รู้หรือไม่ว่าในปี 2567ที่ผ่านมา มีคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.94 ล้านคดี โดยส่วนใหญ่เป็นคดีผู้บริโภค เช่น คดีบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ ส่งผลให้มีคดีบังคับคดีคือ ยึดทรัพย์สินจำนวนมากกว่า 4 ล้านคดี การแก้ไขปัญหาหนี้สินในชั้นบังคับคดีผ่านการลดค่าธรรมเนียมเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีโอกาสสร้างอนาคตใหม่ได้ เพราะในสภาพความเป็นจริงลูกหนี้มักถูกผลักภาระค่าธรรมเนียมนี้มาให้รับผิดชอบ จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการไกล่เกลี่ยในชั้นบังตับคดี
การลดค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี (ยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ และถอนบังคับคดี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2499 โดยมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมลงเพื่อลดภาระของลูกหนี้ และส่งเสริมให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีเพื่อชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น
โดยกฎหมายเดิมกำหนดให้ทรัพย์สินที่ถูกยึดมาแล้วเพื่อขายทอดตลาดจะเสียค่าธรรมเนียม 5% ต่อมาในปี 2547 ได้มีการแก้ไขกฎหมายมาแล้วให้ลดเหลือ 3% แต่ล่าสุดได้เสนอให้ปรับลดลงอีกเหลือ 2%
กรณีทรัพย์สินที่ถูกยึดไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ที่ดิน หากไม่มีการขายทอดตลาดแล้วต้องถอนการยึดจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 3.5% ต่อมาในปี 2547 มีการแก้ไขกฎหมายให้ลดเหลือ 2% แต่ล่าสุดได้เสนอให้ปรับลดลงอีกเหลือ 0%
กฎหมายลดค่าธรรมเนียมบังคับคดี: ก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน
รัฐบาลเดินหน้าผลักดันกฎหมายลดค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนและยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาคดีแพ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนรายย่อย โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ประโยชน์สำคัญของกฎหมายฉบับนี้
การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะช่วยลดอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ประชาชนและทุกภาคส่วนจึงเฝ้ารอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในเร็ววัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสังคมไทย