นายกรัฐมนตรีแพรทองธาร ชินวัตร เดินทางถึงกรุงโดฮา กาตาร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม ตามคำเชิญของชีคทามิม บิน ฮาหมัด อัล ทานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ และในวันนี้ (3 ตุลาคม 2024) นายกรัฐมนตรีจะขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในฐานะสมาชิกของ ACD ด้วย
แต่ภูมิภาคตะวันออกกลางในเวลานี้ กำลังเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยเรื่อย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ กาตาร์ก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย และถ้าหากดูจากคู่ขัดแย้งต่างๆในตะวันออกกลางแล้ว ก็จะพบว่า กาตาร์คือประเทศที่พยายามวางตัวเป็นกลาง และทำหน้าที่ “ผู้ไกล่เกลี่ย” มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้การประชุม ACD ยังคงจัดขึ้น แม้ตะวันออกกลางจะตึงเครียดจัดก็ตาม
นับตั้งแต่สงครามในกาซาเริ่มขึ้นมาเกือบหนึ่งปี กาตาร์ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยของทั้งสองฝ่ายมาโดยตลอด เพราะกาตาร์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งฮามาส อิสราเอล และสหรัฐฯ ดังนั้นรัฐบาลโดฮาจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดเจรจา เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดขึ้นตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การที่กาตาร์ก้าวเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน มันเริ่มขึ้นตั้งแต่ชีค ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ทานี เริ่มขึ้นมามีอำนาจในปี 1995
ดร.เมหราน คัมราวา ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วิทยาเขตกาตาร์เปิดเผยว่า กาตาร์เรียนรู้อย่างรวดเร็วตั้งแต่แรกถึงการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในความขัดแย้งหรือการทูต ซึ่งสำคัญมากต่อการมีชีวิตรอดและการมีความสัมพันธ์ในระยะยาว
นับตั้งแต่ปี 2018 กาตาร์ส่งความช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปให้กาซา ช่วยสนับสนุนหน่วยงานพลเรือนภายใต้การดูแลของกลุ่มฮามาส ขณะที่อิสราเอลเองก็รับทราบถึงเรื่องนี้ดี และปล่อยให้กาตาร์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องนี้ เพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพในกาซา
แต่หลังจากวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ความสัมพันธ์เหล่านี้ก็เริ่มซับซ้อนมากขึ้น ตั้งแต่นั้นอิสราเอลก็เริ่มตั้งคำถามถึงการสนับสนุนทางการเงินของกาตาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากค้นพบอุโมงค์ใต้ดินของกลุ่มฮามาส
สถานการณ์ในตะวันออกกลางเริ่มมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยเรื่อย โดยเฉพาะหลังจากที่ฮานิเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส และนัซรัลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เสียชีวิตในการจู่โจมของอิสราเอล สิ่งเหล่านี้เพิ่มความท้าทายให้แก่กาตาร์ที่ต้องเผชิญ ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย เพราะอิสราเอลก็ตั้งคำถามถึงแรงจูงใจของกาตาร์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ใจที่จะให้กาตาร์ทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยกับฮามาสต่อ
เกอร์ชอน บาสกิน ผู้ไกล่เกลี่ยชาวอิสราเอล ซึ่งเคยทำหน้าที่การเจรจากับปาเลสไตน์เคยระบุเอาไว้ว่า อิสราเอลต้องพึ่งพาการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของกาตาร์ แม้ว่าจะมีความสงสัยใดๆก็ตาม อิสราเอลรู้ดีว่ากาตาร์มีความข้องเกี่ยวทางการเงินกับฮามาส แต่ก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้น เพราะว่ากาตาร์ทำหน้าที่เหมือนเป็นกันชน เป็นวิธีที่จะคงความสงบเอาไว้ในกาซา ขณะเดียวกันก็ควบคุมฮามาสไปด้วย
อย่างไรก็ตาม กาตาร์ยังคงสถานะของตนเองในฐานะผู้เล่นคนสำคัญของการทูตตะวันออกกลาง โดยเมื่อเร็วๆนี้ ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ทานี ได้ขึ้นกล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ระบุถึงความขัดแย้งในกาซาว่าเป็น สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที และเขายังคงเน้นย้ำถึงการให้คำมั่นของกาตาร์ที่จะทำหน้าที่คนกลาง โดยทำทั้งการวางนโยบายกลยุทธ์และหน้าที่ทางมนุษยธรรม เพื่อสร้างสันติภาพในท้ายที่สุด