แม้ว่าการส่งออกของจีนจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเดือนสิงหาคม แต่ก็มีสัญญาณเตือนถึงความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า การชะลอตัวของการส่งออกแร่หายากและความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นกับชาติตะวันตกกำลังทดสอบความสามารถของจีนในการรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความพยายามในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ
สำนักงานศุลกากรรายงานว่า การส่งออกของจีนในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นมูลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 6.5% ตามผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ ในขณะเดียวกัน การนำเข้าขยายตัว 0.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในเดือนกรกฎาคม การส่งออกเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ที่ 7.2%
การส่งออกของจีนไปยังคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศอาเซียน ล้วนมีการเติบโตในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีการขยายตัวสูงสุดที่ 13% ตามการวิเคราะห์ข้อมูลทางการของ CNBC สำหรับในการนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าจากสหภาพยุโรปลดลง และการนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น 5% ฝั่งการนำเข้าของจีนจากรัสเซียลดลง 1% ขณะที่การส่งออกไปยังรัสเซียเพิ่มขึ้น 10%
ด้านการส่งออกรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ในเดือนสิงหาคม เป็น 610,000 คัน การส่งออกเรือเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่การส่งออกสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น 6.7% และการส่งออกกระเป๋าเดินทางเพิ่มขึ้นเกือบ 9% ทำให้มูลค่าของวงจรรวมที่ส่งออกเพิ่มขึ้น 18% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 11%
ปริมาณการส่งออกแร่หายากของจีนลดลง 1% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าลดลง 12% เพราะก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน จีนได้ประกาศนโยบายใหม่เพื่อเพิ่มการกำกับดูแลอุตสาหกรรมแร่หายากภายในประเทศอันเนื่องมาจากความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ และในเดือนสิงหาคม กระทรวงพาณิชย์ได้สร้างความประหลาดใจให้กับภาคส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมแร่ธาตุที่สำคัญด้วยการประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกพลวง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้
ด้านการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนลดลง 7% ในเดือนสิงหาคม และเมื่อพิจารณาในรูปของสกุลเงินหยวนจีน การส่งออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้น 6.9% ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.7% ฝั่งการส่งออกของจีนถือเป็นจุดแข็งในเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ
สำหรับด้านดัชนีราคาผู้บริโภคหลัก ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ตามข้อมูลจาก Wind Information ทำให้การพึ่งพาการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของจีนเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและสินค้าอื่น ๆ จากจีน
สรุปแม้ตัวเลขการส่งออกของจีนจะดูสดใสในเดือนสิงหาคม แต่ทิศทางการค้าที่ผันผวนและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นกำลังส่งสัญญาณเตือนถึงความท้าทายที่จีนต้องเผชิญในอนาคต การรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศจะเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับจีนในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้