Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ผู้ว่าธปท.คนต่อไปจะเป็นใคร? รมว.คลังเผยสเปก  ‘ต้องมีแนวคิดทันสมัย’
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ผู้ว่าธปท.คนต่อไปจะเป็นใคร? รมว.คลังเผยสเปก ‘ต้องมีแนวคิดทันสมัย’

23 ม.ค. 68
22:26 น.
|
53
แชร์

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กำลังจะหมดวาระลงในสิ้นเดือนกันยายน 2568 นี้ซึ่งตามกระบวนการคัดเลือกผู้ว่าธปท.คนใหม่จะต้องมีการส่งรายชื่อผู้สมัครขั้นสุดท้ายไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างน้อย 90 วันก่อนที่ผู้ว่าธปท.คนเดิมจะสิ้นสุดวาระลง ซึ่งหมายความว่าไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าใครกำลังเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลำดับที่ 25 ของไทย

SPOTLIGHT รวบรวมข้อมูลจากกระแสข่าวที่มีการเปิดเผยรายชื่อแคนดิเดทชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงมุมมองจาก รมว.คลังกับการคัดเลือกผู้ว่าธปท. คนใหม่

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่านายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ระบุถึงสเปกของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ว่าต้องมีความคิดก้าวหน้าและทันสมัย  เพราะปัจจุบันเราไม่สามารถมองปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ได้ โดยเฉพาะตลาดการเงิน มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้ว่าธปท.คนใหม่จะต้องสามารถ “ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด” กับกระทรวงการคลังและรัฐบาล โดยจะต้องมีความรู้ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินด้วย

เปิดประวัติ 3 รายชื่อแคนดิเดตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันในหน้าสื่อมีการรายงาน 3 รายชื่อที่คาดว่าจะเป็นแคนดิเดตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส , ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ และ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ซึ่งถือว่าเป็น 3 รายชื่ออย่างไม่เป็นทางการ จึงเป็นไปได้ที่อาจจะมีรายชื่อของท่านอื่นๆปรากฏออกมาอีกได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามทั้ง 3 รายชื่อที่ปรากฏออกมานั้นก็ต้องยอมรับว่า ประสบการณ์และประวัติของแต่ละท่านล้วนมีความรู้ความสามารถทั้งสิ้น

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส  มีจุดเด่นที่เป็นลูกหม้อธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)

ดร.รุ่ง ทำงานที่ ธปท. มานานกว่า 20 ปี ผ่านตำแหน่งสำคัญในธนาคารแห่งประเทศไทยมากมาย เคยเป็นทั้งกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน และผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการวางกลยุทธ์ของ ธปท. ผ่านมาตรการตลาดการเงินและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเงินทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต  

ประวัติการศึกษาของ ดร. รุ่ง  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) 

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ปัจจุบันอายุ 50 ปี เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Abacus Digital ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสินเชื่อฟินเทคของ SCB X ในอดีตเคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF และผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของกระทรวงการคลัง

ประวัติการศึกษาของดร.สุทธาภา เธอเป็นศิษย์เก่าปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปริญญาเอกจากสถาบัน MIT เธอเป็นหลานสาวของสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส่วนนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของดร.ก้อย

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ปัจจุบันอายุ 54 ปี ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลังผ่านมาแล้วหลายตำแหน่ง ปัจจุบันท่านเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ ในอดีตเคยเป็นทั้งอธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพสามิต เคยเป็นโฆษกกระทรวงการคลัง เป็นต้นเรียกว่ามีประสบการณ์ด้านนโยบายการคลังของประเทศมาอย่างยาวนาน  นอกจากนี้ยังนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารทหารไทยธนชาติ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

ประวัติการศึกษาของ ดร.เอกนิติ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเศรษฐศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ
มหาวิชรมงกุฎ (ม.ว.ม.) 28 กรกฎาคม 2563

เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.) 28 กรกฎาคม 2563
ปถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) 5 ธันวาคม 2558

กระบวนการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการธปท. จะมาจากการสรรหาและคัดเลือกโดย ‘คณะกรรมการคัดเลือก’ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประกอบไปด้วยกรรมการ 7 คนที่จะต้องเป็นคนที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจและการเงินของประเทศมาก่อน อาทิ

  • บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 
  • บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 
  • ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ กรรมการคัดเลือกทั้ง 7 คน จะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ หรือส่วนได้ส่วนเสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับประกันว่าผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้ว่าการธปท. และสมาชิกคณะกรรมการธปท. ระดับสูงอื่นๆ จะไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งจะทำให้การทำงานของแบงก์ชาติไม่เป็นอิสระเท่าที่ควร

ในปัจจุบัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกก่อนผู้ว่าฯ คนปัจจุบันดำรงตำแหน่งครบวาระเป็นจำนวนอย่างน้อย 90 วัน หรือหากผู้ว่าฯ พ้นตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีฯ จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกภายใน 15 วัน หลังผู้ว่าฯ พ้นตำแหน่ง

จากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกจะเปิดรับใบสมัครจากผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ ก่อนที่จะคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าฯ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน ให้แก่รัฐมนตรีฯ ทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

เชื่อว่าตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังถูกจับตามองอย่างแน่นอน เพราะในยุคของ ดร.เศรษฐพุฒิ มีกระแสเรียกร้องจากรัฐบาลให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งจุดยืนและมุมมองของการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติและรัฐบาลยังไม่สอดคล้องกันนัก

ตลอดวาระของผู้ว่าแบงก์ชาติจึงมักมีกระแสความเห็นต่างกับรัฐบาลเป็นระยะทำให้ตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ ขณะที่ก่อนหน้านี้ตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังมีประเด็นของคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง และขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเลือกประธานบอร์ดธปท.ได้สำเร็จ ท่ามกลางกระแสห่วงใยถึงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจถูกแทรกแซง…2 ตำแหน่งสำคัญในธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ยังต้องจับตาดูกันต่อไป 

แชร์
ผู้ว่าธปท.คนต่อไปจะเป็นใคร? รมว.คลังเผยสเปก  ‘ต้องมีแนวคิดทันสมัย’