การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 ดูเริ่มเห็นมีแสงสว่างสดใสขึ้น เมื่อตัวเลขส่งออกพบว่า มียอดส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ 26,219.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน และทำให้กลับมาเกินดุลการค้าในรอบ 5 เดือน
โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศสินค้าไหนส่งออกดี หนุนให้ไทยเกินดุลการค้า
วันนี้ SPOTLIGHT จะพามาดูกันว่า สินค้าไหนส่งออกดี สินค้าไหนยังต้องหาทางเร่งยอดส่งออก
โดยภาพรวม การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 ขยายตัว 7.2% มูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือในรูปเงินบาท 960,220 ล้านบาท ทำให้ดุลการค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน เป็นเดือนแรกที่ส่งออกมากกว่านำเข้า ซึ่งสินค้าเกษตรเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จากภาคการผลิตโลกฟื้นตัว
สินค้าที่ส่งออกดีสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 ได้แก่
- สินค้าเกษตร ที่กลับมาขยายตัว มูลค่า 3,155.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง +36.5%
- สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่า 2,149.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +0.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
- สินค้าอุตสาหกรรม มูลค่า 19,984.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +4.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร: ขยายตัว 19.4%
สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิเช่น
- ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวในรอบ 4 เดือน เพิ่มขึ้น +128.0% ส่งออกไปยังตลาดจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น
- ยางพารา ขยายตัว +7 เดือนต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น +46.6% ส่งออกไปยังตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้
- ไก่แปรรูป ขยายตัว +3 เดือนต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น +10.2% ส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา
- ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวในรอบ 7 เดือน เพิ่มขึ้น +95.7%
- อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว +8 เดือนต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น +39.2%
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว +8 เดือนต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น +8.8%
- สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัว +11 เดือนต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น +6.0%
- นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัว +14 เดือนต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น +16.7%
- สินค้าอุตสาหกรรม: ขยายตัว 4.6%
สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิเช่น
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
- ทองแดงและของทำด้วยทองแดง
- ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิเช่น
- ข้าว
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
- น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
- ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ
- เคมีภัณฑ์
- พลาสติก
สำหรับตลาดส่งออกของไทย มีดังนี้
- ตลาดหลัก: ขยายตัว 6.7% โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ CLMV อาเซียน สหภาพยุโรป แต่หดตัวในตลาดจีนและญี่ปุ่น
- ตลาดรอง: ขยายตัว 14.4% โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่ม CIS แต่หดตัวในสหราชอาณาจักร
- ตลาดอื่นๆ: หดตัว 68.5%
โดยปัจจัยที่สนับสนันสำหรับให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ คือ
- ผลไม้ไทยที่ทยอยออกผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น
- กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องได้รับการสนับสนุนจากความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยในภาคธุรกิจ
- ภารการผลิตโลกที่ขยายตัวในอัตราเร่ง โดยเฉพาะภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอย่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศในเอเซีย
ขณะที่แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่า การส่งออกจะยังคงขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี 2567 จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเติบโต และความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้ม แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้า และความผันผวนของค่าเงิน ปัญหาภัยแล้งที่จะเข้ามากระทบต่อปริมาณการผลิตของภาคการเกษตร และสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมาที่จะกระทบต่อเส้นทางการขนส่งของสินค้าไทย