ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูงถึง 90.9% หนึ่งในปัญหาหลักของหนี้ครัวเรือนไทย คือ “หนี้นอกระบบ” ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีมาตรการให้ประชาชนออกมาลงทะเบียน เพื่อให้ทางการช่วยแก้ไขหนี้นอกระบบ
เหตุผลที่ทำให้ประชาชน เป็น “หนี้นอกระบบ” ทั้งมีเรื่องให้ต้องใช้เงินฉุกเฉิน เงินไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้องลงทุนค้าขาย หมุนเงินไปจ่ายหนี้เดิม หรือกู้เงินในระบบไม่ได้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ธนาคารกำหนดหรือมีหนี้ในระบบมากมายจนกู้เพิ่มไม่ได้ หลากหลายเหตุผลที่คนไทยติดกับดัก “หนี้นอกระบบ”
วันนี้ SPOTLIGHT มี 3 วิธี ช่วยปลด “หนี้นอกระบบ” มาแนะนำ ดังนี้
- หาเงินมาปิดหนี้ : เริ่มต้นด้วยการลดรายจ่ายไม่จำเป็นลง เช่น ค่าช้อปปิ้ง ค่าอาหารมื้อพิเศษ ค่ากาแฟ ค่าเหล้า ค่าบุหรี่ ค่าหวย รายได้เพิ่มเติมจากความถนัด หรืองานอดิเรกของตัวเอง และรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินที่มีอยู่ว่า มีอะไรที่น่าจะมีคนสนใจซื้อและขายออกได้บ้าง เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่คงบอกว่า ทำใจลำบาก แต่เมื่อเวลาผ่านสถานการณ์ไปได้ค่อยทยอยเก็บเงินซื้อทรัพย์สินใหม่ก็ยังไม่สาย
- หาแหล่งเงินกู้ในระบบ : สอบถามธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจมีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบออกมาเป็นระยะๆ หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ เช่น สินเชื่อบุคคล ซึ่งมีทั้งไม่มีหลักประกัน และมีหลักประกัน เช่น บ้าน หรือทะเบียนรถ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อพิโกพลัส ซึ่งดอกเบี้ยถูกว่าสินเชื่อนอกระบบ มีสัญญาชัดเจน และมีหน่วยงานกำกับดูแล
- หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ : ติดต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย (สคช.) สำนักอัยการสูงสุด สายด้วย 1157 โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด จะเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้
ยอดมีประชาชนลงทะเบียนหนี้นอกระบบ แล้วกว่า 1.35 แสนราย
ทั้งนี้ รัฐบาล ได้เปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวันที่ 57 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยมีมูลหนี้ 9,141 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 1.35 แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 8,470 ราย มูลหนี้ลดลงกว่า 633 ล้านบาท
โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ระบุว่า
- มีมูลหนี้รวม 9,141.260 ล้านบาท
- ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 135,101 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 114,559 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 20,542 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 102,153 ราย
- มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 11,061 ราย เจ้าหนี้ 7,403 ราย มูลหนี้ 809.364 ล้านบาท
- จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,507 ราย เจ้าหนี้ 4,975 ราย มูลหนี้ 370.846 ล้านบาท
- จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,018 ราย เจ้าหนี้ 3,894 ราย มูลหนี้ 329.867 ล้านบาท
- จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,755 ราย เจ้าหนี้ 3,405 ราย มูลหนี้ 380.050 ล้านบาท
- จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 3,557 ราย เจ้าหนี้ 2,385 ราย มูลหนี้ 294.894 ล้านบาท
- ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 217 ราย เจ้าหนี้ 227 ราย มูลหนี้ 12.622 ล้านบาท
- จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 298 ราย เจ้าหนี้ 215 ราย มูลหนี้ 20.705 ล้านบาท
- จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 353 ราย เจ้าหนี้ 276 ราย มูลหนี้ 13.016 ล้านบาท
- จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 428 ราย เจ้าหนี้ 323 ราย มูลหนี้ 17.812 ล้านบาท
- จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 464 ราย เจ้าหนี้ 337 ราย มูลหนี้ 23.397 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า “สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 15,005 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8,470 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 1,533.276 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 899.495 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 633.781 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,037 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 183 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 236.102 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 13.702 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 222.400 ล้านบาท
สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 158 คดี ใน 30 จังหวัด
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ใช้กลไกระดับพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้เข้ามาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
รวมทั้ง ให้ทุกพื้นที่ดำเนินกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินทันทีที่ได้รับการลงทะเบียน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วที่สุด และให้ทุกอำเภอได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง