ปัญหาหนี้นอกระบบกัดกร่อนสังคมไทยมานาน นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ประกาศแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน โดยทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ดีเดย์เปิดลงทะเบียนผู้ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ 1 ธันวาคม 2566
การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหนี้ แต่แนวทางการทำงานรอบนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน มั่นใจว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบได้แน่นอน เพราะเป็นการทำงานที่แตกต่างจากอดีต บูรณาการร่วมกันจาก 3 ภาคส่วนคือกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า หนี้นอกระบบในสังคมไทยมีมูลค่าสูงกว่า 50,000 ล้านบาท นับเป็นปัญหาที่เรื้อรังและใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ไขได้โดยไม่มีภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกลางให้ความช่วยเหลือ
"ปัญหาหนี้นอกระบบ ส่งผลโดมิโน เอฟเฟค ไปทุกภาคส่วน หนี้นอกระบบ นับเป็นการค้าทาสยุคใหม่ที่พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้" นายเศรษฐา กล่าว
ส่วนวิธีการแก้หนี้นอกระบบนั้น รัฐบาลจะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยตั้งแต่ต้น จนจบ ต้องจัดทำสัญญาให้เป็นธรรม เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสปิดหนั้ให้ได้โดยจะมีการเปิดให้ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบมาลงทะเบียนที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ดำรงธรรม ประจำอำเภอ หรือจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯ ให้ไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ส่วนกรณีลูกหนี้ที่เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ จะต้องชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปีตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้จนเกินวงเงินที่กู้ยืมมาแล้ว ก็จะถือว่าสิ้นสุดการชำระหนี
นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า การแก้ปัญหาหนี้ของรัฐบาล จะต้องแก้ทั้งนอกระบบ และ ในระบบควบคู่กันไปด้วย โดยจะมีการแถลงรายละเอียดเรื่องหนี้ในระบบอีกครั้งในวันที่12 ธันวาคมนี้
ทั้งนี้ข้อมูลจากเครดิตบูโร พบว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่ยังคงสูงราว 90%ต่อGDP และประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า80% ต่อGDP มาเป็นระยะเวลา10 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2555 หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และในช่วง 2-3 ปีนี้หลังนี้ที่คนไทยเจอปัญหาโควิด19 ส่งผลให้ตัวเลขหนี้ในระบบกลับมาสูงอีกครั้ง และหากนับรวมหนี้นอกระบบด้วยก็จะพบว่า คนไทยเป็นหนี้ทะลุ 100% ของGDP ไปแล้ว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ระบุน้อมรับนโยบายในการแก้หนี้นอกระบบให้ประชาชน รัฐบาลได้ยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งแก้ไขว่า กระทรวงมหาดไทย จะเริ่มเปิดให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ หรือถูกคุกคามจากการทวงหนี้นอกระบบ ไปลงทะเบียนหนี้นอกระบบได้ที่ศาลากลางจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม ประจำอำเภอ หรือจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯ ให้ไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะเริ่มเปิดระบบให้ลงทะเบียนดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไปเพื่อให้กระทรวงมหาดไทย สามารถมีข้อมูลของผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และจะได้ทำการรวบรวมปัญหา และนำไปสู่แนวทางการแก้ไขให้แก่ลูกหนี้ทุกรายต่อไป
ด้าน พล.ต.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับความรุนแรงจากการถูกทวงหนี้ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 8 มิ.ย.63 เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีสายด่วน 1599 รับแจ้งเหตุ นอกจากนี้ ยังได้เอ็กซเรย์พื้นที่ ขึ้นบัญชีผู้ประกอบการนอกระบบ จัดกลุ่มแบ่งเป็นระดับ S ,M และ L เพื่อบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 สามารถจับกุมไปแล้ว 134 ราย มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถยึดรถยนต์ 22 คัน และรถจักรยานยนต์ด้วย รวมมูลค่าของกลาง 8 ล้านบาทเศษและมีการจับกุมผู้แก้งค์ปล่อยเงินกู้ด้วย
ส่วนนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่เข้ามาดูแลลูกหนี้นอกระบบภายหลังจากที่ได้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โดยมีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน มีการให้กู้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย ระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งการให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพอิสระ ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย ระยะเวลา 8 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย
นอกจากนี้ยังมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเข้ามาช่วยรองรับในกรณีที่ลูกหนี้นำที่ดินไปขายฝากหรือจำนองไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส.ก็จะมีวงเงินให้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท/ราย เพื่อเข้าไปช่วยเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินทำกินต่อไป
ส่วนผู้ประกอบการหนี้นอกระบบที่ต้องการเข้าระบบต้องการจะทำให้ถูกกฎหมาย ก็สามารถมาขออนุญาตจัดตั้งเป็นบริษัทพิโกไฟแนนซ์ได้ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้มาขออนุญาตแล้วกว่า1,000 ราย ใช้ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าประสงค์ (KPI) และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยตนจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว กระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้นอกระบบ ทั้งเงื่อนไข ระยะเวลา และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้ และรัฐบาลจะระมัดระวังไม่ให้เกิด Moral Hazard จากมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด
"การแก้ไขหนี้ คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่มั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้รายเล็ก รายย่อย เข้าถึงแหล่งทุนในระบบมากขึ้น " นายกรัฐมนตรี ระบุ