การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันนี้ จะมีการผ่อนคลายมาตรการเดินเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากปัจจุบันที่เป็นระบบ Test and go คือผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องทำการตรวจ RT-PCR จำนวน 1 ครั้งทันทีที่มาถึงประเทศไทย และตรวจ ATK เองอีกครั้งในวันที่ 5 จะปรับไปสู่เพียงขั้นตอนการตรวจด้วย ATK หรือไม่ต้องตรวจหาเชื้อเลย ซึ่งเท่ากับเป็นการปรับสู่การเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ยึดหลักป้องกันโรคควบคู่เดินหน้าเศรษฐกิจ เพิ่มเม็ดเงินท่องเที่ยวนั่นเอง
"ข้อมูลการนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ที่มีการใช้ระบบ Test and go ถือว่า ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นและการเปิดประเทศในแถบยุโรปก่อนหน้านี้ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางเข้ามาในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ดังนั้นหากยิ่งผ่อนคลายจากระบบ Test and go สู่การเปิดประเทศเต็มรูปแบบการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่า จะมีจำนวนชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก"
โดยในปี 2565 นี้ทาง ททท. ตั้งเป้ายอดหมายนักเดินทางชาวต่างชาติเอาไว้ที่ 7 ล้านคนช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ถึง 1.07 ล้านล้านบาท และกลับมาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกครั้ง
สำหรับข้อมูลล่าเดือนกุมภาพันธ์2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยผ่านโครงการ Test & Go ในรูปแบบไม่ต้องกักตัวรวมถึงโครงการ Sandbox และ Alternative Quarantine มีจำนวน 152,954 คน ขยายตัวถึง 2,564.24 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
แม้ตัวเลขจะก้าวกระโดดจากปีที่แล้ว แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดโควิด19 คือปี 2562 ตัวเลขนี้ยังลดลงถึงร้อยละ 95.75 ดังนั้นการผ่อนคลายมาตรการของ ศบค. จึงเป็นความหวังให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างมาก ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมของปีนี้ตั้งแต่ เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวน 286,857 คน ขยายตัว 2,035.15 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ก็ลดลง 96.08 % เมื่อเทียบกับปี 2562
สำหรับสัดส่วนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย แน่นอนว่าหากเป็นช่วงปี 2562 ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนมากเป็นอันดับ 1 กว่า 10 ล้านคน แต่ปัจจุบันสถานการณ์โควิดในจีนยังคงคุมเข้ม และยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนท่องเที่ยวได้อย่างเสรี ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยมากที่สุด เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากภูมิภาคยุโรปมากที่สุด 62.4 % ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 189,533 คน ซึ่งในจำนวนทั้งหมด หากดู 5 อันดับแรกในยุโรปได้แก่
1.รัสเซีย 41,622 คน เพิ่มจากปี 2564 ถึง +6,235%
2.ยุโรปตะวันออก 27,469 คน เพิ่มจากปี 2564 ถึง +5,505.92%
3.เยอรมนี 25,240 คน เพิ่มจากปี 2564 ถึง +1,662.57%
4.อังกฤษ 21,501 คน เพิ่มจากปี 2564 ถึง +1,722.12%
5.ฝรั่งเศส 19,572 คน เพิ่มจากปี 2564 ถึง +2,322.28 %
เช็คจำนวนนักท่องเที่ยวรายประเทศได้ที่ลิงค์นี้
https://mots.go.th/more_news_new.php?cid=660
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวออกมาเรียกร้องมห้ภาครัฐผ่อนคลายกฏเกณฑ์ในการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว เช่นก้อนการหารือของ ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 เมษายน 2565 ว่า แม้สำนักข่าวต่างๆ จะรายงานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย แต่ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเดือนเมษายนนี้มีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 11,623 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อวันจำนวนกว่า 50,000 คนในเดือนเมษายน 2563
ถึงแม้ว่าจะมีการยกเลิกการแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย แต่ผู้เดินทางยังต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และต้องทำการจองและชำระเงินค่าที่พักในโรงแรม 1 คืน อีกทั้งยังต้องซื้อประกันสุขภาพ เพื่อขอรับวีซ่าและหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) นั่นหมายถึงว่า ผู้เดินทางต้องผ่านกฎระเบียบหลายๆ ขั้นตอนกว่าจะเดินทางเข้าประเทศไทยได้
และเนื่องจากสถานการณ์ของการเดินทางในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวต้องการความยืดหยุ่นในการวางแผนการเดินทาง มาตรการใดๆ ที่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมหรือมีข้อจำกัดด้านการเดินทางจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ ดังนั้นเราจึงเห็นหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ได้ยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศทั้งหมด เพื่อเร่งฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ได้ประกาศยกเลิกมาตรการกักตัว รวมถึงการลงทะเบียนขออนุญาตเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และประเทศกัมพูชาที่ได้กลับมาเปิดให้บริการขอ Visa on Arrival สำหรับผู้เดินทางต่างชาติทุกคน ยกเลิกข้อกำหนดให้แสดงผลตรวจ RT-PCR ของโควิด-19 และยกเลิกข้อกำหนดในการตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK) เมื่อเดินทางมาถึงประเทศกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2565 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และประเทศมัลดีฟส์ ที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดของตนเองด้วยเช่นกัน ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเลือกที่จะยึดตามหลักปฏิบัติที่ใช้กันในหลายๆ ประเทศ โดยการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางทั้งหมด และกลับมาใช้กฎการเข้าประเทศเดิมของประเทไทย ดังเช่น ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ผมเชื่อว่า รัฐบาลไทยควรตระหนักว่าการติดเชื้อโอมิครอนจากในประเทศนั้นมีอัตราสูงกว่าการติดเชื้อจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 99 ต่อ 1 และผมยังเชื่อมั่นในประชาชนชาวไทยที่มีความเข้าใจในลักษณะโรคประจำถิ่นของเชื้อโอมิครอนและพร้อมรับมือให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่”
ดังนั้นเงื่อนไขที่ต้องมีการขออนุมัติเข้าประเทศล่วงหน้าและข้อกำหนดในการตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยนั้น ไม่มีความจำเป็นและไม่มีประสิทธิผล ผมขอเสนอให้มีการยกเลิกระบบการขอหนังสือการเดินทางเข้าประเทศไทย (Thailand Pass) ข้อบังคับเรื่องการทำประกันสุขภาพ และการตรวจโควิดเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยอย่างทันที เนื่องจากเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบโดสหรือใบรับรองแพทย์ กรณีหายจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้นก็เพียงพอต่อการอนุญาตให้เข้าประเทศแล้ว
ทั้งหมดจึงต้องจับตาดูการประชุมของ ศบค.ชุดใหญ่ในวันนี้ว่า จะพร้อมให้ไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบได้หรือไม่ ท่ามกลางความหวังว่า ถึงเวลาเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว