Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
กรอบเงินเฟ้อคืออะไร ? ทำไมรัฐบาลอยากให้ธปท.เพิ่มกรอบเงินเฟ้อ ?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

กรอบเงินเฟ้อคืออะไร ? ทำไมรัฐบาลอยากให้ธปท.เพิ่มกรอบเงินเฟ้อ ?

11 ต.ค. 67
21:42 น.
|
661
แชร์

หากใครติดตามข่าวเศรษฐกิจและการเงินเป็นประจำ ประเด็นหนึ่งที่ต้องเคยได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ ‘การปรับดอกเบี้ย’ และ ‘กรอบเงินเฟ้อ’ โดยในขณะนี้ ‘รัฐบาล’ กำลังผลักดันให้ ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ หรือแบงก์ชาติ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมเพิ่ม ‘กรอบเงินเฟ้อ’ ให้สูงขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1 - 3%

ในเมื่อกรอบเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า กรอบเงินเฟ้อคืออะไร ทำไมต้องมี แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้กรอบเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ระดับ 1 - 3% และทำไมรัฐบาลจึงอยากให้แบงก์ชาติปรับกรอบเงินเฟ้อขึ้น ? SPOTLIGHT จะพาทุกคนไปหาคำตอบ

กรอบเงินเฟ้อคืออะไร ?

Inflation Targeting หรือกรอบเงินเฟ้อ คือเครื่องมือหนึ่งที่ธนาคารกลางกำหนดขึ้นเอง เพื่อใช้เป็น“จุดอ้างอิง” ในการดำเนินนโยบายการเงิน เช่น หากเงินเฟ้อเกินกรอบ แบงก์ชาติก็จะรู้ว่าตัวเองควรต้องเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อให้เงินเฟ้อลดลงมาอยู่ในกรอบ และในทางตรงกันข้ามที่หากเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบ แบงก์ชาติก็จะรู้ว่าตัวเองควรต้องลดดอกเบี้ย เพื่อให้เงินเฟ้อขึ้นมาอยู่ในกรอบ

ดังนั้น ธนาคารกลางส่วนใหญ่จึงนิยมตั้งกรอบเงินเฟ้อ หรือระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของตัวเองขึ้นมาใช้ เพราะถ้าไม่มีอะไรเป็นหลักให้ยึดเลย แบงก์ชาติจะประเมินได้ยากว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะต้องขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ นักลงทุนกับนักวิเคราะห์อาจจะไม่มีหลักให้คาดการณ์ด้วยว่าแบงก์ชาติกำลังจะปรับดอกเบี้ยไปในทิศทางไหน ดังนั้นกรอบเงินเฟ้อจึงมีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้การดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติโปร่งใส มีเสถียรภาพ และสามารถคาดเดาได้มากขึ้น

ที่มาของกรอบเงินเฟ้อ 

แต่คำถามและประเด็นสำคัญที่ทำให้ ‘กรอบเงินเฟ้อ’ เป็นที่ถกเถียงระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. ในตอนนี้ก็คือ “กรอบเงินเฟ้อเท่าไรถึงเรียกว่าเหมาะสม” ? ซึ่งคำถามนี้ก็ต้องเท้าความถึงที่มาของกรอบเงินเฟ้อก่อนว่ามาจากไหน

หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจ เมื่อรู้ว่า ‘กรอบเงินเฟ้อ’ ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีมานานแล้ว แต่เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางเพิ่งคิดขึ้นมาใช้ เมื่อปี 1990 หรือประมาณ 34 ปีก่อน โดยธนาคารกลางแห่งแรกที่เริ่มคิดกรอบเงินเฟ้อมาใช้คือ “ธนาคารกลางนิวซีแลนด์” ซึ่งในขณะนั้นรู้สึกว่าธนาคารกลางยังไม่มีจุดอ้างอิงที่ดีพอในการดำเนินนโยบาย เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ธนาคารกลางส่วนมากดำเนินนโยบายการเงินแบบ “ Currency Peg ” หรือการกำหนด “กรอบอัตราแลกเปลี่ยน” ที่อิงค่าเงินต่างประเทศ ซึ่งมีจุดอ่อนคือการทำให้แบงก์ชาติเสียอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เปราะบางต่อการโจมตีค่าเงินและวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น ธนาคารกลางนิวซีแลนด์จึงคิดกรอบเงินเฟ้อขึ้นมาอ้างอิง เพราะคิดว่าหากอิงตามระดับเงินเฟ้อในประเทศ ธนาคารกลางน่าจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้ตรงจุดกว่า

โดยในขณะนั้น ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ตั้งกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 1 - 3% ซึ่งเหมือนกับไทยในปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่าเงินเฟ้อระดับนี้เหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพการเงิน และเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่สุด คือ “ไม่สูงเกินไป” จนเร่งให้ราคาสินค้าในประเทศพุ่งเร็วเกินเหตุ และทำให้ค่าแรงหรือประชาชนปรับตัวตามไม่ทัน ขณะเดียวกัน ก็ “ไม่ต่ำเกินไป” จนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะซบเซาหรือถดถอย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางบางประเทศก็ไม่ได้กำหนดกรอบเงินเฟ้อเป็นกรอบกว้าง ๆ แต่กำหนดเป็นตัวเลขเดียวเลย เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กำหนดระดับเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ซึ่งก็อยู่ตรงกลางระหว่าง 1 - 3% พอดีครับ

ทำไมรัฐบาลไทยอยากให้แบงก์ชาติเพิ่มกรอบเงินเฟ้อ

การที่กระทรวงการคลังอยากให้ ธปท. เพิ่มกรอบเงินเฟ้อ ก็เพราะว่าอยากให้ ธปท. ดำเนินนโยบายแบบ “ผ่อนคลาย” มากขึ้น นั่นคือ ‘การกำหนดดอกเบี้ยให้ต่ำ’ และ ‘ซื้อพันธบัตรรัฐบาล’ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะในกรณีที่กรอบเงินเฟ้อสูง ธปท. ก็จะต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินเฟ้อขึ้นถึงกรอบสูง ๆ นั้นให้ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จะขึ้นชื่อว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและปล่อยให้เงินเฟ้อสูง ก็มีข้อควรระวัง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเร็วจนประชาชนเดือดร้อน หากไม่มีการทำควบคู่ไปกับการเพิ่มค่าแรง หรือการกระตุ้นให้มีการก่อหนี้เกินควร ทำให้ประชาชนขาดวินัยการเงินหากไม่มีมาตรการควบคุมหนี้มากำกับ

ดังนั้น การกำหนดกรอบเงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องที่ทั้งธนาคารกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะหากปรับเปลี่ยนแล้วจะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง และอาจส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวง หากไม่มีการใช้นโยบายการคลังมาควบคุมผลเสียควบคู่ไป

ชมรายการ The Briefer ได้ที่คลิปนี้

แชร์
กรอบเงินเฟ้อคืออะไร ? ทำไมรัฐบาลอยากให้ธปท.เพิ่มกรอบเงินเฟ้อ ?