บริษัทญี่ปุ่นปรับฐานเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานขึ้น 2.5% ในเดือนพฤษภาคม สูงสุดในรอบ 31 ปี เพื่อช่วยพนักงานรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากค่าเงินเยนที่อ่อน ขณะธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จ่อขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงรุนแรงขึ้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การปรับฐานเงินเดือนของพนักงานทั่วประเทศในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นเงินเดือนสูงที่สุดตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าธนาคารกลางของญี่ปุ่น หรือ BOJ กำลังเตรียมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ จากที่ได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน โดยการเพิ่มฐานเงินเดือน คือ การเพิ่มรายได้ประชาชนให้พร้อมรับกับอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะสูงขึ้น
แนวโน้มของรายได้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เกิดขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยก่อนที่จะมีการปรับฐานเงินเดือนทั่วประเทศดังกล่าว กลุ่มสหภาพแรงงานใหญ่ของญี่ปุ่นก็เพิ่งเจรจาปรับเงินเดือนครั้งใหญ่ให้กับสมาชิกได้ โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 5.1% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 1991
ขณะที่ในเดือนพฤษภาคม รายได้ที่เป็นเงิน (nominal wage) เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานญี่ปุ่นทั่วประเทศยังเพิ่มขึ้นถึง 1.9% มาเป็น 297,151 เยน สูงที่สุดในรอบ 11 เดือน และมากกว่าอัตราการเติบโตในเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.6%
โดยบริษัทญี่ปุ่นไม่ได้ปรับเพิ่มฐานเงินเดือนให้กับพนักงานประจำเท่านั้น แต่ยังได้ปรับเพิ่มรายได้ของพนักงานพาร์ทไทม์ด้วย เนื่องจากขาดกำลังคนในการทำงาน และเพื่อดึงดูดให้คนอยากเข้ามาทำงานมากขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม รายได้ต่อชั่วโมงของพนักงานพาร์ทไทม์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มากกว่ารายได้ของพนักงานประจำซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้การปรับเพิ่มเงินเดือนจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและเสริมกำลังประชาชนให้พร้อมกับดอกเบี้ยที่กำลังจะปรับตัวขึ้นได้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะไม่ทันอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงรุนแรงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงต่ำ และเงินเยนที่ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าลงถึง 12.72% แล้วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
โดยหากนำมาคิดกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงขึ้น 2.6% ในเดือนพฤษภาคม มูลค่าที่แท้จริงของรายได้ของแรงงานญี่ปุ่นกลับกลายเป็นติดลบถึง 1.4% ลดลงเป็นเดือนที่ 26 ติดต่อกัน สะท้อนว่า แม้ตัวเลขรายได้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังปรับขึ้นไม่ทันกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า รายได้ที่แท้จริงของชาวญี่ปุ่นยังติดลบ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ประชาชนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย
นอกจากนี้ การตัดสินใจขึ้นฐานเงินเดือนหรือรายได้ของบริษัทญี่ปุ่นอาจไม่ส่งผลให้พนักงานมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นได้ในทันที แต่อาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการเจรจาและปรับขึ้นเงินเดือนให้ครบทุกคน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นในวงกว้าง
ดังนั้น นักวิเคราะห์ ประเมินว่า BOJ การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BOJ นั้น คงต้องพิจารณาตัดสินใจด้วยข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวประกอบกัน ซึ่งคงไม่พิจารณาเพียงแค่ตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพียงเดือนเดียว เพราะหากปรับขึ้นดอกเบี้ยรวดเร็วเกินไป ก็อาจจะส่งผลกระทบให้ประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว อาจจะต้องรับผลกระทบเพิ่มทั้งสองทาง ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงด้วย ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนเพิ่มอีกทาง
นอกจากนี้ ภายหลังจากที่มีข่าวเรื่องการปรับเพิ่มรายได้ของพนักงานบริษัทญี่ปุ่นออกมา ค่าเงินเยนแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับตัวแข็งค่าขึ้นเลย สะท้อนว่า เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่จุดเปลี่ยนต่อภาวะเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก เพราะภาวะเงินเฟ้อที่สูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่อยู่ ทั้งเพราะค่าเงินและปัจจัยอื่นๆ
ดังนั้น นอกจากการเพิ่มรายได้แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมาตรการช่วยประชาชนเพิ่มด้วยเพื่อลดผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ โดยในเดือนสิงหาคม นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเผยว่า รัฐบาลกำลังจะออกมาตรการให้เงินสนับสนุนนราคาสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า และน้ำประปา อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ ยังคาดว่า ฐานเงินเดือนของพนักงานญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทเอกชนกำลังขาดแคลนแรงงาน และไม่มีทางเลือกนอกจากเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อจูงใจให้คนเข้ามาทำงาน โดยคาดว่ารายได้เฉลี่ยของพนักงานประจำในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นถึง 3% ในเดือนกรกฎาคม
สำหรับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ประกอบกับอัตรารายได้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะทำให้รายได้ที่แท้จริงเมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 3 และทำให้ปริมาณการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นมาหลังจากลดลงมา 4 ไตรมาสติตต่อกัน ซึ่งอาจเป็นสภาวะที่เหมาะให้ BOJ ตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
โดยถ้าหากตัวเลขรายได้ที่แท้จริงของประชาชนและการบริโภคปรับตัวดีขึ้นจริง BOJ ก็อาจจะตัดสินใจปรับเพิ่มดอกเบี้ยในเดือนกันยายน หรือตุลาคม