“อลิซ กัว! อลิซ กัว!” เสียงเชียร์ของชาวบ้านในเมืองบัมบัน ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ดังกึกก้อง ต้อนรับนักการเมืองท้องถิ่นสาววัย 31 ปี คนหน้าใหม่ไฟแรงที่จะมาเป็นความหวังของชุมชน เธอมีชื่อว่า “อลิซ ลีล กัว” ชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน ผู้ให้คำมั่นในการหาเสียงว่า เธอนำพาความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ ด้วยน้ำเสียงอันสดใสร่าเริง ถูกใจชาวฟิลิปปินส์ในพื้นที่ จนเทคะแนนเสียงให้อย่างถล่มทลาย
เธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมืองในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยนำพลังหญิงสาวแห่งความเยาว์วัยมาเปลี่ยนอาคารศาลาว่าการเทศบาลบัมบันเป็นโทนสีชมพู และดอกไม้หวานแหวว สะท้อนสีแห่งสัญลักษณ์ของตัวเธอตั้งแต่ช่วงหาเสียง ท่ามกลางความอิ่มเอมใจของผู้หญิงในเมือง เพราะหลายคนออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอช่างเอาใจใส่และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งมอบทุนการศึกษา อาหาร ยารักษาโลกแด่ผู้ยากไร้ จัดหางานให้แรงงานผู้หญิง และนำพาร้านอาหารดังอย่างแมคโดนัลด์ และจอลลีบี มาเปิดในเมืองได้สำเร็จ
หลังจากดำรงตำแหน่งอย่างสง่ามาได้ประมาณปีครึ่ง ชีวิตของอลิซ กัว ก็ต้องเปลี่ยนไป ไม่มีใครคาดคิดว่า วันนี้เธอได้เข้าไปอยู่ในคุกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในความผิดฐานฟอกเงิน แถมล่าสุดยังถูกตั้งข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์อีกด้วย เกิดอะไรขึ้นกับนักการเมืองท้องถิ่นภาพลักษณ์ใสสะอาด ชาวเมืองบัมบันพลาดตรงไหน ถึงเสียท่าให้กับผู้หญิงที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สายลับจีนเทาตัวแม่”
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2567) ตำรวจฟิลิปปินส์ได้รับรายงานเกี่ยวกับแรงงานเวียดนามคนหนึ่งที่พยายามหลบหนีจากการคุมขังของบริษัทซุนหยวน หรือ Zun Yuan Technology Incorporated บริษัทที่มีเจ้าของคนจีน ตั้งฐานในเมืองบัมบัน จึงขยายผลบุกเข้าตรวจสอบคอมเพล็กซ์แห่งนี้ โดยนายมาร์วิน เดอ ลา ปาซ เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการต่อต้านอาชญากรรมฟิลิปปินส์ PAOCC ได้บอกเล่านาทีระลึกปฏิบัติการจู่โจมให้กับผู้สื่อข่าว BBC ในภายหลัง
นายเดอ ลา ปาซและทีมตรวจค้นสงสัยว่า แผนการโจมตีของพวกเขาถูกเปิดเผย จึงรีบเข้าบุกค้นนำหน้าเจ้าหน้าที่หลายคน พร้อมกับเห็นว่าพนักงานจำนวนมากพยายามวิ่งหลบหนีสวนทางออกมา บางส่วนของฐานบริษัทรายล้อมด้วยกำแพงสูง จึงไม่เคยมีใครเห็นความยิ่งใหญ่ เมื่อบุกเข้าไปได้ พวกเขาจึงรู้สึกอึ้งไม่น้อยถึงความอลังการของอาคาร 36 หลัง กินพื้นที่ราว 20 เอเคอร์ ว่าแต่อลิซ กัว เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทแห่งนี้ได้อย่างไร และพวกเขามีความผิดอะไร?
ซุนหยวน เป็นบริษัทการพนันและความบันเทิงออนไลน์ที่ถือใบอนุญาตผู้ประกอบการการพนันนอกชายฝั่งของฟิลิปปินส์ หรือที่เรียกว่า Pogo ซึ่งกฎหมายนี้เป็นผลพวงมาจากยุคอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ในปี 2017 ที่เขาผ่อนปรนกฏระเบียบเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาลงทุนในฟิลิปปินส์มากขึ้น ทำให้จำนวนธุรกิจแนว Pogo พุ่งสู่งขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และบริษัทจีนเทาก็จะใช้ใบอนุญาตนี้ปกปิดการกระทำผิด ทั้งหลอกลวงต้มตุ๋น ใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย และมีการกักขังหน่วงเหนี่ยวอีกด้วย
ทั้งนี้ ซุนหยวนเลือกเมืองบัมบันเป็นที่ตั้งฐาน โดยได้รับใบประกอบอนุญาตดังกล่าวจากอลิซ กัว ซึ่งมีอำนาจมอบให้ในฐานะนายกเทศมนตรี ภายหลังการบุกค้น เจ้าหน้าที่พบหลักฐานสแกมเมอร์มากมาย เช่น สคริปต์แนวโรแมนซ์สแกม ที่ให้หญิงสาวโทรตุ๋นเงินจากชายชาวฟิลิปปินส์และชายทั่วโลก หลอกให้รัก-หลอกให้ลงทุน ตามรายงานของเด ลา ปาซ เขากับเพื่อนร่วมงานพบชาวต่างชาติมากกว่า 300 คนในบริเวณบัมบัน โดยหลายคนทำงานที่นั่นโดยไม่สมัครใจ
อาณาจักรฐานสแกมเมอร์ภายใต้กำแพงลวดหนาม เปรียบเสมืองเมืองแห่งหนึ่งที่มีอิสระจากโลกภายนอก สถานที่แห่งนี้มีทั้งสนามบาสเกตบอล ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และที่พักของพนักงานให้อยู่ห้องละ 6 คน ขณะเดียวกันก็มีโซนแยกออกไปของชนชั้นเจ้านาย เรียกได้ว่าอยู่อย่างลูกพญานาหมื่น ห้องนั่งเล่นที่บุด้วยหินอ่อนมีระบบความบันเทิงระดับไฮเอนด์ จอภาพรักษาความปลอดภัย และเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็งที่ประณีต หลังบ้านมีสระว่ายน้ำ ข้างๆ มีบันไดที่นำลงไปยังอุโมงค์หลบภัย
แต่หากลูกน้องของพวกเขาทำยอดไม่ถึง หลอกใครลงทุนไม่ได้ละก็ สถานที่แห่งนี้ก็ไม่ต่างจากนรกบนดิน เพราะพวกเขาจะถูกทำร้ายร่างกายจากเบาไปถึงหนัก หนึ่งในบทลงโทษสุดแปลกที่เจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานได้คือการคัดภาษาจีนลงสมุด เขียนว่า “ฉันจะบรรลุเป้าหมายพรุ่งนี้” เป็นร้อย ๆ ครั้ง
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวจุดประกายให้เกิดการล่าแก๊งอาชญากรบังหน้าด้วยธุรกิจ Pogo ในฟิลิปปินส์อย่างเข้มงวด รวมถึงในช่วงกลางปี พ.ศ. 2567 ประธานาธิบดีมาร์กอสประกาศห้ามดำเนินธุรกิจ Pogo เพิ่มเติมอีกโดยเด็ดขาด ตั้งแต่นั้นมา ตำรวจฟิลิปปินส์ได้เข้าตรวจค้นแหล่งทุจริตหลายแห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อพิจารณาจากอิทธิพลของกลุ่มอาชญากรที่มีอิทธิพลมากขึ้น ก็มีความกังวลว่าการรั่วไหลข้อมูลภายในกองกำลังรักษาความปลอดภัยและสถาบันของรัฐบาลอาจทำให้ผู้กระทำความผิดหลบหนีการจับกุมได้ทัน
นอกจากอลิซ กัว จะใช้อำนาจเปิดทางมอบใบอนุญาตให้แก๊งจีนเทาซุนหยวนเข้ามาตั้งฐานในเมืองแบมบันแล้ว เจ้าหน้าที่ยังพบว่า อาณาจักรสแกมเมอร์แห่งนี้ยังสร้างบนที่ดินที่เคยเป็นของกัวมาก่อนและชื่อของเธอยังปรากฏอยู่ในใบแจ้งค่าไฟฟ้าด้วย หน้ากากนักการเมืองผู้ใสซื่อและเป็นความหวังของชุมชนจึงถูกกระชากออกอย่างไม่มีชิ้นดี
ก่อนหน้านี้ ชื่อของอลิซ กัว เป็นที่รู้จักในเมืองบัมบัน และพื้นที่มุมหนึ่งในกรุงมะนิลาเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เธอถูกเรียกให้ไปปรากฏตัวต่อวุฒิสภาเพื่ออธิบายถึงความเชื่อมโยงของเธอกับแก๊งอาชญากรข้ามชาติดังกล่าว จากนารีขี่ม้าขาว กลายเป็น “สาวความจำเสื่อม” ที่ชาวฟิลิปปินส์ทั่วประเทศต่างล้อเลียน เนื่องจากเธอตอบคำถามต่อวุฒิสภาไม่ได้ เกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กหรือในอดีตของเธอ เธอให้ข้อมูลเพียงแค่เติบโตมาในฟาร์มหมู พ่อเป็นชาวจีน แม่เป็นคนฟิลิปปินส์ แต่จำไม่ได้เลยว่าครอบครัวอยู่ที่ไหน
เธอแจ้งต่อสมาชิกวุฒิสภาว่าธอได้ขายหุ้นในที่ดินของเธอไปก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี และการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้กับซุนหยวนนั้นเป็นเพียงมาตรการทางการบริหารเท่านั้น ความน่าสงสัยและไม่น่าเชื่อถือในตัวกัว ยิ่งทวีความรุนแรงหนักขึ้นอีก เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลในสิงคโปร์ตัดสินให้อดีตหุ้นส่วนทางธุรกิจชาวจีน 2 รายของกัว มีความผิดฐานฟอกเงิน
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าประชาชนจะให้ความสนใจคดีของเธอเป็นอย่างมาก แต่กัวก็สามารถหลบเลี่ยงคำสั่งห้ามเดินทางของศาลและหลบหนีไปยังอินโดนีเซียได้สำเร็จ แต่ไม่กี่เดือนต่อมา เธอก็ถูกจับกุมอีกครั้งและส่งตัวกลับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สอบสวนของฟิลิปปินส์ยังค้นพบว่า อลิซ กัวมีลายนิ้วมือตรงกับเด็กสาวที่ชื่อ กัว หัวผิง ซึ่งเดินทางมาถึงฟิลิปปินส์พร้อมกับแม่ของเธอ ซึ่งเป็นคนจีนเช่นกัน ในช่วงต้นทศวรรษปี 2000
การเปิดเผยนี้ทำให้เกิดการสอบสวนในวุฒิสภาอีกครั้ง โดยเป็นประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่า กัวอาจเป็นสายลับที่มีอิทธิพลหรือรวบรวมข้อมูลข่าวกรองให้กับรัฐบาลจีน แนวคิดดังกล่าวแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ประชาชน ด้านเจย์ เบเคมา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะทำงานสืบสวนหาความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอาชญากรต้มตุ๋นกับหน่วยข่าวกรองของจีน กล่าวว่า ฉันค่อนข้างจะเชื่อว่าเธอไม่ได้วางแผนที่จะเป็นสายลับ แต่เธอถูกเลือกให้เป็นสายลับโดยรัฐบาลจีน เพราะมีสายสัมพันธ์กับอาชญากร และการที่เธอมีอิทธิพลต่อการเมืองและรัฐบาลท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม คนอื่นๆ แสดงความสงสัยต่อข้อกล่าวหานี้มากขึ้น ตามที่เทเรซิตา อัง ซี ผู้นำชุมชนชาวจีน-ฟิลิปปินส์โต้แย้งว่าข้อกล่าวหานี้ดูชอบกล เพราะไลฟ์สไตล์ของกัวดูไม่ได้ลึกลับ เธอเป็นคนที่มองเห็นได้ชัดเจน เธออวดไลฟ์สไตล์ของเธอ แถมสถานที่ตั้งรกรากของเธอยังเป็นเมืองเล็ก ๆ ในบัมบันที่อยู่กลางเกาะลูซอนไม่ได้อยู่ใกล้กับสหน่วยงานสำคัญใด ๆ ของฟิลิปปินส์ จึงไม่น่าใช่คนที่รัฐบาลจีนจะส่งมาทำอะไรแบบนี้