โดยฤดูทุเรียนไทย จะอยู่ในช่วงเดือนเม.ย.-ส.ค.ของทุกปี ที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ถึง 86% ของผลผลิตทุเรียนทั้งปี และจะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ถึง 95% ของผลผลิตทั่วประเทศ
แต่ในปีนี้ผลผลิตทุเรียนไทย อาจจะลดลง 18% จากปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมราว 9.6 แสนตัน ลดลงจากปีก่อน 3 แสนตัน ต่ำสุดในรอบ 15 ปี เนื่องจากผลผลิตทุเรียนไทยได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ซึ่งตั้งแต่เดือนเม.ย.ภาคตะวันออกของไทยเผชิญความร้อนแล้งจากเอลนีโญอย่างรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อน้ำน้อย ผลผลิตทุเรียนก็ออกมาน้อยตามมา
ทั้งนี้ คาดว่าทุเรียนไทยในภาคตะวันออก จะมีผลผลิตลดลง -14% หรือคาดจะออกผลผลิตได้เพียง 6.5 แสนตัน และภาคใต้ คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนลดลงถึง -25% ทำให้คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้เพียง 3.1 แสนตัน
เมื่อผลผลิตทุเรียนไทยปีนี้ลดลง ก็ส่งผลให้ราคาทุเรียนไทยพุ่งสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าราคาทุเรียนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 22% เมื่อราคาสูงขึ้น จะส่งผลดีกับเกษตรกรไทยที่ปลูกทุเรียนหรือไม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า แม้ว่าราคาทุเรียนจะสูงขึ้นก็ตาม แต่ภาพรวมของรายได้เกษตรกรไทยที่ปลูกทุเรียนในปีนี้ อาจจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เท่านั้น แบ่งเป็นรายได้เกษตรกรในภาคตะวันออก เพิ่มขึ้น 4% แต่เกษตรกรภาคใต้ รายได้กลับลดลง 8% ซึ่งรายได้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนยังไม่หักต้นทุนการผลิต โดยต้นทุนการผลิตที่สำคัญในช่วงเอลนีโญ ทั้งต้นทุนการซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน เครื่องปั้มน้ำ เครื่องสูบน้ำ สปริงเกอร์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งเป็นแรงกดดันทำให้รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก