Spotlight ชวนวิเคราะห์ว่า ทำไมแก๊งจีนเทาจึงลวงหญิงไทยนับร้อยคน ไปอุ้มบุญ-รีดไข่ไกลถึงจอร์เจีย ประเทศนี้มีอะไรที่เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการสุ่มเสี่ยงค้ามนุษย์เช่นนี้
ตำรวจสากล และทางการไทยร่วมมือกัน ช่วยเหลือหญิงชาวไทยทั้ง 4 คน กลับมาจากจอร์เจีย หลังพวกเธอถูกติดต่อจากนายหน้าให้ไปรับจ้างอุ้มบุญที่ประเทศจอร์เจีย แลกกับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหลักหมื่นบาท แต่พอไปถึงปรากฎว่า พวกเธอถูกจับเข้าไปในหอพักที่มีหญิงไทยอยู่รวมกันมากกว่า 80 คน ก่อนจะถูกชาวจีนกลุ่มหนึ่งพาไปตรวจร่างกายเพื่อเตรียมรีดไข่ ไม่ใช่การอุ้มบุญที่มีคู่พ่อแม่มาเซ็นสัญญากันตามที่แจ้งไว้ก่อนตัดสินใจเดินทางมาดินแดนแห่งนี้
นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เปิดเผยว่าผู้เสียหายที่เดินทางไปหลายคนไม่ได้เงินค่าจ้าง หากเรียกร้องว่าอยากจะกลับบ้าน จะต้องฉีดยาเร่งไข่และรีดไข่ เพื่อนำไข่เหล่านั้นส่งออกไปยังประเทศที่สาม ซึ่งเข้าข่ายการค้ามนุษย์อย่างชัดเจน Spotlight World ชวนตั้งคำถามและวิเคราะห์หาคำตอบ ว่าเหตุใดกระบวนการค้ามนุษย์จึงเลือก “จอร์เจีย” เป็นประเทศที่ใช้ลวงสาวไทยมาอุ้มบุญ-รีดไข่
จอร์เจียเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่อง “การอุ้มบุญถูกกฎหมาย” โดยรัฐบาลอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1997 รวมถึงการบริจาคไข่และการบริจาคอสุจิ จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของพ่อแม่ที่มีบุตรยากหรือแม้แต่พ่อแม่คู่รักเพศเดียวกันจากทั่วโลก ที่สำคัญยังอนุญาตให้มีอุ้มบุญเชิญพาณิชย์ ซึ่งหมายถึงผู้ที่เป็นแม่อุ้มบุญทำหน้าที่ตั้งครรภ์สามารถได้รับค่าตอบแทนได้ได้เสมือนการจ้างงานอย่างหนึ่ง
สำหรับประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มอนุญาตให้การอุ้มบุญถูกกฎหมายบ้างแล้ว แต่ข้อจำกัดจะแตกต่างกันไป เช่น แคนาดา สหรกรีซ อินเดีย รวมถึงประเทศไทยเอง ก็อนุญาตให้มีการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์แก่คู่สมรสที่ไร้บุตร แต่ไม่อนุญาตให้แม่อุ้มบุญได้รับค่าตอบแทน ขณะที่สหรัฐอเมริกา กฎหมายอุ้มบุญมีความแตกต่างไปในแต่ละรัฐ ซึ่งบางรัฐการอุ้มบุญยังนับว่าผิดกฎหมายอยู่ ได้แก่ รัฐนิวยอร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ และรัฐมิชิแกน ส่วนประเทศที่อุ้มบุญเชิงพาณิชย์ได้ มียูเครน รัสเซีย และจอร์เจีย
แม้ว่าการอุ้มบุญในจอร์เจียจะถูกกฎหมาย แต่กฎหมายก็ระบุให้มีการทำสัญญาระบุรายละเอียดข้อตกลงระหว่างคู่สมรสและแม่อุ้มบุญอย่างชัดเจน ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องมีทนายความและพยานรับรองด้วย รวมถึงมีข้อห้ามที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการโฆษณาหรือชักชวนให้มีการอุ้มบุญ ห้ามมิให้มีการบังคับให้ผู้หญิงเป็นแม่อุ้มบุญ และห้ามมิให้มีการซื้อขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน ดังนั้น ขบวนการบังคับรีดไข่จากหญิงไทย ที่อาจใช้ช่องว่างเรื่องการ “การบริจาคไข่” แต่กลับลักลอบส่งออกไปประเทศที่สาม นับว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญาของจอร์เจียอย่างแน่นอน
เมื่อเปรียบเทียบจอร์เจียกับประเทศที่อนุญาตให้มีการอุ้มบุญอื่น ๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายในประเทศจอร์เจียนับว่ามีราคาถูกมากที่สุดประเทศหนึ่ง เมื่อเทียบกับอเมริกาหรือยุโรปบางประเทศ ค่าใช้จ่ายโดยรวมสำหรับการอุ้มบุญในจอร์เจียอาจอยู่ที่ประมาณ 30,000 - 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณหนึ่งล้านบาท จนถึงสองล้านสี่แสนบาท เฉพาะค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ที่ต้องมีกระบวนการตรวจร่างกายก่อนเก็บไข่-ฝังตัวอ่อน ไปจนถึงคลอดบุตรและดูแลร่างกายคุณแม่หลังคลอด หรืออาจสูงกว่านั้นขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล-คลินิกที่เลือกใช้บริการและวิธีการอุ้มบุญซึ่งแตกต่างกันออกไป
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ stork-service ผู้ให้บริการอุ้มบุญในจอร์เจีย มีการแจกแจงค่าใช้จ่ายของสถาบันดังนี้
ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม (เช่น การขนส่งด้วยความเย็นจัด การวินิจฉัยทางพันธุกรรมก่อนการปลูกถ่าย - PGD): แตกต่างกันไปตามบริการ
นอกจากนี้ ค่าครองชีพในจอร์เจียนั้น โดยทั่วไปถือว่าค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ทั้งราคาอาหารในร้านอาหารหรือวัตถุดิบจากซูเปอร์มาร์เก็ต อยู่ที่ประมาณ 5 - 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อมื้อหรือไม่เกิน 350 บาท รวมถึงค่าเช่าที่พักระยะยาว ไม่ได้แพงจนเกินไป หากคู่รักจะต้องจ้างแม่อุ้มบุญและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 1 ปีเต็ม ๆ และตัวคู่รักเองอาจต้องเดินทางมาพบแพทย์หรือเยี่ยมเยียนแม่อุ้มบุญระหว่างตั้งครรภ์ จอร์เจียจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้ไม่สูงจนเกินไป
เมื่อจอร์เจียกลายเป็นเป้าหมายที่คู่รักทั่วโลกได้สมหวังเรื่องการมีบุตร โรงพยาบาล เอเจนซี่ และบริษัทเอกชน ต่างสามารถทำธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างรายได้ ดังนั้น ค่าตอบแทนที่คนไทยจะได้จากการเป็นแม้อุ้มบุญในจอร์เจียถือว่าค่อนข้างสูง โดยทั่วไปแล้ว ค่าตอบแทนอาจอยู่ที่ประมาณ 15,000 - 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 500,000 - 1,000,000 บาท ซึ่งสำหรับสาวไทยที่ถูกหลอกไปรีดไข่ที่จอร์เจียนั้น ได้รับการติดต่อจากนายหน้าว่าจะได้รับค่าตอบแทนรวม ๆ 400,000 - 600,000 บาท รวมถึงค่าจ้างรายเดือนหลักหมื่น แต่จากคำกล่าวอ้างของ 4 สาวที่ทางการไทยช่วยกลับมาได้ ระบุว่ายังไม่ได้รับค่าจ้างเลย แต่ก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปถึงจอร์เจีย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ คนไทยนิยมไปเที่ยวจอร์เจียมากขึ้น เห็นได้จากรีวิวของนักเดินทางบนโลกออนไลน์ ถ่ายรูปคู่กับวิวที่สวยงาม ที่มาพร้อมกับคำเชิญชวนอย่าง “เที่ยวง่าย ไม่ง้อวีซ่า” เนื่องจากประเทศไทยและจอร์เจียได้ลงนามในข้อตกลงยกเว้นการขอวีซ่าระหว่างกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปี 2013 และอนุญาตให้พำนักอยู่ได้เป็นเวลานานถึง 365 วัน นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ขบวนการรีดไข่ในจอร์เจียพุ่งเป้าหมายลักลอบแม่อุ้มบุญจากไทยเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การเดินทางจากไทยไปจอร์เจียยังไม่มีเส้นทางบินตรง สาวไทยทั้งสี่คนมีคนไทยพาขึ้นเครื่องจากสนามบินอู่ตะเภา เพื่อไปเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ และลงเครื่องปลายทางที่อาร์เมเนีย ประเทศเพื่อนบ้านของจอร์เจีย ซึ่งคนไทยไม่ต้องใช้วีซ่าเช่นกัน ก่อนที่จะถูกส่งต่อให้นายหน้าชาวจีน ที่พาพวกเธอไปยังหอพักนรกหลังดังกล่าว เพื่อทำการรีดไข่-ผสมเทียมต่อไป เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกเปิดโปงแล้ว แต่อย่าลืมว่ายังมีผู้หญิงไทยที่ถูกค้ามนุษย์อยู่ในจอร์เจียอีกจำนวนมาก การให้ความช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องท้าทาย เมื่อหญิงไทยหลายคนสมัครใจไปเพราะต้องการค่าตอบแทนเลี้ยงชีพ ขณะที่จอร์เจียไม่มีสถานทูตไทยตั้งอยู่ในดินแดน จึงเป็นการยากที่จะติดต่อกันระหว่างสองประเทศ
ล่าสุด นางปวีณา หงสกุล กล่าวว่าเธอเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลจีน ที่จะเร่งปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจีนตรวจสอบเส้นทางการลักลอบซื้อ-ขายไข่ของผู้หญิง เนื่องจากเข้าค่ายผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และขั้นตอนการรีดไข่ต่อผู้หญิงที่ถูกกังขังหน่วงเหนี่ยว นับว่าเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม