Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เช็กมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เช็กมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว

30 มี.ค. 68
10:17 น.
แชร์

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 สะเทือนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินทุกประเภทให้เร่งพิจารณา มาตรการช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ธปท. กำหนดแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ได้ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินทั่วไป สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน ให้พิจารณาช่วยเหลือประชาชนอย่างเหมาะสม โดยมีแนวทางสำคัญ ได้แก่

  • ลดขั้นต่ำการผ่อนชำระบัตรเครดิต ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
  • สินเชื่อส่วนบุคคลและดิจิทัล สามารถอนุมัติวงเงินฉุกเฉินเกินเกณฑ์เพื่อฟื้นฟูความเสียหาย อันเนื่องมาจากปัญหาสาธารณภัย โดยให้อนุมัติวงเงินดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
  • สินเชื่อทุกประเภท สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อได้ รวมถึงการปรับเงื่อนไข เช่น ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยให้อนุมัติวงเงินดังกล่าวโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย

ทั้งนี้ ธปท. จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ และขอให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว ล่าสุดทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ต่างทยอยเร่งออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน

1. ธนาคารกสิกรไทย

ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งลูกค้าบุคคลและธุรกิจ

มาตรการช่วยเหลือลูกค้าบุคคล

1. สินเชื่อบ้านกสิกรไทย พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน

2. สินเชื่อบ้านกู้เพิ่มได้เพื่อซ่อมแซมบ้าน อัตราดอกเบี้ย 0% 3 เดือน ฟรีค่าประเมินหลักประกัน

3. บัตรเครดิตกสิกรไทย, สินเชื่อเงินด่วน Xpress Loan และบัตรเงินด่วน Xpress Cash พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน

4. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 50% ระยะเวลา 3 เดือน และขยายระยะเวลาผ่อน 3 เดือน

มาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ

1. วงเงินสินเชื่อเดิม พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน

2. สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการ ระยะเวลากู้สูงสุด 5 ปี ดอกเบี้ย 3.5% ใน 2 ปีแรก โดยให้พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน

ลูกค้าสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ K-Contact Center 02-8888888

ทั้งนี้สินเชื่อบ้านกู้เพิ่มได้ กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 6%-7% หมายเหตุ : สมมติฐานการคำนวณมาจากอัตราดอกเบี้ย MRR ณ วันที่ 4 มีนาคม 2568 = 7.08% ต่อปี ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ฟรีค่าประเมินหลักประกันมูลค่า 3,000 บาท

เช็กมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว

2. EXIM BANK ช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ

มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น

• ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน

• เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม ทั้งนี้ ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม

• เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี

มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว

• ขยายระยะเวลาวงเงินกู้ สูงสุด 7 ปี

• ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลง 0.5% หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก

• พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี

• Top up วงเงินสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate (สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs) ของ EXIM BANK ในปัจจุบันเท่ากับ 6.25% ต่อปี ลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือได้โดยลงทะเบียนผ่าน www.exim.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 หรือ Inbox Facebook “EXIM Bank of Thailand”

3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

มีทั้งสินเชื่อกู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซมบ้าน และมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวม 5 มาตรการ

โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย" จำนวน 2 มาตรการ และ "มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2568" จำนวน 5 มาตรการ ประกอบด้วย

1. สำหรับลูกค้าปัจจุบัน : ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน พร้อมลด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4 - 12 คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลง 50% ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน โดยเมื่อครบระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าสามารถกลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิมต่อไป

2. สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ : กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1 - 3 เท่ากับ 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด, อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 4 ? 24 เท่ากับ 2.00% ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เท่ากับ MRR-3.30% ต่อปี (3.24% ต่อปี), ปีที่ 4 เท่ากับ MRR-2.40% ต่อปี (4.14% ต่อปี) และปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี, ลูกค้าสวัสดิการ เท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี และกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย เท่ากับ MRR (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบัน เท่ากับ 6.545% ต่อปี) ระยะเวลาการกู้ 40 ปี กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,100 บาท เท่านั้น พิเศษ!ฟรีค่าธรรมเนียมประเมินราคาหลักประกัน (1,900 - 2,800 บาท) และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองไม่เกิน 1% ของวงเงินจำนอง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอีกด้วย

มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2568 จำนวน 5 มาตรการ ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 2 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้น เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 3 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระ โดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)

มาตรการที่ 4 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)

มาตรการที่ 5 : พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติกับบริษัทประกันภัยที่ธนาคารจัดให้ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่ประสบภัยทุกราย อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายโดยใช้ภาพถ่าย จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงอีกไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามกรมธรรม์)

นอกจากนี้ ลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ยังสามารถเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซ่อม - แต่ง : สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่ต้องการกู้เพิ่มเพื่อต่อเติม ซ่อมแซม หรือซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย มีการทำนิติกรรมสัญญาและผ่อนชำระเงินกู้กับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี วงเงินกู้เดิมภายใต้หลักประกันสูงสุด ไม่เกิน 5 ล้านบาท ประวัติการผ่อนชำระสม่ำเสมอทุกเดือนไม่น้อยกว่า 1 ปี วงเงินให้กู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกัน ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาการกู้สูงสุดนาน 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีเพียง 1.00% ต่อปี กรณีกู้ 1 แสนบาท ผ่อนชำระเงินงวดเพียง 2,900 บาท เท่านั้น พิเศษ! ฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน 1,900 บาท โดยไม่ต้องจดทะเบียนการจำนองเพิ่มที่สำนักงานที่ดิน

4. ธนาคารออมสิน

1.มาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ลูกค้าเดิม โดยให้พักชำระเงินต้นทั้งหมด และลดดอกเบี้ยเป็น 0% เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อธนาคารออมสิน 3 กลุ่ม ที่เดือดร้อนทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือการดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อธนาคารประชาชน ลูกค้าสินเชื่อเคหะที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท และลูกค้าสินเชื่อ SME ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท

2.มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูสำหรับบุคคลทั่วไป ธนาคารมอบสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ ได้แก่

2.1 สินเชื่อฉุกเฉินผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท/ราย ระยะเวลาผ่อนชำระ 24 เดือน ปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ย 0% สำหรับเดือนที่ 1 - 3 และเดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย 0.60% ต่อเดือน

2.2 สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/ราย ระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี สำหรับลูกค้าใหม่ ส่วนลูกค้าปัจจุบันใช้ระยะเวลาผ่อนชำระตามสัญญาเดิม ปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ย 0% สำหรับ 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4 - 12 = 2% ปีที่ 2 = 2% ปีที่ 3 = MRR-3.35% ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR-0.75%

2.3 สินเชื่อ SME ฟื้นฟูแผ่นดินไหว วงเงินกู้ไม่เกิน 40 ล้านบาท/ราย ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 10 ปี (ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 9 เดือน) คิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 - 2 = 2.99% ปีที่ 3 - 4 = MLR/MOR-0.5% และปีที่ 5 เป็นต้นไป = MLR/MOR+0.5% ทั้งนี้ สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก = 0% หลังจากนั้น เดือนที่ 4 - 24 = 2.99% ปีที่ 3 - 4 = MLR/MOR-0.5% และปีที่ 5 เป็นต้นไป = MLR/MOR+0.5%

โดยลูกค้าและบุคคลทั่วไปสามารถติดต่อที่สาขาธนาคารออมสิน เพื่อแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2568 และยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2568

เช็กมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว

5. SME D Bank

  • พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 12 เดือน

สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับกลุ่มเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้

กู้ฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุด 200,000 บาท ดอกเบี้ย MLR ปลอดเงินต้น 1 ปี ไม่ต้องมีหลักประกัน

สำหรับลูกค้าเดิมได้รับผลกระทบทางตรง ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อให้มีวงเงินกู้ฉุกเฉิน นำไปฟื้นฟูธุรกิจเฉพาะหน้า วงเงินกู้ 10% ของวงเงินเดิม ขั้นต่ำ 30,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท (บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท และนิติบุคคล สูงสุด 200,000 บาท) อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ยกเว้นค่าธรรมเนียม ลดกระบวนการนำส่งเอกสารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงเป็นการเร่งด่วน

มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้เป็นทางเลือกโดยสมัครใจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการรับบริการ แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สาขาของ SME D Bank ทุกแห่งทั่วประเทศ , LINE Official Account : SME Development Bank และเว็บไซต์ www.smebank.co.th เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

เช็กมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว

6. ทีเอ็มบีธนชาต 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต  ระบุว่า ทีทีบีมีความห่วงใยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะลูกค้าของทีทีบี ที่ประสบความเดือดร้อนจากความเสียหายของที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการธุรกิจ ซึ่งอาจมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงให้ความช่วยเหลือลูกค้าเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้และบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน หวังให้สามารถฟื้นตัว กลับมาตั้งหลักและก้าวเดินต่อไปสู่การมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น

รายละเอียดความช่วยเหลือดังนี้

  • ลูกค้าบุคคลทั่วไป และลูกค้าบัญชีเงินเดือนที่มี บัญชี ttb all free รับฟรีความคุ้มครองจากอุบัติเหตุ

ลูกค้าสามารถเบิกค่ารักษาจากอุบัติเหตุได้ สูงสุด 3,000 บาท/อุบัติเหตุ กรณีเสียชีวิตคุ้มครอง 20 เท่าของเงินฝาก สูงสุด 3 ล้านบาท เมื่อคงเงินฝากในบัญชี ttb all free ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ทุกวันตลอดทั้งเดือน และรับความคุ้มครองในเดือนถัดไปฟรี สามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ด้วยตนเองผ่านแอป ttb touch เข้าเมนูบัญชีเงินฝาก > เลือกข้อมูลบัญชี > เลือกเมนูประกันอุบัติเหตุ จาก all free > เลือกบัตร all free e-care card เพื่อดูสถานะความคุ้มครอง

  • ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ทีทีบี และทีเอ็มบี (เดิม) กรณีบ้านได้รับความเสียหาย รับความคุ้มครองจากประกันบ้านฟรี และกรณีเกิดภาระค่าใช้จ่าย สามารถขอรับความช่วยเหลือพิเศษ

ลูกค้าสามารถรับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวโดยอัตโนมัติภายใต้เงื่อนไขการมอบ “ประกันฟรี” โดยตรวจสอบความเสียหาย และแจ้งเคลมได้ที่ โทร 1292 บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และสำหรับลูกค้าที่มีประกันภัยทรัพย์สิน เช่น Home Guard, Home Add-on และ Happy Home สามารถแจ้งเคลมได้ที่ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) โทร 1519 กด 3 กด 2

  • สำหรับลูกค้าสินเชื่อบ้าน (ทุกประเภท) ที่เกิดความเสียหายรุนแรง และมีภาระค่าใช้จ่าย สามารถขอรับความช่วยเหลือพิเศษได้ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2568 พร้อมแนบหลักฐานความเสียหาย โดยจะได้รับ
  • การพักชำระหนี้ นาน 3 เดือน หรือขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อไปซ่อมแซมบ้าน ผ่านบัตรกดเงินสดบ้านแลกเงิน ดอกเบี้ยพิเศษ 0% นาน 2 เดือน กรณีที่ลูกค้ามีบัตรกดเงินสดบ้านแลกเงินอยู่แล้ว รับความช่วยเหลือดอกเบี้ยพิเศษ 0% นาน 2 เดือน เช่นกัน

สามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือนี้ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ แอป ttb touch ผ่าน Yindee เลือกติดต่อแชทกับทางเจ้าหน้าที่ หรือ ttb contact center 1428 หรือ สาขาทีทีบี ที่เปิดทำการ

  • ลูกค้าธุรกิจ และเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจและสถานประกอบการ สามารถตรวจเช็กความคุ้มครอง และขอวงเงินเป็นเงินทุนในการซ่อมแซมได้
  • ลูกค้าที่มีประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินประเภทสรรพภัย (Industrial All Risks) ประเภทไฟขยายภัยแผ่นดินไหว (Fire Extends Earthquake) ประเภทประกันการก่อสร้าง (Contractors’ All Risks) และประเภทประกันธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption) กับทีทีบีโบรกเกอร์ จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวตามที่กรมธรรม์กำหนด หากพบว่ามีความเสียหาย สามารถแจ้งเคลมได้ที่ ทีทีบี โบรกเกอร์ โทร. 0 2783 0200, 0 2783 0300 เวลา 08:30-19:00 น.
  • ลูกค้าที่ไม่มีประกันภัยและต้องการเงินทุนเพื่อซ่อมแซม หรือลูกค้าที่มีประกันภัยแต่ต้องการเงินทุนซ่อมแซมเพิ่มเติม สามารถขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการเพื่อ SME ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 3.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และชำระดอกเบี้ยอย่างเดียวนานสูงสุด 12 เดือน
เช็กมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว

7.ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ไทยพาณิชย์ออกมาตรการเร่งด่วนดูแลลูกค้าผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวทั้งมาตรการพักชำระและสินเชื่อพิเศษเพื่อซ่อมแซมบ้านและกิจการ ประกาศพักชำระเงินต้นแก่ลูกค้าสินเชื่อบ้านนาน 3 เดือน และให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ต้องการซ่อมแซมบ้านดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน พร้อมมอบสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.5% ต่อปี นาน 24 เดือน

กลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจรายย่อย

1) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ลูกค้าสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบ้านคือเงิน My Home My Cash ธนาคารมอบความช่วยเหลือพักชำระเงินต้นนาน 3 เดือน และมอบสินเชื่อบ้านได้เพิ่มเพื่อซ่อมแซมบ้าน ดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน ได้แก่ สินเชื่อบ้านได้เพิ่มสำหรับลูกค้าปัจจุบัน และสินเชื่อ My Home My Cash สำหรับลูกค้าขอสินเชื่อใหม่ ฟรีค่าประเมินหลักประกัน บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโด

2) สินเชื่อรถยนต์ ธนาคารมอบความช่วยเหลือ ได้แก่ 1) พักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ และขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 3 เดือน (รวมอายุผู้กู้ไม่เกิน 65 ปี)

3) สินเชื่อธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการ ธนาคารมอบความช่วยเหลือ พักชำระเงินต้นสูงสุดนาน 3 เดือน และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการดอกเบี้ยคงที่เริ่มต้น 3.5% ต่อปี นาน 24 เดือน ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี

ลูกค้าสามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้ทางธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ โทร SCB Customer Center โทร 02-777-7777 ได้ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2568

กลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี มี 4 มาตรการหลัก 

1) พักชำระเงินต้นสูงสุดนาน 6 เดือน

2) พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 3 เดือน

3) เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว เสริมสภาพคล่อง วงเงินสูงสุดไม่เกิน 20% ของวงเงินรวมเดิม และไม่เกิน 10 ล้านบาท

4) วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซม หรือซื้อทดแทนทรัพย์สินที่เสียหายของกิจการ วงเงินสินเชื่อสูงสุด 20% ของวงเงินรวมเดิม ไม่เกิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่เริ่มต้น 3.5% ต่อปี นาน 24 เดือน ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี

ลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้ทางเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ที่ดูแลท่าน และ SCB Business Call Center โทร 02-722-2222 วันที่ 30 มีนาคม – 31 ธันวาคม 2568

เช็กมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว

ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารแต่ละแห่งได้ตามมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง โดยมีทั้งการพักหนี้ ลดดอกเบี้ย เพิ่มวงเงินฉุกเฉิน และการขยายระยะเวลาชำระหนี้

ขอให้ทุกท่านตรวจสอบสิทธิและติดต่อธนาคารที่ท่านใช้บริการโดยตรงเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม และใช้มาตรการช่วยเหลือเหล่านี้เป็นแรงเสริมในการฟื้นฟูชีวิตและธุรกิจให้กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง

แชร์
เช็กมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว