Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อะไรจะเกิดขึ้น หากการเมืองแทรกแซงธปท.ได้?
โดย : มนันพัทธ์ ธนนันท์พร

อะไรจะเกิดขึ้น หากการเมืองแทรกแซงธปท.ได้?

24 พ.ย. 67
14:19 น.
|
183
แชร์

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เปรียบเสมือนเสาหลักของระบบเศรษฐกิจไทย มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางการเงิน กำกับดูแลสถาบันการเงิน และบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

ในมุมมองของภาครัฐที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงอยากเห็นนโยบายการเงินไปในทิศทางเดียวกับนโยบายการคลัง ขณะที่ธปท.การดำเนินนโยบายการเงิน จะมองถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในระยะยาว เพื่อให้เครื่องมือทางการเงินของธปท.จะสามารถดูแลเสถียภาพทางการเงินของประเทศ เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตทางการเงินของประเทศ

ไม่ว่าจะกี่ยุค กี่สมัย ภาครัฐจะพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการเงินมาโดยตลอด ซึ่งหากอิทธิพลทางการเมืองที่แทรกแซงธปท.นั้น อาจนำไปสู่การบิดเบือนนโยบาย และนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน 

บทความนี้ SPOTLIGHT จะวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงการดำเนินนโยบาย ธปท.ที่เป็นองค์กรอิสระ โดยกลุ่มการเมือง พร้อมบทเรียนจากประเทศต่างๆ  เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของ ธปท.ที่เป็นเสาหลักแห่งเศรษฐกิจไทย

อะไรจะเกิดขึ้น หากการเมืองแทรกแซงธปท.ได้?

โดยกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน และสถาบันต่างๆ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง  ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะลงมติอนุมัติบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมใคร่ขอนำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงและช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นจากการแทรกแซงดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอย่างรอบคอบ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ดังต่อไปนี้

หน้าที่ของประธานและกรรมการธปท.

ตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ดแบงก์ชาติ)  เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่และอิทธิพลอย่างยิ่งยวดต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน กำกับดูแลสถาบันการเงิน รวมถึงการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวควรมีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ดี หากบุคคลดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือถูกครอบงำโดยอิทธิพลทางการเมืองย่อมเปิดช่องให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือการบิดเบือนนโยบายเพื่อสนองประโยชน์ของกลุ่มทุนหรือพรรคพวก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในระยะยาว

ความเสี่ยงจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

แม้ประธานและคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจะมิได้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยหรือแทรกแซงค่าเงินบาทโดยตรง แต่การมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน อาจทำให้บุคคลดังกล่าวล่วงรู้ข้อมูลสำคัญก่อนการประกาศอย่างเป็นทางการ เช่น ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือช่วงเวลาในการแทรกแซงค่าเงินบาท

รวมถึง ข้อมูลภายใน (insider information) ดังกล่าว อาจถูกนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในตลาดการเงิน เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลภายใน (insider trading) หรือการเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตเช่นกรณีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540  ที่ปรากฏข้อกังขาว่านักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ได้ใช้ข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท  แสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

บทเรียนจากอาร์เจนตินา สู่ความเสี่ยงของประเทศไทย

การแทรกแซงนโยบายการเงิน เพื่อสนองเป้าหมายทางการเมือง อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ตัวอย่างเช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แม้จะช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในเบื้องต้น แต่ในระยะยาวกลับก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน

ดังตัวอย่างเช่น ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของผลกระทบจากการแทรกแซงนโยบายการเงิน รัฐบาลอาร์เจนตินาเคยกดดันธนาคารกลางให้ลดอัตราดอกเบี้ย จนนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

การแทรกแซงค่าเงินบาท ภาพลวงตาและผลกระทบที่แท้จริง

นักการเมืองมักใช้การแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อสร้างภาพผลงานที่เกินจริง หรือปกปิดผลกระทบเชิงลบ เพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง เช่น การกล่าวอ้างว่าสามารถสั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อผลักดันการส่งออกให้เติบโต 15% โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม

ความน่าเชื่อถือที่สั่นคลอน

ประวัติของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเคยมีพฤติกรรม "โกหกสีขาว" ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทย

การพิมพ์เงิน และการนำเงินสำรองไปใช้ในทางมิชอบ

หากกลุ่มการเมืองเข้าควบคุมได้ ก็มีปัจจัยเสี่ยงอีกด้านของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ อาจนำไปสู่การแทรกแซงนโยบายการเงิน  เช่น การสั่งการหรือกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลกู้เงินได้ง่ายขึ้น  (monetary financing) ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดหลักวินัยการเงินการคลัง เสมือนการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศซิมบับเว เวเนซุเอลา และอาร์เจนตินา

นอกจากนี้ การเข้าถึงอำนาจในการบริหารจัดการเงินสำรองระหว่างประเทศ อาจเปิดช่องให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เช่น การล่วงรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน  เพื่อเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ หรือการนำเงินสำรองไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การนำไปชำระหนี้รัฐบาล หรือใช้เพื่อสนองนโยบายประชานิยม

บทเรียนจากซิมบับเว การใช้เงินทุนสำรอง สู่ความเสี่ยงของระบบการเงินไทย

การนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของรัฐบาลได้ชั่วคราว แต่ในระยะยาวกลับส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอาจทำให้ประเทศขาดสภาพคล่องในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น ประเทศซิมบับเว ที่รัฐบาลนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้จ่ายเกินตัว จนทำให้ค่าเงินดิ่งเหว เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และประชาชนยากลำบากจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

  • เงินสำรองระหว่างประเทศ ทรัพย์สินของชาติ มิใช่ของรัฐบาล : ข้อเรียกร้องให้นำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจผิดของนักการเมืองบางกลุ่ม  ที่ต้องการแทรกแซง โดยไม่ได้ตระหนักว่า เงินสำรองระหว่างประเทศเป็นทรัพย์สินของชาติ มิใช่ของรัฐบาล โดยเงินสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งเกิดจากการค้าระหว่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีข้อจำกัดในการนำมาใช้
  • ผลกระทบจากการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน : อิทธิพลของประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย อาจแผ่ขยายไปถึงคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน  ซึ่งอาจนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น การผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้รายใหญ่ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี หากธุรกิจของลูกหนี้เหล่านี้ประสบปัญหาอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไม่เพียงแต่บริษัทนั้นๆ แต่จะลุกลามไปถึงประชาชนผู้ฝากเงินและอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ของระบบธนาคารพาณิชย์ เช่นเดียวกับวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (Subprime Mortgages) ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2008

อำนาจของประธานและคณะกรรมการธปท. 

ประธานและคณะกรรมการธปท.มีอำนาจในการอนุมัติการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง เช่น รองผู้ว่าการและผู้ช่วยผู้ว่าการ  ซึ่งอาจเปิดช่องให้รัฐบาลแทรกแซงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแต่งตั้งบุคคลที่มีความใกล้ชิดทางการเมืองเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร  หรือแทรกแซงคณะกรรมการต่างๆ  เพื่อกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมือง

เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540  ซึ่งคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.)  ได้รายงานว่าสาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์เกิดจากผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยที่สนองความต้องการของฝ่ายการเมืองในขณะนั้น

  • นโยบายประชานิยมกับความเสี่ยงต่อระบบการเงิน : ประธานและคณะกรรมการธปท.ยังมีบทบาทในการดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งหากดำเนินการในลักษณะนโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว เช่น การอนุญาตให้พักชำระหนี้เป็นเวลานานเกินไป  อาจทำให้ลูกหนี้ขาดวินัยทางการเงิน และส่งผลให้เกิดหนี้เสียในระบบและสร้างความเสียหายแก่ธนาคารและผู้ฝากเงิน
  • ความโปร่งใสและความเชื่อมั่น : การใช้ตำแหน่งประธานและคณะกรรมการธปท.ในทางมิชอบ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและการลงทุนระหว่างประเทศ

ดังนั้น การมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งและโปร่งใสจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ระบบการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศและนโยบายการเงินต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนในระยะยาวเป็นสำคัญ

แชร์
อะไรจะเกิดขึ้น หากการเมืองแทรกแซงธปท.ได้?