ราคาน้ำมัน ที่สูงอย่างต่อเนื่องในปี 2021 นักวิเคราะห์จากกลุ่มปตท. ออกมาชี้หลายปัจจัยส่งผลต่อราคาน้ำมันในอนาคต ทั้งการฟื้นของเศรษฐกิจ การผลิตน้ำมันจากกลุ่มโอเปก รวมถึงโควิด 19 ที่คลี่คลาย
24พ.ย.64นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) น.ส.ชณัฐฐา ฤกษ์ชัยรัศมี บอกถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในขณะนี้ว่า นอกจากความต้องการใช้น้ำมัน ที่มีผลต่อราคาน้ำมันแล้ว ซัพพลายเองก็มีความสำคัญเช่นกัน ที่ทำให้ความตึงตัวของราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง
โดยมองว่า ซัพพลายที่ตึงตัวจะเริ่มคลี่คลายได้ในไตรมาส 1/65 และในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปีหน้า คาดว่าดีมานด์และซัพพลายจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าดีมานด์จะเติบโตได้ 3 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 67-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ยังคงเชื่อว่าจะยังควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ และกลุ่มโอเปกพลัสจะยังให้ความร่วมมือในการลิตเป็นอย่างดี นอกจากนั้นการผลิตของสหรัฐฯ จะยังถูกจำกัด
ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, การแพร่ระบาดของโควิด-19, ความร่วมมือของกลุ่มโอเปกพลัส, การกลับมาผลิตเพื่อส่งออกของประเทศอิหร่านและเวเนซุเอลา หลังโดนสหรัฐคว่ำบาตร รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
"โดยปกติเมื่อดีมานและซัพพลายไม่สมดุลกัน ผู้ผลิตจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดน้ำมันกลับมาสมดุลอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต หรือลดปริมาณการผลิต แต่วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อดีมานด์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ผลของวิกฤติทำให้ผู้ผลิตบางส่วนหายไป ผู้ผลิตที่เหลือก็ยังรักษาวินัยเป็นอย่างดี และการผลิตยังถูกจำกัด นอกจากนั้นการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันมีการหยุดชะงัก รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานสะอาด สร้างความลังเลในการลงทุนเป็นอย่างมาก วันนี้ซัพพลายที่ตึงตัวก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูง"น.ส.ชณัฐฐา กล่าว
สำหรับการเพิ่มปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส มีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตที่ 400,000 บาร์เรล/วันในทุกเดือนจนถึง เม.ย. 65 หลังจากนั้นจะมีการปรับเพิ่ม baseline อีก 1.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหลังจากใช้ baseline ใหม่จะเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 430,000 บาร์เรล/วันในทุกเดือนจนถึงก.ย.65 และท้ายที่สุดโอเปกก็จะผลิตเต็มกำลังการผลิตอีกครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้กลุ่มโอเปกมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตยาวถึงปลายปีหน้า แต่ก็ยังเชื่อว่ากลุ่มโอเปกพลัสนั้นยังคงมีการประชุมในทุกเดือนเพื่อติดตามสถานการณ์ในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพราะกลุ่มโอเปกยังเชื่อว่าสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ด้านอิหร่านที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของโอเปกพลัสที่เคยมีปริมาณการผลิตถึง 3.8 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ มีผลต่อปริมาณน้ำมันในตลาดให้ลดลง แต่อิหร่านมีแผนที่จะเจรจากับ 6 ชาติมหาอำนาจ ในวันที่ 29 พ.ย. นี้ ซึ่งจะต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด หากอิหร่านสามารถกลับมาผลิตเพื่อการส่งออกได้จะทำให้มีซัพพลายเพิ่มขึ้นมาในตลาดอีก 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน
ด้านคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ สหรัฐฯ ได้มีการประกาศปล่อยน้ำมันดิบในคลังปิโตรเลียมสำรองเชิงยุทธศาตร์ ที่ 20 ล้านบาร์เรล ในไตรมาส 4/64 ขณะที่จีนปล่อยออกมาแล้วที่ 7.38 ล้านบาร์เรล ในเดือนก.ย.64 รวมถึงอิเดีย ก็มีแผนจะปล่อยออกมาเช่นกันที่ 5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ เองยังเรียกร้องให้หลายประเทศดำเนินการปล่อยน้ำมันดิบในคลังออกมาเพิ่มเติม เพื่อตอบโต้กับกลุ่มโอเปกพลัส หลังจากการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกยังไม่เพียงพอต่อดีมานด์ ซึ่งสหรัฐฯ เองก็จะปล่อยน้ำมันดิบในคลังเพิ่มเติมอีก 50 ล้านบาร์เรลในต้นปี 65 โดยให้ติดตามการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่
ด้าน น.ส.ดาวรุ่ง ติรวง์กุศล นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM) และนักวิเคราห์ตลาด บมจ.พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงของ Post Lockdown Life โดยกิจกรรมการเดินทาง การท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลดีต่อการใช้น้ำมันให้ปรับตัวขึ้น โดยสัดส่วนความต้องการใช้น้ำมันราว 60% มาจากกลุ่มขนส่ง (Transportation)
อย่างไรก็ตามแม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังไม่สามารถกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในปี 62 ที่มีความต้องการใช้น้ำมันของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ล้านบาร์ลเรล/วัน ขณะที่เมื่อเกิดโควิด-19 ในไตรมาส 2/63 ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงถึงระดับ 15 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ก็ปรับตัวขึ้นมาเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ที่อยู่ระดับ 64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สรุปปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันและราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น มาจาก
- นโยบายการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของแต่ละประเทศ ทั้งการเร่งฉีดวัคซีน, การออกนโยบายการอยู่ร่วมกันกับโควิด-19 ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศก็เริ่มเปิดประเทศกันมากขึ้น โดยทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ได้ประมาณการรายได้ต่อ 1 ผู้โดยสาร เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 100% การเดินทางบินระหว่างยุโรปกับสหรัฐในปี 65 มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 65% แต่การเดินทางระหว่างเอเชียไปยุโรป เอเชียไปสหรัฐฯ ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ส่วนหนึ่งมาจากจีน ที่ถือว่าเป็นผู้ใช้นำมันเป็นอันต้นๆ ของโลก เลือกที่จะใช้นโบาย ZERO COVID-19 STRATEGY หรือยังไม่เปิดประเทศ ทำให้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้น้ำมันในระยะยาว
- นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus package) เพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยในหลายประเทศทั่วโลกมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งยุโรป และสหรัฐ แต่ในประเทศญี่ปุ่น ถือว่ามีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด หรือคิดเป็น 54% ของ GDP ส่วนจีน เป็นประเทศที่ใช้นโยบายดังกล่าวน้อยที่สุด เนื่องจากจีน ยังเติบโตต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตราว 5.9% และในปี 65 ยังคงเติบโต ได้4.9% แต่การขยายตัวจะน้อยกว่าปีนี้ เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ
- การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้เกิดสภาวะหนาวจัดในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และต่อเนื่องรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ และยังเจอภาวะแล้งในประเทศบราซิล ในรอบเกือบ 90 ปีอีกด้วย ส่งผลทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในยุโรป ที่เริ่มหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือก อย่าง ลม และโซลาร์ ในปีนี้ที่เกิดภาวะ Climate Change ก็กระทบต่อกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานลม จึงหันไปพึ่งพาพลังงานอื่น อย่างก๊าซธรรมชาติแทน ขณะที่จีน พยายามที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2603 (Carbon Neutral By 2060) แต่ด้วยปัจจุบันจีน ส่วนใหญ่ยังผลิตพลังงานจากถ่านหินถึง 60% ทำให้จีนต้องหาพลังงานอย่างอื่นเพื่อทดแทนด้วย จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น