อสาธารณชนทั่วไป"

  • แนวปฏิบัติดังกล่าว ระบุว่า ผู้ให้บริการคริปโตควรปฏิบัติตนด้วยความเข้าใจว่า “การซื้อขายคริปโตไม่เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไป” โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปกป้องนักลงทุนรายย่อยจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งแนวปฏิบัติมี 3 ข้อ ดังนี้

    1. ห้ามผู้ให้บริการคริปโต ส่งเสริมบริการของตนในที่สาธารณะ หรือผ่านสื่อที่มุ่งเป้าไปที่ประชาชนทั่วไป รวมถึงการวางโฆษณา หรือ สื่อส่งเสริมการขายในรูปแบบใดๆ ในพื้นที่สาธารณะ

    2. ผู้ให้บริการคริปโต สามารถโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองได้ บนเว็บไซต์ของบริษัท แอปพลิเคชันมือถือ หรือบัญชีโซเชียลมีเดียที่เป็นทางการของตนเอง "แต่จะต้องไม่ทำให้เข้าใจว่า ความเสี่ยงของคริปโตเป็นเรื่องเล็กน้อย"

    3. ผู้ให้บริการคริปโต ไม่ควรมีส่วนร่วมกับบุคคลที่สาม เช่น อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือเว็บไซต์บุคคลที่สาม เพื่อโฆษณาคริปโตต่อสาธารณชนทั่วไป

  • นอกจากห้ามโฆณาแล้ว แบงก์ชาติสิงคโปร์ ยังห้ามการให้บริการ "ตู้เอทีเอ็มคริปโต" เนื่องจากมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมคริปโตต่อสาธารณะ และการส่งเสริมอำนวยความสะดวกเช่นนี้เอง ก็อาจกลายเป็นการกระตุ้นให้คนมาลงทุนโดยไม่ทันคิดถึงความเสี่ยงด้วย 

 

 

advertisement

SPOTLIGHT