ปัจจุบัน ระบบเมืองไทย เป็นระบบที่เอื้อให้มีได้หลายพรรค ทำให้เมื่อมีการเลือกตั้ง สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจับตามอง ก็คือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งการตั้งพรรค การยุบพรรค และการย้ายพรรค ซึ่งเกิดขึ้นได้อยู่เสมอในระบบหลายพรรค
ทั้งนี้ หากมองไปยังฝั่งสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งของสหรัฐฯ มีลักษณะพิเศษ คือ มีเพียงผู้เล่น 2 พรรคใหญ่ คือ ‘เดโมแครต’ และ ‘รีพับลิกัน’ และมีแคนดิเดตประธานาธิบดีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่มีพื้นที่ในสื่อและเป็นที่พูดถึง ราวกับว่า กฎหมายสหรัฐฯ อนุญาตให้มีเพียง 2 พรรคการเมืองในประเทศ
ในวันนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบกันว่า ทำไมในการเลือกตั้ง สหรัฐฯ จึงมีเพียง 2 พรรคการเมืองเท่านั้นที่มีบทบาท ขณะที่ไทยมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่มากมายเมื่อมีการเลือกตั้ง? และแต่ละระบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
ปัจจุบัน ในประเทศที่มีระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่มีประเทศใดที่กำหนดหรือจำกัดจำนวนของพรรคการเมือง แต่ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนพรรคการเมือง และแนวทางในการหาเสียงของนักการเมืองในทุกประเทศ คือ ‘ระบบเลือกตั้ง’ ที่แต่ละประเทศออกแบบให้แตกต่างกัน และปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามความเหมาะสม ทำให้หากมองในรายละเอียด ในโลกนี้จะมีระบบเลือกตั้งมากมาย
ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นประเภทตามหลักการความเป็นสัดส่วน ระบบเลือกตั้งในโลกนี้อาจถูกจัดกว้างๆ ได้เป็น 3 ตระกูล คือ
โดยหากผู้อ่านคนใดมีประสบการณ์เลือกตั้งในประเทศไทยมาบ้าง จะพบว่า ระบบเลือกตั้งของไทยเป็นระบบผสม คือ มีทั้งเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบรายเขต หรือ แบบ “เลือกคน” ซึ่ง ส.ส. ที่ได้จากการเลือกตั้งระบบนี้จะเรียกว่า “ส.ส. แบ่งเขต” และ การเลือกพรรคการเมืองที่ชอบและต้องการให้มีที่นั่งในสภา หรือแบบ “เลือกพรรค” ซึ่ง ส.ส. ที่ได้ที่นั่งจากการเลือกพรรคก็คือ “ส.ส. บัญชีรายชื่อ”
ดังนั้น ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในไทยจะมีสิทธิเลือก 2 อย่าง คือ ผู้แทนในเขตของตัวเอง และพรรค ซึ่งอาจจะเลือกผู้แทนเขตจากพรรคหนึ่ง แต่สามารถเลือกอีกพรรคได้เหมือนกัน ซึ่งประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยส่วนมากก็ใช้วิธีนี้
ในทางกลับกัน ระบบการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เป็นระบบคะแนนนำ หรือเสียงข้างมาก และมีระบบการเลือกประธานาธิบดีหรือผู้นำสูงสุดของประเทศที่เฉพาะตัว คือ ระบบ “Electoral College” โดยเมื่อคนอเมริกันไปเลือกตั้ง คนอเมริกันจะไม่ได้ลงคะแนนให้กับแคนดิเดตที่ตนต้องการให้เป็นประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกผู้แทนและ Elector ของตัวเอง โดยการเลือกตัวแทนเขตจากพรรคที่ต้องการ ซึ่ง Elector นี้จะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง
ปัจจุบัน แต่ละรัฐจะมีจำนวน Elector ไม่เท่ากัน เพราะคิดตามสัดส่วนจำนวนประชากรในรัฐที่ยิ่งมีสูงก็จะยิ่งมีจำนวน Elector มาก และมีจำนวนเท่าจำนวนผู้แทน บวกกับสว. อีกสองคน เช่น อิลลินอยส์ ที่มีทั้งหมด 17 เขต ทำให้มีผู้แทน 17 คน และ สว. อีก 2 คน ทำให้คะแนนโหวตประธานาธิบดีของรัฐอิลลินอยส์มีทั้งหมด 19 เสียง
ทั้งนี้ แม้ในรัฐนั้นจะมีผู้ชนะจากหลายพรรคผสมๆ กันไป พรรคที่ชนะและได้คะแนนเสียงมากกว่าในรัฐนั้นจะได้เสียงของ Elector ไปทั้งหมด เช่น ในปี 2020 แม้พรรครีพับลิกันจะชนะเลือกตั้งในรัฐอิลลินอยส์ไป 3 เขต จากทั้งหมด 17 เขต พรรครีพับลิกันจะไม่ได้คะแนน Elector เลยแม้แต่เสียงเดียว ขณะที่ เดโมแครตได้ไปเลยทั้งหมด 19 เสียง เพราะได้คะแนนมากกว่าในรัฐนั้น
กฎนี้ทำให้ในบางครั้ง ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มีชื่อเรียกอีกแบบว่าแบบ “Winner-Takes-All” หรือ “ผู้ชนะกินรวบ” เพราะแม้พรรคที่แพ้การเลือกตั้งจะชนะคะแนนเสียงของประชากรบางส่วนในรัฐ สิทธิในการเลือก ปธน. จะตกอยู่กับพรรคที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งทั้งหมด และรัฐที่มีจำนวน Elector มาก เช่น แคลิฟอร์เนียที่มี Elector สูงถึง 54 คน จึงเป็นรัฐที่นักการเมืองจากแต่ละพรรคลงแรงหาเสียงมากที่สุด
เมื่อพิจารณาจากที่ได้อธิบายมา หลายๆ คนอาจจะพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมการเลือกตั้งแบบแบ่งสัดส่วน หรือผสม จึงทำให้ประเทศนั้นมีหลากหลายพรรคการเมือง แต่ระบบการเลือกตั้งแบบคะแนนนำ จึงทำให้เกิดระบบสองพรรค
นี่ก็เป็นเพราะว่า ในระบบครองเสียงข้างมาก พรรคเล็กมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง หรือมีที่นั่งในสภาค่อนข้างน้อย เพราะยากมากที่พรรคเล็กจะได้คะแนนเสียงเกินครึ่งในแต่ละรัฐจนได้เสียง Elector ในรัฐนั้น และยากยิ่งกว่าที่จะได้คะแนน Elector ทั่วประเทศมากพอจะเลือกประธานาธิบดีได้
ดังนั้น แม้จะมีพรรคเล็กที่นโยบายถูกใจถูกก่อตั้งขึ้นมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็มักเลือกที่จะลงคะแนนให้ผู้ลงสมัครจากพรรคใหญ่ ที่มีแนวทางนโยบายตรงกับค่านิยมส่วนตัวมากกว่า เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น พรรคใหญ่มีนโยบายตรงข้ามกับความต้องการมากที่สุด ก็มีสิทธิสูงที่จะชนะ
นอกจากนี้ ระบบนี้ยังทำให้นักการเมืองของสหรัฐฯ ไม่กล้าเสี่ยงที่จะแตกแถวไปตั้งพรรคเอง และเลือกที่จะเข้าสังกัดกับพรรคใหญ่ที่มีแนวทางนโยบายตรงกับแนวคิดของตัวเองมากที่สุดมากกว่า เพราะหากตั้งพรรคของตัวเองก็แทบจะไม่มีสิทธิชนะ หรือมีสิทธิได้ที่นั่งเข้าไปในสภาเลย
ในทางกลับกัน ในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนหรือแบบผสม พรรคเล็กก็จะมีสิทธิมีที่นั่งในสภาได้ หากได้คะแนนเสียงจากแบบบัญชีรายชื่อมากพอ จนได้โควตาที่นั่งในสภาจากคะแนนเสียงที่ได้จริง
ระบบนี้ทำให้นักการเมืองตั้งพรรคเล็กๆ ที่มีนโยบายแตกต่างขึ้นมาเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน และเมื่อได้เก้าอี้ในสภามาแล้ว ก็สามารถเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ได้ ในระหว่างที่มีการฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลและเลือกตัวนายกรัฐมนตรี
ขณะที่การเมืองสหรัฐฯ มีลักษณะพิเศษ คือ มีเพียงผู้เล่น 2 พรรคใหญ่ คือ ‘เดโมแครต’ และ ‘รีพับลิกัน’ และมักจะมีแคนดิเดตประธานาธิบดีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่มีพื้นที่ในสื่อและเป็นที่พูดถึงราวกับว่ากฎหมายสหรัฐฯ อนุญาตให้มีเพียง 2 พรรคการเมืองในประเทศ
จากที่ได้อธิบายมา จะเห็นได้ว่า แต่ละระบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ทั้งในแง่เสถียรภาพทางการเมือง และความหลากหลาย เพราะจากการศึกษา ในระบบผู้ชนะกินรวบแบบของสหรัฐฯ ระบบการเมืองของประเทศจะค่อนข้างมีเสถียรภาพ และประชาชนได้พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านชัดเจนในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่มีการพลิกล็อกผลการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ แม้ระบบของสหรัฐฯ จะมีเสถียรภาพสูง ระบบนี้ก็ทำให้พรรคการเมืองและนโยบายขาดความหลากหลาย ประชาชนมีตัวเลือกน้อย ต้องทนเลือกพรรคที่ตรงใจน้อยที่สุด แทนที่จะได้เลือกพรรคที่มีนโยบายตรงใจมากที่สุด ซึ่งทำให้ประชาชนบางส่วนที่อาจจะอยากได้นโยบายจากทั้ง 2 พรรค หรือไม่อยากได้นโยบายจากฝั่งใดเลย ไม่มีสิทธิเลือกผู้แทนของตัวเองอย่างแท้จริง
ขณะที่ระบบสัดส่วน และผสมแบบไทย มีข้อดี คือ ทำให้มีพรรคให้เลือกมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้นักการเมืองแต่ละพรรคต้องตื่นตัว ฟังเสียงประชาชน และมีการแข่งกันออกนโยบายที่ตรงใจประชาชนมากที่สุดเพื่อเรียกคะแนนเสียง เพราะรู้ตัวว่าอาจสอบตกได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ระบบแบบผสมแม้จะทำให้มีความหลากหลาย ก็มีข้อเสีย คือ ทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทำให้เกิดการย้ายขั้ว เปลี่ยนข้าง ได้สะดวกมากขึ้น โดยการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพนี้อาจทำให้การดำเนินนโนบาย หรือการใช้งบประมาณของรัฐบาลไม่ราบรื่น และอาจเป็นข้อเสียเปรียบด้านการดึงดูดการลงทุน เพราะนักลงทุน และนักธุรกิจ ต่างๆ ย่อมต้องการฉากทัศน์การเมืองและเศรษฐกิจที่มั่นคงแน่นอนระดับหนึ่งในการวางแผนและตัดสินใจลงทุนในแต่ละประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ระบบการเลือกตั้งจึงมีผลอย่างมากต่อสภาวะการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ และมีความสำคัญนอกเหนือจากเป็นวิธีเลือกผู้แทน เพราะระบบเลือกตั้งมีผลกระทบต่อแนวทางและวิธีในการทำงานของนักการเมือง
อ้างอิง: GSDRC, ECPR, History.com, Futurum