รำลึก 20 ปี คลื่นยักษ์สึนามิ ที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย โศกนาฏกรรมที่โลกไม่มีวันลืมเลื่อน ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน กว่า 6.5 แสนล้านบาท
เหตุการณ์ครั้งนั้น เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ
26 ธันวาคม 2547 เช้าวันอาทิตย์ที่ดูเหมือนจะเป็นวันธรรมดาอีกวันหนึ่งสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย แต่ใครจะรู้ว่า ความสงบในวันนี้กำลังจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นความโศกเศร้าที่ไม่มีวันลืมเลือน
เวลา 07.58 น. ตามเวลาประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1-9.3 ริกเตอร์ บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนนี้ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่แผ่กระจายออกไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงชายฝั่งทะเลของประเทศไทย
คลื่นสึนามิพัดถล่มชายฝั่ง 6 จังหวัดของไทย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรัง และสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,395 คน แบ่งเป็นคนไทย 2,059 คน ต่างชาติ 2,436 คน และยังไม่ระบุสัญชาติอีก 900 คน ขณะที่ผู้สูญหายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,817 คน เป็นคนไทย 1,921 คน และต่างชาติ 896 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูญหายที่ จ. พังงา มากที่สุด 1,655 คน หลายพันครอบครัวสูญเสียบ้านเรือน และผู้สูญหายอีกจำนวนมาก
ความสูญเสียไม่ได้หยุดเพียงแค่ชีวิตและทรัพย์สิน ความเสียหายทางเศรษฐกิจยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในประวัติศาสตร์
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก โรงแรมกว่า 300 แห่งเสียหาย รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงถึง 30% และธุรกิจประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ก็สูญเสียเรือประมงกว่า 4,000 ลำ รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น สึนามิยังส่ง ผลกระทบร้ายแรงในหลายประเทศ
รวมมูลค่าความเสียหายโดยตรงสูงถึง 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมกว่า 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.5 แสนล้านบาท
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น องค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลไทยได้ร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ งบประมาณจำนวนมหาศาลถูกใช้ไปในการสร้างระบบเตือนภัยสึนามิ รวมถึงการฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำรอยอีก
อนุสรณ์สถาน สึนามิ บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา
ที่บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า เป็นอีกหนึ่งสถานที่ประสบพิบัติภัยสึนามิอย่างรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คน โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างหอเตือนภัย พิพิธภัณฑ์ และสวนแห่งนี้ขึ้นริมชายหาดบ้านน้ำเค็ม
เพื่อเตือนใจให้ทุกคนนึกถึงมหาภัยพิบัติสึนามิที่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจังหวัดพังงา และหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงได้มีการจัดสร้างสวนอนุสรณ์สถานสึนามิแห่งนี้ขึ้น
กำแพงคอนครีตโค้งซึ่งเปรียบเสมือนคลื่นยักษ์ ด้านหนึ่งมีเรือประมงเก่าตั้งอยู่ และเรือลำนี้คือเรือที่ได้รับความเสียหายจากการถูกคลื่นสึนามิซัดเข้ามาเกยอยู่บนชายหาดบ้านน้ำเค็ม
ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นทางเดินขนานไปกับกำแพงดินเฉียงที่ปูด้วยอิฐสลับกับกระเบื้องเซรามิก พร้อมกับมีการสลักรายชื่อของผู้เสียชีวิตอยู่บนแผ่นป้ายทองเหลืองติดไว้เป็นแนวยาว
นอกจากนี้ ภายในอาคารกลางสวนสาธารณะยังได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับที่มาของการจัดสร้างสวนอนุสรณ์แห่งนี้ พร้อมทั้งภาพถ่ายเปรียบเทียบทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์
โดยทุกวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกจะมารวมตัวกันในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสียและส่งต่อบทเรียนอันล้ำค่าให้กับคนรุ่นหลัง
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ เพราะในทุกคลื่นแห่งชีวิต เราอาจพบพลังที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะควบคุมได้