Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ไทยเข้าสู่ Super-Aged Society เร็วขึ้น กระทบประเทศไทยอย่างไร?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ไทยเข้าสู่ Super-Aged Society เร็วขึ้น กระทบประเทศไทยอย่างไร?

13 เม.ย. 66
08:00 น.
|
572
แชร์

วันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากเป็นวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยแล้ว ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกมาระบุว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด (Super-Aged Society) เร็วขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม 2 ปีจากเดิมอีก 2574  เป็น 2572
ทำไมผู้สูงอายุในไทยถึงเพิ่มมากขึ้น และ จะเกิดอะไรขึ้นหากไทยเข้าสู่ Super-Aged Society

ก่อนอื่นมาดูเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดเกณฑ์สังคมผู้สูงอายุไว้ดังนี้ 

  • สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) คือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด 

  • สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Aged society) คือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด

  • สังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด (Super-Aged Society) คือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศของโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน ที่สูญเสียตำแหน่งจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลกให้กับอินเดีย เนื่องจากเผชิญการลดลงของจำนวนประชากรเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ จากการลดลงของอัตราการเกิดและภาวะการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) อย่างมีนัยสำคัญแม้จะผ่อนปรนมาใช้นโยบายลูกคนที่สามตั้งแต่ปี 2564 ก็ตาม

ญี่ปุ่น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่ลดลงและความเป็นสังคมสูงอายุเรื้อรังอาจรุนแรงจนกระทั่งญี่ปุ่นอาจหายไปจากแผนที่โลกได้ และทางการเตรียมเพิ่มอายุเกษียณของข้าราชการพลเรือนจาก 60 ปีเป็น 61 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้

เกาหลีใต้ เป็นอีกประเทศที่อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงมาต่ำที่สุดแซงหน้าทุกประเทศแม้กระทั่งญี่ปุ่น


ฝรั่งเศส อยู่ระหว่างการปฏิรูประบบบำนาญจนนำมาสู่เหตุประท้วงใหญ่ 

สำหรับไทยนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคธุรกิจและรัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งจัดการ 

สังคมผู้สูงอายุของไทย

 สาเหตุของการที่ไทยเข้าสู่ Super-Aged Society ในปี 2572 

  1. ประชากรไทยมีจำนวนลดลงแล้วตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเร็วขึ้นถึง 9 ปีเมื่อเทียบกับที่เดิมเคยคาดกันว่าจะเริ่มลดลงในปี 2572 และจำนวนที่ลดลงนี้เกิดขึ้นติดต่อกันแล้ว 3 ปีในช่วงปี 2563-2565 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มแซงหน้าจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2564-2565 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการระบาดของโควิด

  2. อัตราการเกิดและภาวะการเจริญพันธุ์ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอัตราการเกิดอยู่ที่เพียง 0.76% ส่วนภาวะการเจริญพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 1.33 ขณะที่ ประชากรรุ่น Baby Boomer (เกิดช่วงปี 2506-2526) ราว 1 ล้านคน กำลังจะเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปีเป็นจำนวนมากในปี 2566 นี้

  3. การปรับเพิ่มอัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์อาจไม่ง่าย ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่แน่นอนสูง ประชาชนมีความกังวลต่อความไม่มั่นคงด้านรายได้ในยุคค่าครองชีพสูง รวมถึงความกังวลต่อเหตุการณ์แวดล้อมทั้งการเกิดวิกฤตโรคระบาดใหม่ ภัยธรรมชาติ วิกฤตความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้เกิดค่านิยมที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการมีบุตร

 จะเกิดอะไรขึ้นหากไทยเข้าสู่ Super-Aged Society 

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นโจทย์สำคัญที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะตามมา เนื่องจาก

  1. รายได้ธุรกิจอาจถูกกระทบหากลูกค้ายังคงใช้จ่ายไม่ต่างจากเดิม แต่ฐานลูกค้ามีจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆ หมายความว่า หากธุรกิจต้องการรักษาการเติบโตของรายได้ไว้ จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้ลูกค้าหนึ่งคนใช้จ่ายมากขึ้นมากเมื่อเทียบในอดีตที่ยังอาศัยการเพิ่มจำนวนลูกค้าได้ ซึ่งการใช้จ่ายของลูกค้าจะเพิ่มขึ้น ก็ต่อเมื่อลูกค้าเห็นถึงความคุ้มค่าของสินค้าและบริการนั้นๆ หรือมิฉะนั้น ลูกค้าก็ต้องมีกำลังซื้อมากขึ้น มีเงินออมสะสม หรือมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง ขณะที่ กำลังซื้อผู้บริโภคในปัจจุบันยังคงมีความเปราะบาง ฟื้นตัวไม่เต็มที่จากวิกฤตซ้อนวิกฤต เงินออมมีน้อย มีหนี้ที่สูง ผลตอบแทนจากการลงทุนมีความผันผวน ซึ่งไปข้างหน้า สถานการณ์ก็คงจะไม่สามารถพลิกเป็นบวกได้อย่างรวดเร็ว

  2. รูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่เสนอต่อลูกค้าต้องมีการปรับเปลี่ยน จากผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับเด็กและวัยทำงานที่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนว่า หากผู้ประกอบการธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่แตกต่างและตอบโจทย์ผู้สูงวัยในราคาที่เอื้อมถึงได้ (ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากยังมีข้อจำกัดด้านรายได้และกำลังซื้อ) ก็จะมีโอกาสสร้างรายได้ให้เติบโต ขณะเดียวกัน สินค้าและบริการที่เจาะประชากรเด็กและวัยทำงาน ก็คงต้องพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มด้านคุณภาพท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ไม่เพียงการวางตำแหน่งทางการตลาดผ่าน Fragmented Segmentation เท่านั้น ผู้ประกอบการอาจเล็งกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่าตลาดในประเทศ โดยอาจพิจารณาการเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมสินค้าไทยหรือตลาดระดับภูมิภาค เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น

  3. ต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะการขาดแคลนกำลังแรงงานและการปรับมาใช้เทคโนโลยี/เครื่องจักร แน่นอนว่า เมื่อประชากรน้อยลง ธุรกิจคงต้องแข่งกันเสนอค่าตอบแทนแรงงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ/ทักษะสูง/ทำได้หลายหน้าที่ เร่งพัฒนาทักษะหรือผลิตภาพแรงงานให้เท่าทันความต้องการของตลาดที่ซับซ้อนขึ้น หรือถ้าจะใช้เทคโนโลยี/เครื่องจักร ก็ต้องมีเงินลงทุน สะท้อนว่า ต้นทุนธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% ของต้นทุนรวม   

สังคมผู้สูงอายุของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจต่างๆ คงต้องเร่งปรับตัวและเตรียมการรองรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับโจทย์อีกหลายด้านพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น การปรับตัวได้เร็วและมองได้ครบถ้วน ย่อมสร้างความได้เปรียบและเป็นโอกาสจะเพิ่มรายได้สุทธิ ซึ่งแต่ละธุรกิจ คงมีหน้าตักและ Solutions ที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ ไม่เพียงภาคธุรกิจเท่านั้น การเป็นสังคมสูงอายุสุดยอดที่อาจมาเร็วขึ้นนี้ ก็นับว่าเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเร่งจัดการ เพราะเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงต่อทิศทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่และความสามารถในการแข่งขันของประเทศการวางแผนงบประมาณทั้งด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เบี้ยผู้สูงอายุ สวัสดิการแรงงาน และที่สำคัญสถานะความเพียงพอของกองทุนประกันสังคมในระยะข้างหน้า 

 

แชร์

ไทยเข้าสู่ Super-Aged Society เร็วขึ้น กระทบประเทศไทยอย่างไร?