แคคตัส หรือ กระบองเพชร เวอร์ชันไม้ประดับขนาดเล็ก ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง และพุ่งสูงในช่วงโควิดที่ผ่านมา เพราะเลี้ยงง่ายกว่าไม้ประดับประเภทอื่นๆ ซึ่งหากเลี้ยงจนเชี่ยวชาญ ดูแลอย่างใส่ใจ ก็สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ เพื่อให้เกิดแบบใหม่ๆ ที่สวยงามได้
Spotlight พามาทำความรู้จักกับ แคคตัส ไม้ประดับยอดฮิตที่ราคามีตั้งแต่หลักสิบ ยันหลักแสน! พร้อมฟังมุมมองจากตัวจริงของวงการ
สกุลยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium)
ที่มาของชื่อ
มาจากการรวมกันของคำในภาษากรีก ว่า “gymnos” แปลว่า เปลือย กับ “Kalyx” แปลว่า วงกลีบเลี้ยง สะท้อนลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของ Gymnocalycium ซึ่งบริเวณก้านดอกและกลีบเลี้ยงไม่มีขน
จุดเด่น
นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ยิมโน” มีลักษณะเป็นลำต้นเดี่ยว แตกหน่อจากตุ่มหนาม หนามมีรูปทรงและขนาดหลากหลาย ดอกจะออกจากตุ่มหนามบริเวณยอด ยิมโนที่มีลักษณะด่าง คือมีสีหนึ่งแซมกับอีกสีหนึ่ง เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนเลี้ยงไม้สะสม
โดยสายพันธุ์ของยิมโนจะเรียกว่า “โคลน” เปรียบเสมือน รุ่น เช่น ที่ “กระท่อมลุงจรณ์” สวนแคคตัสชื่อดังในจังหวัดปทุมธานี มียิมโนชื่อดังหลายโคลนด้วยกัน เช่น เดย์ดรีม ซีเปีย พิงค์ไดมอนด์ ซึ่งมีทั้งแบบสีล้วน และแบบด่าง
(ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.baanlaesuan.com/153674/garden-farm/cactus-5)
สกุลแอสโตรไฟตัม (Astrophytum)
ที่มาของชื่อ
มาจากการรวมกันของสองคำในภาษากรีกคือคำว่า “astron” คือ ดาว และ “phyton” คือ พืช ชื่อ Astrophytum จึงหมายถึง แคคตัสที่มีรูปดาว หรือลักษณะคล้ายดาวนั่นเอง
จุดเด่น
ลักษณะเด่นของแคคตัสพันธุ์นี้ คือ ไม่มีหนาม ทำให้ดูแลง่าย มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า Kabuto (คาบูโตะ)「兜」 แปลว่าหมวก หรือหมวกซามูไรของญี่ปุ่น เป็นต้นเกือบกลม แบ่งออกเป็นหลายพู มีร่องระหว่างพูค่อนข้างตื้น บางชนิดเมื่อโตขึ้นจะมีหนามงอกออกมา มีความพิเศษอยู่ที่ลักษณะลำต้นที่แปลกตาในแต่ละสายพันธุ์ย่อย รวมถึงแอสโตรด่าง ที่มีสีที่เป็นเอกลักษณ์
สกุลแมมมิลลาเรีย (Mammillaria)
ที่มาของชื่อ
มาจากคำในภาษาละตินว่า mammilla แปลว่า จุกนม สื่อถึงตุ่มหนามที่มีลักษณะเป็นตุ่มรอบลำต้น
จุดเด่น
เป็นแคคตัสที่มีลักษณะหนามสวย ขนฟู มีหัวจุกเป็นตุ่ม เรียงรายอยู่รอบลำต้น มีดอกได้ครั้งละหลายดอกพร้อมกัน บางชนิดดอกบานพร้อมกันเป็นวงรอบต้น หรือที่เรียกกันว่า “มงลง” สามารถเลี้ยงได้ทั้งรูปทรงเดียว หรือให้แตกหน่อ โตขึ้นเป็นกอพร้อมๆ กัน
สกุลโครีแฟนทา (Coryphantha)
ที่มาของชื่อ
มาจากภาษากรีก คำว่า “koryphe” แปลว่า หัว,ส่วนบน รวมกับคำว่า “anthos” แปลว่าดอกไม้ กลายเป็นชื่อ Coryphantha ซึ่งแปลว่า มีดอกไม้อยู่บนหัว ตามลักษณะการออกดอกบนยอดของต้นนั่นเอง
จุดเด่น
ทรงตรงมีได้หลายรูปแบบ ทั้งทรงกลม ทรงกระบอก ทรงแท่ง ตุ่มหนามมีลักษณะทรงกลมหรือรูปไข่ ลักษณะของนามจะกระจายออกจากตุ่มหนาม ออกดอกหลากหลายสีสัน ทั้งเหลือง ชมพู ส้ม ม่วง แดง
ในประเทศไทย Coryphantha elephantidens เป็นที่นิยมในหมู่นักเลี้ยง จึงนิยมเรียกชื่อเล่นว่า “ช้าง”
สกุลอิชิโนฟอสซูโลแคคตัส (Echinofossulocactus)
ที่มาของชื่อ
มาจากการรวมกันของคำในภาษาละติน คือ echinos แปลว่า เม่น fossula แปลว่า ร่อง เมื่อรวมกับ cactus ซึ่งก็คือกระบองเพชร จึงมีความหมายว่า กระบองเพชรที่มีร่อง และมีหนาวเหมือนเม่น
จุดเด่น
ตามที่บ่งบอกในชื่อของสายพันธุ์นี่ ลักษณะเด่นของ อิชิโนฟอสซูโลแคคตัส คือ มีลักษณะพูที่เป็นสันชัดเจนหยักคดไปมา โดยแคคตัสพันธุ์นี้จะ ไม่แตกหน่อ บางชนิดจะมีหนามกลางขนาดใหญ่ ลักษณะดอกมีสีชมพูอมขาว ดอกเล็ก บาน 2-3 วัน ออกจากบริเวณยอด นิยมเรียกชื่อเล่นว่า “คลื่นสมอง (Brain cactus)”
สกุลโลโฟโฟร่า (Lophophora)
ที่มาของชื่อ
มาจาก การรวมกันของ lophe ที่แปลว่า หงอน และ phoros ที่แปลว่า มี สื่อถึงลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของ โลโฟโฟร่า ที่มีติ่งยื่นออกมาแทนหนามนั่นเอง
จุดเด่น
มีลักษณะเป็นก้อนกลมน่ารัก ละไร้หนามตามชื่อ โดยจะมีติ่งคล้ายขนยื่นออกมาจากตุ่มหนามแทน ผิวนุ่ม บางคนเรียกว่า “ซาลาเปา” ดอกของโลโฟโฟร่า จะขึ้นมาเป็นกระจุกอยู่ด้านบนสุดของลำต้น สีดอกขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
ในแวดวงคนเลี้ยงกระบองเพชร จะแบ่งแคคตัสแบบกว้างๆ ออกเป็นสองกลุ่มคือ “ไม้ตลาด” คือ แคคที่มีลักษณะทั่วไป หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด มีราคาตั้งแต่หลักสิบ ถึงหลักร้อยบาท และ “ไม้สะสม” ซึ่งเป็นแคคตัสที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเกิดจากการคัดเลือก และพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้เกิดลายด่างที่สวยงาม มีรูปทรงแปลกตา หรือมีลักษณะดอกที่สวยงาม ซึ่งกลุ่มนี้ราคาอาจขยับขึ้นไปตั้งแต่หลักพัน จนถึงหลักแสนเลยทีเดียว! หาซื้อได้ยากกว่าไม้ตลาด อาจต้องหาตามสวนแคคตัส งานประมูล หรือตามกลุ่มผู้เลี้ยงแคคตัส
จากการสัมภาษณ์ตัวแทนผู้หลงใหลในแคคตัส 2 ท่าน ได้แก่ คุณแมว บรรณาธิการ และ คุณโอห์ม นักเขียนจากบ้านและสวน ให้ความเห็นตรงกันว่า หากมองในเชิงธุรกิจ การเลี้ยงไม้ตลาดเพื่อขายจะได้ส่วนต่างราคาต่อต้นน้อย แต่จะได้จำนวนเข้ามาทดแทนเนื่องจากขายได้คราวละหลายต้น แต่ธุรกิจไม้ตลาดนี้ มีความเสี่ยงเช่นเดียวกันกับธุรกิจสินค้าแมสทั่วไปคือ อาจถูกแทนที่ได้ง่าย และคนส่วนใหญ่ก็มักจะเลิกรากันไป เมื่อกระแสแคคตัสหดตัวลง
หัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจการเลี้ยงแคคตัสพัฒนาจาก ไม้ตลาด เป็นไม้สะสม และยืนระยะได้อย่างยาวนาน คือ “ความรู้ และ ความรัก” มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องแคคตัสแต่ละสายพันธุ์ ว่าต้องเลี้ยงดูอย่างไร ออกดอกช่วงไหน ผสมพันธุ์อย่างไร เพื่อให้ได้ลวดลายและสีสันที่แปลกตาไม่เหมือนใคร และต้องมีความรักในต้นไม้จริงๆ ไม่ได้มองเป็นเพียงธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่มองแคคตัสแต่ละต้นเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่เราอยากจะดูแลให้ดี และเมื่อต้องส่งมอบเปลี่ยนมือให้คนอื่น เราก็พร้อมให้คำแนะนำเพื่อให้ดูแลแคคตัสต้นนั้นๆ ให้เติบโตได้ต่อไป
คุณภูเขา ชากะสิก ทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง “กระท่อมลุงจรณ์” แบ่งปันมุมมองความรักที่มีต่อแคคตัสให้ Spotlight ฟังว่า เสน่ห์ของแคคตัสคือ “ต้นไม้ที่ไม่เหมือนต้นไม้” เพราะไม่ได้เป็นอาหาร ตกแต่งบ้าน หรือให้ร่มเงาเหมือนพืชอื่นๆ แต่เป็นของสะสมที่อุดมไปด้วยความรักและคุณค่าทางจิตใจจากเจ้าของ แถมยังมีความแตกต่างจากของสะสมทั่วไปตรงที่ สามารถนำมาผสมข้ามต้น พัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้เกิดเป็นแคคตัสที่มีลวดลาย และสีสันแบบใหม่ ที่หายากและทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
โดยคุณภูเขา ได้นำแคคตัสส่วนหนึ่ง มาให้แฟนๆ ได้ยลโฉมทางช่อง “Cactus Journey” โดยแต่ละต้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจ มีที่มาจากทั้งในไทย และส่งตรงจากญี่ปุ่น ราคาแต่ละต้นหลักแสน โดยคุณภูเขามองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะได้ชมความสวยงามของแต่ละต้นแล้ว ยังสามารถนำหน่อที่เกิดจากแต่ละต้นมาเพาะพันธุ์ หรือพัฒนาสายพันธุ์ต่อได้อีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเริ่มเลี้ยงแคคตัส Spotlight ขอแนะนำหนังสือ 3 เล่ม โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน โดย คุณ โอห์ม ภวพล ศุภนันทนานนท์ นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านแคคตัส ได้แก่
หนังสือคู่มือรวมเรื่องราวเกี่ยวกับแคตตัส(กระบองเพชร) และไม้อวบน้ำในวงการ ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาทั้งในต่างประเทศ จนถึงแพร่หลายมาถึงเมืองไทย และรวบรวมนักเลี้ยงในอดีตและปัจจุบันไว้ไม่ต่ำกว่า 15 ท่าน พร้อมพรรณไม้สะสมขอแต่ละท่าน
ตำรา”แคคตัส”ภาษาไทยที่ยอดเยี่ยมและสมบูรณ์ที่สุดของวงการ บอกเล่าเรื่องราวของแคคตัสตั้งแต่ประวัติความเป็นมา การปลูกเลี้ยง ขยายพันธุ์ การดูแลรักษา
อัพเดตข้อมูลใหม่ๆ ด้วยการรวมเรื่องราวการพัฒนาสายพันธุ์แคคตัสและไม้อวบน้ำในเมืองไทย และรวบรวมชนิดและลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ ที่คนไทยนำเข้ามาปลูกเลี้ยงและปรับปรุงพันธุ์ขึ้นจนได้รับการยอมรับในท้องตลาด มากกว่า 300 ชนิด/พันธุ์
สามารถหาซื้อได้จากทางช่องทางออนไลน์ และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Cactasy