ในปัจจุบัน ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสร้างระดับสุดตลอดกาลครั้งใหม่ที่ 3,045.25 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังสามารถผ่านระดับราคาจิตวิทยาที่ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการปรับตัวขึ้นราว 15.0% จากต้นปีที่ผ่านมา (YTD)
ทั้งนี้ราคาทองคำได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 ม.ค. หรือราว 2 เดือนที่ผ่านมา
ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา พบความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะแผนการด้านภาษีศุลกากร โดยมีการประกาศแผนการด้านภาษี กับประเทศและกลุ่มสินค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่การประกาศดังกล่าว นับว่าไม่มีแบบแผนที่แน่ชัด หรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติในหลายครั้งหลายครา
ขณะที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากแผนการภาษีฯของสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา มักประกาศแผนการตอบโต้เช่นกัน อาทิ จากแผนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่ 25.0% ของสหรัฐ สหภาพยุโรปทำการตอบโต้ด้วยแผนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ มูลค่า 2.6 หมื่นล้านยูโร โดยได้ชี้แจงพิ่มเติมว่า การตอบโต้ดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหภาพยุโรป
การดำเนินแผนการด้านภาษีศุลกากรเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งนำไปสู่การก่อสงครามการค้ากับหลายประเทศ นับเป็นการสร้างความเสี่ยงด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomic risk) ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าว ถูกประเมินว่า มีแนวโน้มชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ฉบับล่าสุด ที่ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สหรัฐ และประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีกหลายแห่งลง ทั้งในปีนี้และปีหน้า
อนึ่งเศรษฐกิจสหรัฐที่เคยได้รับมุมมองเชิงบวกเป็นอย่างมาก กลับถูกลดทอนมุมมองเชิงบวกลงอย่างรวดเร็ว หลังนักลงทุนพบว่า ประเด็นสงครามการค้า มีส่วนชี้นำให้เกิดแนวโน้มการชะลอตัวลงในการลงทุนและจ้างงานในสหรัฐ นักลงทุนจึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่า ที่เคยส่งสัญญาณไว้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดแทบทุกรายจะส่งสัญญาณถึงความไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็ตาม อันนับเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
ทั้งความเสี่ยงด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ และมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ กดดันให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk-off sentiment) เกิดการเร่งเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในสหรัฐ สะท้อนผ่านดัชนีตลาดหุ้นของสหรัฐที่มีการเข้าสู่ช่วงปรับฐาน (Correction territory) หรือการปรับตัวลงจากระดับสูงสุดที่ 10.0% สอดคล้องกับรายงานของแบงก์ออฟอเมริกา ที่พบว่า ในเดือนมี.ค. นักลงทุนลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นสหรัฐมากที่สุด หรือลดลงราว 40.0% จากเดือนก่อนหน้า
นอกจากนั้นจากความไม่แน่นอนในกระบวนการยุติการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงความล้มเหลวในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส กดดันให้นักลงทุนเพิ่มกังวลต่อความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
สถานการณ์ข้างต้นกระตุ้นการลงทุนในทองคำและพันธบัตรสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยซึ่งความต้องการซื้อพันธบัตรสหรัฐที่เพิ่มขึ้น กดดันให้อัตราผลตอบแทนของตราสารปรับตัวลง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ถูกกดดันด้วยเช่นกัน ดังนั้น ความเสี่ยงด้านภูมิเศรษฐศาสตร์, ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทั้งจากแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ประกอบกับทิศทางการปรับตัวลงของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
ทั้งนี้นับแต่เข้าสู่ปี 2025 ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 210 วัน จากการปรับตัวขึ้นจากระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงเดือนส.ค. ปี 2024 สู่ระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในกลางเดือนมี.ค. ปี 2025
ซึ่งการปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นเช่นนี้ ประกอบกับความเสี่ยงจากประเด็นภูมิเศรษฐศาสตร์ที่ยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ส่งเสริมมุมมองเชิงบวกด้านราคาของทองคำให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถาบันการเงินรายใหญ่รายแห่ง ที่มีการปรับเป้าหมายสูงสุดของราคาทองคำให้สูงขึ้น อาทิ
อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นที่รวดเร็วดังกล่าวเสี่ยงต่อการเร่งทำกำไรได้เช่นกัน ประกอบกับประเด็นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจกลับมาเป็นความเสี่ยงต่อราคาทองคำได้ในระยะถัดไป ดังนั้น แนะนำนักลงทุนติดตามปัจจัยที่กระทบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์การลงทุนอย่างถี่ถ้วน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด