.
เฟสบุคทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย โพสข้อความการรถไฟฯ อัปเดต แอปพลิเคชั่น “SRT Timetable กำหนดเวลาเดินรถ” เวอร์ชั่นใหม่ เปิดฟังก์ชั่นใช้งาน ตรวจสอบเวลาการเดินรถ ราคาตั๋วโดยสาร เส้นทางเดินรถ ได้ด้วยปลายนิ้ว พร้อมเพิ่มความสะดวก ค้นห้าข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟ ได้ง่ายๆ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้บริการยุค New Normal
ซึ่งทางนายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ Application “กำหนดเวลาการเดินรถ” (SRT Timetable) โดยอัปเดตเวอร์ชั่นการใช้งานใหม่ล่าสุด ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และ IOS ให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สะดวก และหลากหลายกว่าเดิม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้โดยสารยุคดิจิทัล ที่ต้องการความรวดเร็ว ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal
โดยสามารถตรวจสอบเวลาการเดินรถไฟได้ครบทุกขบวน พร้อมกับเช็กค่าตั๋วโดยสารรถไฟแต่ละประเภท ได้ผ่านทาง Mobile, Desktop และ Tablet พร้อมทั้ง ยังได้เพิ่มฟังก์ชัน ”ขบวนยอดนิยม” เพื่อแสดงขบวนรถไฟที่ประชาชนนิยมใช้บริการ อาทิ ขบวนอุตราวิถี สายเหนือ ที่จะระบุเส้นทาง ระยะเวลาเดินรถ ระยะทาง รายละเอียดของขบวน และอัตราค่าโดยสารแต่ละประเภทไว้อย่างละเอียด รวมถึงยังสามารถใช้สืบค้นข้อมูล เส้นทางที่ต้องการเดินทางได้ง่าย ๆ โดยพิมพ์หมายเลขขบวน หรือชื่อสถานี หรือสถานีต้นทาง-ปลายทาง ซึ่งระบบจะแสดงสถานะให้ทราบโดยทันที
นอกจากนี้ สามารถเลือกค้นหาตู้โดยสาร และออปชั่นสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมได้ เช่น เลือกจากตู้นอน ตู้สัมภาระ และกดค้นหา ระบบก็จะปรากฏเส้นทางและออปชั่นสิ่งอำนวยความสะดวกที่เลือกไว้ หรือจะเลือกค้นหาตามสถานีต้นทาง-ปลายทางก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีฟังก์ชันค้นหาสถานีที่อยู่ใกล้เพื่อให้ใช้บริการ ตลอดจนค้นหาหมายเลขขบวนที่จองไว้ เพื่อเช็คเวลาเดินทางได้อีกด้วย
นายเอกรัช กล่าวต่อว่า ที่สำคัญในแอปพลิเคชั่น SRT Timetable เวอร์ชันใหม่นี้ ยังเพิ่มฟังก์ชัน “ท่องเที่ยวทางรถไฟ” ที่จะระบุข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยว และขบวนรถพิเศษสำหรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ พร้อมรายละเอียดอัตราค่าโดยสาร การเดินรถ และสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละเส้นทางแบบชัดเจน หรือหากต้องการจะจองตั๋วรถไฟ ก็สามารถกดเข้าจองผ่านแอปพลิเคชั่นได้ทันที และยังมีข้อมูลข่าวสารการรถไฟ ฯ โปรโมชั่น เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ มาเซิร์ฟให้ติดตามได้ตลอดเวลา เพียงสัมผัสด้วยปลายนิ้ว
“แอปพลิเคชั่น SRT Timetable เวอร์ชั่นอัปเดตนี้ สามารถรองรับการใช้งานได้ถึง 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดได้แล้ว ทั้ง Play Store และ App Store ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
ขณะที่เมื่อวานนี้ 26 มีนาคม 2565 เป็นวันครบรอบ วันสถาปนากิจการรถไฟครบรอบ 125 ปี ทางรฟท.จัดเดินรถ "ขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษ" เส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ – อยุธยา โดยเป็นการนำขบวนรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์แบบแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเปิดให้บริการเดินรถขบวนพิเศษ ผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์กรุงเทพถึงพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 26 มีนาคม เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากิจการการรถไฟ
โดยเส้นทางการเดินรถของรถไฟขบวนพิเศษ กรุงเทพ –อยุธยา – กรุงเทพ ขบวนที่ 901/902 ออกจากสถานีกรุงเทพ เวลา 08.10 น. ถึงสถานีอยุธยา เวลา 10.15 น. ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชมสถานที่สำคัญของจังหวัด ประมาณ 6 ชั่วโมง ส่วนเที่ยวกลับจะออกจากสถานีอยุธยา เวลา 16.40 น. ถึงกรุงเทพเวลา 18.45 น.
อย่างไรก็ตามรถไฟขบวนพิเศษที่ใช้รถจักรไอน้ำรุ่นใน 1 ปี จะมีการเดินรถขบวนพิเศษในเส้นทางกรุงเทพ-อยุธยา กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพ-นครปฐม จำนวน 6 ครั้ง ได้แก่
วันที่ 26 มีนาคม วันสถาปนากิจการรถไฟ(หรือวันหยุดที่ใกล้เคียง)
วันที่ 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
วันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
วันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ
วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช
วันที่ 5 ธันวาคมวันพ่อแห่งชาติ
โดยปกหากไม่มีการเดินรถขบวนพิเศษ รถจักรไปน้ำจะถูกจัดเก็บที่โรงรถจักรธนบุรี สถานีรถไฟเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งธนบุรี ซึ่งปัจุบันเหลือเพียง 5 คัน เท่านั้น
สำหรับรถจักรไอน้ำที่นำมาใช้ในประเทศไทยเป็นคันแรก คือ รถจักรไอน้ำที่ใช้ในทางสาย กรุงเทพฯ-ปากน้ำ ซึ่งเป็นทางรถไฟราษฎร์สายแรก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ซึ่งเป็นทางรถไฟของรัฐสายแรกขึ้น กรมรถไฟในสมัยนั้น ได้นำเอารถจักรไอน้ำมาใช้ โดยนำมาใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ ลากจูงขบวนรถ ขนส่งสินค้า และคนโดยสาร รถจักรไอน้ำที่นำมาใช้ในตอนแรกๆ นั้น เป็นรถจักรแบบมีถังน้ำและที่เก็บเชื้อเพลิงในตัว ต่อมาได้วิวัฒนาการขึ้น เป็นแบบที่มีรถลำเลียงพ่วง รถลำเลียงนี้มีไว้บรรทุก เชื้อเพลิงและน้ำเพื่อใช้การในขณะที่รถจักรทำการลากจูงขบวนในระยะทางหนึ่ง