Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
“กรีนแลนด์” มีอะไรดี? ทรัมป์อยากได้ จีนก็อยากครอง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

“กรีนแลนด์” มีอะไรดี? ทรัมป์อยากได้ จีนก็อยากครอง

8 ม.ค. 68
18:11 น.
|
414
แชร์

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศย้ำว่าเขาแน่วแน่สำหรับไอเดียที่อยากจะยึดกรีนแลนด์ ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐฯ จะใช้กำลังทางทหารหรือเศรษฐกิจเข้ายึดกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนของเดนมาร์ก โดยทรัมป์ตอบว่า เขาไม่สามารถรับรองได้ว่าจะไม่ทำเช่นนั้น แต่เขาสามารถบอกได้ว่า สหรัฐฯต้องการกรีนแลนด์เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า การเป็นเจ้าของและควบคุมกรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯ 

ความพยายามอย่างชัดเจนที่จะเข้ามามีอิทธิพลเหนือกรีนแลนด์ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นก่อนที่เขาจะก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในสมัยที่ 2 แต่ทรัมป์เคยเสนอแนวคิดในการซื้อกรีนแลนด์ในปี 2019 ซึ่งตอนนั้นเขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยแรก อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเม็ตต์ เฟรเดอริกเซ่น ของเดนมาร์กให้สัมภาษณ์ว่า "กรีนแลนด์เป็นของชาวกรีนแลนด์" และเน้นย้ำว่าประชากรท้องถิ่นเท่านั้นที่มีสิทธิ์กำหนดอนาคตของตนเอง รวมถึงรัฐบาลเดนมาร์กได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นกรีนแลนด์ ในการป้องกันภัยการรุกรานทางทหารจากต่างชาติ

จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่แสดงออกถึงความต้องการครอบครองพื้นที่ยุทธศาสต์แห่งนี้ โดยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลกรีนแลนด์ตัดสินใจสร้างสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ 3 แห่งที่สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ได้ เพื่อขยายการขนส่งสินค้าและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งจีนแสดงความพยายามในการเข้าร่วมประมูลสัญญาจัดสร้างสนามบินดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จีนยังล้มเหลวที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างเส้นทางคมนาคมสำคัญสู่ขั้วโลกเหนือ

สนามบินกรีนแลนด์ที่เพิ่งสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม ปี 2024

ทำไมสองมหาอำนาจ แย่งชิง “กรีนแลนด์”

แท้จริงแล้ว จุดเริ่มต้นของการห้ำหั่นกันระหว่างสองมหาอำนาจที่จะแย่งชิงกรีนแลนด์ อาจเกิดขึ้นในปี 2015 จีนตระหนักถึงความสำคัญของกรีนแลนด์ในแง่ของการเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญด้านแร่ธาตุ เมื่อรัฐวิสาหกิจของกรีนแลนด์เริ่มลงทุนในบริษัทขุดแร่ในพื้นที่ จีนก็เริ่มลงทุนในกิจการขุดแร่สำคัญอย่างน้อย 4 แห่งในกรีนแลนด์ ทำให้กรีนแลนด์ครองตำแหน่งผู้นำในตลาดธาตุหายาก เนื่องจากแร่ธาตุหายากเหล่านี้ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่จำเป็นต่อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง ธาตุหายากมีความสำคัญต่อการใช้งานด้านการป้องกันประเทศที่สำคัญ เช่น เครื่องยนต์เครื่องบินขับไล่ ระบบนำวิถีขีปนาวุธ รวมถึงระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม การผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า 

แผนที่เส้นทางสายไหมของจีน

แม้ว่าสหรัฐอเมริกาเคยพึ่งพาทรัพยากรของตนเองสำหรับแร่ธาตุหายากได้ แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ แทบจะพึ่งพาการนำเข้าเกือบทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มาจากจีน ซึ่งต้องเรียกว่าสหรัฐฯ ไหวตัวช้าในการให้ความสำคัญกับกรีนแลนด์ และเพิ่งจะมาตื่นตัวหลังจากที่จีนใช้กลยุทธ์วางโครงสร้างพื้นฐานให้กับกรีนแลนด์ แลกกับการเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ 

จีนจะเปลี่ยนกรีนแลนด์ สู่ “เส้นทางสายไหมขั้วโลก”

สหรัฐฯ เริ่มหันมาให้ความสนใจกับกรีนแลนด์อย่างจริงจัง หลังจากที่ ปี 2018 รัฐบาลจีนและรัสเซียประกาศจะให้กรีนแลนด์เป็นสถานีการค้าระหว่างทาง บน “เส้นทางสายไหมขั้วโลก” ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมต่ออเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก และยุโรปตะวันตก รวมถึงได้ซื้อและว่าจ้างเรือตัดน้ำแข็งเพื่อสร้างเส้นทางใหม่สำหรับการขนส่งสินค้าผ่านน้ำแข็งในอาร์กติกแล้ว ทั้งนี้ จีนเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของกรีนแลนด์ โดยส่งออกอาหารทะเล น้ำแข็ง น้ำ และหนังแมวน้ำไปยังจีน 

พื้นที่ยุทธศาสตร์ “ป้องกันทางทหาร” ของสหรัฐฯ 

จีนมองกรีนแลนด์เป็นแหล่งทรัพยากรและพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการทำสงครามการค้า แต่ดูเหมือนว่า สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับกรีนแลนด์ในเชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทหารมากกว่า สหรัฐฯ เปลี่ยนโฟกัสจากที่ไม่ค่อยสนใจในภูมิภาคนี้ มาเป็นการกำหนดให้พื้นที่กรีนแลนด์ รวมอยู่ในนโยบายสกัดกั้นกองทัพจีน กองทัพรัสเซีย โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้กำหนดให้อาร์กติกเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างมากและเป็นสถานที่สำคัญในการแสดงอำนาจทางกรทหารระดับโลก

ฐานทัพอวกาศธูเล่ของสหรัฐฯ ในกรีนแลนด์ ศูนย์วิจัยในฐานทัพอวกาศธูเล่ของสหรัฐฯ กรีนแลนด์

ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีฐานทัพทหารขนาดใหญ่ที่ธูเล เป็นฐานทัพอวกาศของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์และเป็นฐานทัพแห่งเดียวที่สามารถตรวจสอบกิจกรรมขีปนาวุธทั้งหมดของรัสเซียได้ เรดาร์ของฐานทัพสามารถตรวจจับและติดตามขีปนาวุธข้ามทวีปและดาวเทียมในวงโคจรต่ำของโลกได้ และ สามารถส่งคำเตือนไปยังกระทรวงกลาโหมได้ภายใน 60 วินาที นอกจากนี้ ยังเป็นฐานวิจัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงสูญเสียพื้นที่ดังกล่าวให้จีนขึ้นมามีอิทธิพลไม่ได้อย่างเด็ดขาด และเป็นเหตุผลที่ทรัมป์ประกาศกร้าวจะยึดเกาะน้ำแข็งแห่งนี้


แชร์
“กรีนแลนด์” มีอะไรดี? ทรัมป์อยากได้ จีนก็อยากครอง