ข่าวเศรษฐกิจ

ร.ร.กวดวิชาจีนปลดคน 60,000 หลังถูกรัฐบาลคุมเข้ม

12 ม.ค. 65
ร.ร.กวดวิชาจีนปลดคน 60,000 หลังถูกรัฐบาลคุมเข้ม

ร.ร. กวดวิชารายใหญ่ที่สุดในจีน ปลดพนักงาน 60,000 คน หลังธุรกิจกวดวิชาถูกรัฐบาลกดดันเข้ม




ปี 2021 ที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งการ "จัดระเบียบ" ครั้งใหญ่ในประเทศจีน ที่รัฐเข้าไปจัดการเริ่มต้นตั้งแต่ภาคเทคโนโลยี ไปจนถึงอุตสาหกรรมเกม ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา ยันอินฟลูเอ็นเซอร์ขายของผ่านไลฟ์สตรีม จนคนที่เข้าไปเล่นตลาดหุ้นจีนร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน




ล่าสุด โรงเรียนกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุดในจีน New Oriental Education & Technology Group Inc. หรือเรียกสั้นๆ ว่า "นิวโอเรียนทอล" ได้เเปิดเผยถึงผลลัพธ์จากการจัดระเบียบตลอดปีที่ผ่านมาว่า

  • โรงเรียนต้องปลดพนักงานออกถึง 6 หมื่นคน
  • จ่ายค่าความเสียหายหลายด้าน เป็นเงินเกือบ 2 หมื่นล้านหยวน (ราว 1 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้มีทั้ง ค่าชดเชยการให้ออกจากงาน การยกเลิกสัญญาเช่าอาคารก่อนกำหนด และการคืนเงินค่ากวดวิชา
  • รายได้บริษัทลดลงถึง 80% ในผลประกอบการปีที่แล้ว และมาร์เก็ตแคปหายไปถึง 90% หรือหายไปประมาณ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.4 แสนล้านบาท)




หยูมินหง ผู้ก่อตั้งนิวโอเรียนทอล กล่าวใน WeChat ส่วนตัวว่า บริษัทต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง "มากเกินไป" ในปี 2021 ที่ผ่านมา และกล่าวโทษที่ต้องเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ถึง 6 หมื่นคนว่า เป็นเพราะเรื่องทางนโยบาย การระบาดของโควิด-19 และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ




ในยุคที่ยังรุ่งเรืองนั้น นิวโอเรียนทอล ถือเป็นธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเอกชนที่เป็น "เบอร์ 1" ในจีน โดยมีพนักงานประจำถึง 88,000 คน และลูกจ้างไม่ประจำอีก 17,000 คน ท่ามกลางธุรกิจกวดวิชาที่เฟื่องฟูสุดขีดในจีน ซึ่งตลาดนี้มีมูลค่ามหาศาลถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4 ล้านล้านบาท) นิวโอเรียนทอล ยังได้จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น ซึ่งไม่ใช่ตลาดหุ้นจีน แต่เป็นระดับตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก NYSE และกลายเป็นหนึ่งในหุ้นร้อนแรงของบรรดากองทุนหุ้นไชน่า




แต่แล้ว สถานการณ์ของธุรกิจกวดวิชาเอกชนก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อรัฐบาลจีนประกาศเข้าจัดระเบียบธุรกิจนี้ตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว โดยออกกฎห้ามการเปิดให้บริการสอนพิเศษหลังเลิกเรียน ห้ามธุรกิจเหล่านี้ระดมทุนเพิ่ม และสั่งระงับการติวหนังสือทั้งออนไลน์และออนไซต์ทันที โดยรัฐเห็นว่าธุรกิจกวดวิชาเป็นการเพิ่มแรงกดดันและความเครียดให้เด็กมากเกินไป และยังกลายเป็นภาระทางการเงินเพิ่มให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมีฐานะดีพอ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้าง "ความเหลื่อมล้ำ" เพิ่มขึ้นไปอีก

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT