17 ม.ค.65 ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หนึ่งในแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ คือ การปรับปรุงค่าลดหย่อนทางภาษี ซึ่งแนวทางการลดหย่อนทางภาษีนั้น จะให้น้ำหนักการลดหย่อนเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยมากขึ้นและจะตัดสิทธิ์ประโยชน์ของคนรายได้สูงให้เหลือน้อยลงเนื่องจาก ปัจจุบันค่าลดหย่อนทางภาษีที่กรมสรรพากรให้กับผู้เสียภาษีนั้น มีความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรายได้สูงกับคนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยมาก โดยคนที่รวยในกลุ่ม 20% แรก ได้ใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนทางภาษีที่รัฐให้อย่างเต็มที่ หรือราว 80 -90% ของค่าลดหย่อนที่รัฐให้ ขณะที่ คนรายปานกลางถึงรายได้น้อย ยังใช้ประโยชน์ไม่มากเท่าที่ควร
สำหรับแนวทางการปรับลดค่าลดหย่อนทางภาษีดังกล่าว คาดว่าจะทำให้กรมฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยกรมฯจะใช้หลักคิดคล้ายกับกรณีที่กรมสรรพากร ได้ยกเลิกการให้ค่าลดหย่อนทางภาษีแก่เงินที่ลงทุนใน LTF โดยกำหนดว่า ให้สามารถนำค่าลงทุนใน LTF มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท/ปี/คน ซึ่งเงื่อนไขนี้ คนที่รายได้สูงจะได้รับประโยชน์มากกว่าคนรายได้น้อย เนื่องจาก 15% ของคนรายได้สูง จะมากกว่า 15% ของคนรายได้ปานกลางถึงต่ำ ดังนั้น กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จึงได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ในค่าลดหย่อนที่ให้กับการลงทุนใน LTF ขณะเดียวกัน ก็จัดตั้งกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ที่เรียกว่า Super Savings Fund โดยให้สามารถนำเงินที่ลงทุนใน SSF มาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท ทำให้คนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยที่ต้องการลงทุนเพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษี ได้รับค่าลดหย่อนที่สูงขึ้น แต่เพดานไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เกินความสามารถของคนรายได้ปานกลาง ขณะที่คนรายได้สูงก็ได้รับผลประโยชน์ลดลง เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทีได้จาก LTF ในอดีต
"การปรับโครงสร้างภาษีในเรื่องค่าลดหย่อนทางภาษีนั้น จะเป็นการปรับเพิ่มผลประโยชน์ให้กับคนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย และลดผลประโยชน์จากค่าลดหย่อนที่คนรายได้สูงเคยได้รับลงมา เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางภาษี ขณะเดียวกัน กรมสรรพากรคาดว่า การปรับปรุงค่าลดหย่อนทางภาษีดังกล่าวจะทำให้กรมฯมีรายได้สูงขึ้น"
สำหรับค่าลดหย่อนทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีหลายรายการ หากเป็นกลุ่มสินค้าทางการเงิน เช่น รายจ่ายจากการลงทุนทุน RMF สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท/ปี หรอื เงินจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident fund นำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15 %ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท/ปี ดังนั้นหากผู้เสียภาษีมีการลงทุนทั้ง RMF และ Provident Fund เมื่อรวมวงเงินที่จะนำมาหักลดหย่อนแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท นอกจากนี้ยังมี หมวดประกัน เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี