Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
กนง.มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย  0.25% เป็น 2.50% มีผลทันที
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

กนง.มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 2.50% มีผลทันที

27 ก.ย. 66
17:00 น.
|
732
แชร์

กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 2.50% มีผลทันที ด้านนายแบงก์ประเมินเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายของกนง. หลังแบงก์ชาติส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ 

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายน 2566 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

“ ระยะสั้นๆ ถ้าภาพเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงไปมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโนบายระดับปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่”

ภาพเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ 

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกอปรกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ 

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัว  2.8% และปี 2567 4.4% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน 

สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า 

อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% และ 2.6% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐและผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และ 2.0% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ และยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง โดยเฉพาะในปี 2567 จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด

ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงวิกฤต แต่ประเมินว่าจะฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

กรุงไทยคาดหมดรอบการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยกับ SPOTLIGHT ว่า "ในมุมมองผมคิดว่า น่าจะจบรอบการชึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว หลังกนง.ส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยกลับสู่ระดับที่เหมาะสมแล้ว ยกเว้น จะมีความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน เช่น แบงก์ชาติมองเห็นสัญญาณแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และมีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น"

กรุงศรีมองดอกเบี้ย 2.5% ถือเป็นระดับสูงสุดในวัฎจักรนี้

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง 0.25% ต่อปี จาก 2.25% ต่อปี สู่ระดับ 2.50% ต่อปี ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับจากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดในเดือนสิงหาคม 2565 โดยมีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงในปีนี้ก็ตาม

จากถ้อยแถลงระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่ามีแนวโน้มขยายตัว 2.8% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 ผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.6%

สำหรับค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสั้นๆ ก่อนจะปรับลงสู่ระดับก่อนการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 36.55 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทปรับลงราว 5.8% โดย กนง. ยังได้กล่าวถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาทซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินของเฟด และนักลงทุนในตลาดต่างเฝ้ารอดูความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจส่งต่อเศรษฐกิจโดยรวมและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งจากท่าทีของที่ประชุมกนง. ในวันนี้แม้ยังคงมีความกังวลถึงความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี เป็นครั้งแรกที่ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ดังนั้น กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2.50% เป็นระดับสูงสุดในวัฎจักรนี้

แชร์
กนง.มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย  0.25% เป็น 2.50% มีผลทันที