คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% มองระดับดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ และการลดดอกเบี้ยไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุด เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยชะลอลงจากปัญหาทางโครงสร้างซึ่งต้องใช้นโยบายการคลังแก้ไข มองปี 2024 จีดีพีไทยโต 2.5-3%
ในวันนี้ (7 กุมภาพันธ์) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. เผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 percentage points ให้เหลือ 2.25% เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยต้องการนโยบายการเงินช่วยในการขยายตัวเนื่องจากศักยภาพต่ำลงจากปัญหาทางโครงสร้าง
ศก. ไทยชะลอเพราะโครงสร้าง ส่งออกลด นักท่องเที่ยวใช้เงินน้อยลง
คณะกรรมการฯ เผยเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 เศรษฐกิจมีการขยายตัวลดลง และน้อยกว่าการคาดการณ์ที่วางไว้ที่ 2.4% จริง เพราะมีแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง 3 ปัจจัย คือ
จากปัจจัยเหล่านี้ จึงมีสัญญาณชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทางโครงสร้าง ซึ่งจะต้องใช้มาตรการการคลังในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะด้วยมาตรการภาษี มาตรการให้เงินสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงให้เติบโตเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และการใช้นโยบายการเงิน เช่น การลดหรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด
สำหรับกรณีที่รัฐบาลมีการแนะนำให้กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อติดลบแล้วนั้น คณะกรรมการฯ มองว่าปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวของไทย เพราะการบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ประชาชนยังมีกำลังใช้จ่าย และเงินเฟ้อที่ลดลงไม่ได้สะท้อนดีมานด์ที่ลดลง
ข้อมูลของ ธปท. ชี้ว่าในปี 2023 การบริโภคภาคเอกชนของไทยยังขยายตัวได้ดีจากแรงขับเคลื่อนด้านบริการ โดยขยายตัวจากการบริโภคหมวดโรงแรมและร้านอาหารเป็นสำคัญ เพราะการจ้างงาน และรายได้แรงงานโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ข้อสัณณิษฐานที่ว่าในปัจจุบันคนไทยไม่มีกำลังซื้อ และไทยกำลังอยู่ในภาวะเงินฝืดนั้นไม่เป็นความจริง เพราะภาวะเงินฝืดจะเกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนหยุดการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ติดลบ 1.11% ในขณะนี้นั้นยังมาจากปัจจัยพิเศษ และไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอ เพราะเงินเฟ้อในปัจจุบันลดลงและติดลบจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงาน ทำให้ถ้าหากไม่รวมมาตรการพลังงานเงินเฟ้อไทยจะยังคงเป็นบวกที่ 0.1% นอกจากนี้ ราคาสินค้าส่วนมากยังไม่ลดลง โดยลดลงเพียงแค่ 25% ของจำนวนสินค้าทั้งหมดเท่านั้น ทำให้หลายสินค้ายังมีราคาสูงอยู่ เช่น ไข่ไก่
ดังนั้น การลดดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ตรงจุด เพราะในปัจจุบันไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการบริโภคด้วยการลดดอกเบี้ย และปัญหาในภาคการส่งออกและการผลิตมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นสำคัญ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยดอกเบี้ย
คาดจีดีพีไทยปี 2024 อยู่ที่ 2.5-3% เงินเฟ้อทรงตัวต่ำใกล้ 1%
สำหรับปี 2024 ธปท. มองว่าแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2023 จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปีปรับลดลงและคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3% โดยการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด
มองไปข้างหน้า ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2024 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังดำเนินการได้ตามปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (rollover) ได้ไม่เต็มจำนวน
ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาด ตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมยังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อลดลงเล็กน้อยจากการชำระคืนหนี้เป็นหลัก ผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้การฟื้นตัวของรายได้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อของ SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวช้า โดยสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ผลักดันให้สถาบันการเงิน ดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเริ่มบังคับใช้แล้วในวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา แม้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในบางอุตสาหกรรมอาจเผชิญภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ