Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เลื่อนแล้ว!เลือกประธานบอร์ดธปท.  ท่ามกลางกระแสห่วงใย
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เลื่อนแล้ว!เลือกประธานบอร์ดธปท. ท่ามกลางกระแสห่วงใย

4 พ.ย. 67
11:52 น.
|
815
แชร์

กระแสวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงความเป็นห่วงถึงการคัดเลือกตำแหน่งประธานคณะกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีทั้งหนังสือคัดค้านจากนักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน และอดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร่วมลงชื่อคัดค้าน แสดงความห่วงใยหวั่นฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายหลังมีการเสนอ  3 รายชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

1.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง  

2.นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน 

3.นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ซึ่งทั้งคุณกุลิศ และ คุณสุรพล เสนอชื่อโดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเลื่อนการประชุมคัดเลือกประธานคณะกรรมการและกรรมการ ธปท. ออกไปจากเดิมวันนี้ 4 พ.ย.67 เป็นวันที่ 11 พ.ย.67 โดย นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประธานกรรมการคัดเลือกได้หารือกับกรรมการคัดเลือก และเห็นร่วมกันว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วนเพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงให้เลื่อนกำหนดการประชุมที่จะมีขึ้นในวันนี้ (วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567) ออกไป เป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ในช่วงเวลา 14.00 น.

สิ่งที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และถูกจับตาจากสังคมมาอย่างต่อเนื่องก็เพราะแนวคิดในการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลที่ยังไม่ตรงกันในหลายประเด็น  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ที่ผ่านมาทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการพูดคุย หารือกันหลายครั้ง ล่าสุดคือ วาระการหารือเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อซึ่งท้ายที่สุด ที่ประชุมยังคงไว้ตามเดิมคือ 1-3% ส่วนดอกเบี้ยนโยบาย การประชุม กนง.ครั้งล่าสุดได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว 0.25% มาอยู่ที่ 2.25%

แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตของเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายอยู่มาก ดังนั้น ท่าทีของทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล ย่อมจะส่งผลต่อบรรยากาศความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้น SPOTLIGHT ได้รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นของทั้ง 2 ฝ่ายที่มีต่อวาระการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยดังนี้ 

เปิด 2 มุมมองความห่วงใยต่อการคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท.

ส.โกสินทร  นักวิชาการอิสระ มองการแต่งตั้งมีกระบวนการที่ชัดเจน

ส.โกสินทร  นักวิชาการอิสระ  ได้เขียนถึงประเด็นการคัดเลือกประธานบอร์ดธปท.สรุปใจความสำคัญได้ว่า ข้อกังวลในเรื่องการถูกแทรกแซงทางการเมืองนั้น ถือว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ มีกระบวนการที่ชัดเจน โดยคณะกรรมการสรรหา สู่การแต่งตั้ง ของคณะรัฐมนตรี ในขั้นตอนต่อไป เป็นเรื่องที่มี กรอบกฎหมาย วางไว้อย่างชัดเจน และกระทำเช่นนี้มาโดยตลอดมิได้มีการบิดพริ้ว แม้แต่น้อย  นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ในฐานะ ประธานบอร์ด คณะกรรมการ ธปท.นั้น ตามกฎหมายส่วนใหญ่เป็นงานด้านธุรการ กว่า 80 % ซึ่งอำนาจหน้าที่ ที่ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร อย่างชัดเจน

ขณะที่เรื่องทองคำของหลวงตาที่ถูกเก็บรักษาไว้นั้น ตามกรอบเป็นบัญชีพิเศษทุนสำรองเงินตรา ไม่มีใครจะสามารถนำออกมาได้ แม้แต่ตัวท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ยังไม่มีอำนาจ หรือสามารถมีสิทธิพิเศษ นำทองคำส่วนนี้ออกมาได้ หากสอบถามข้อมูลไปยัง ธปท. จะทราบดีว่า มีการ Update สถานะว่ามี ทองคำ ส่วนนี้เป็นจำนวนเท่าไหร่ ให้สาธารณชนทราบมาโดยตลอด และตรวจสอบได้อย่างชัดเจน สรุปคือ เป็นเรื่อง ที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นการสร้างข่าวลวง 

ส่วนเรื่องนโยบายการเงิน อันเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือชื่อย่อที่รู้จักกันดีว่า กนง. เป็นบอร์ดอีกคณะที่แยกออกมาต่างหาก ชัดเจน จาก กกธ (คณะกรรมการ ธปท.) ซึ่งส่วนนี้ ได้ถูกออกแบบไว้ให้มี กรรมการทั้งหมด 7 ท่าน เป็น คนใน 3 ท่าน (ตำแหน่งคือ ผู้ว่า ธปท และ รองผู้ว่า อีก 2 ท่าน) และให้มีคนนอกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน ที่ให้คนนอกมีมากกว่าเพื่อไม่ให้คนใน dominate แต่ ความจริงคือ ในปัจจุบัน กลับมีการตั้ง อดีตรองว่าการ ไพบูลย์ ที่เกษียณแล้วเป็น 1 ใน 4 ของผู้ทรงคุณวุฒิ จากภายนอก ดังนั้น ปัจจุบัน กนง นั้นแทบจะไม่สามารถแทรกแซงได้เลย เพราะหาก ดูตามข้อเท็จจริง นั้น คน ธปท.เอง ในคณะกรรมการชุดนี้ มีถึง 4 ท่าน จาก 7 

ส.โกสินทร  นักวิชาการอิสระ ระบุด้วยว่า กระแสต่อต้านจึงที่ไม่มีมูล และเป็นการสร้างรอยร้าว ระหว่าง ธปท. และ รัฐบาลให้มากยิ่งขึ้น  พร้อมทิ้งท้ายตั้งคำถามว่า ใครได้ หรือเสียประโยชน์ จากการสร้างประเด็นให้สังคมแตกแยก 

วีระ ธีรภัทร ชี้แจงความเข้าใจถึงอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ ธปท.

ขณะที่ อาจารย์ วีระ ธีรภัทร ได้ชี้แจงถึงกระแสความห่วงใยดังกล่าวภายหลังพุดคุยผ่านสื่อในช่วงที่ผ่านมามีใจความสำคัญที่สรุปเรื่องความเห็นการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.ช่วงหนึ่งดังนี้  

“ ขอเริ่มจากคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 13 คน บัดนี้ครบวาระดำรงตำแหน่ง 3 คนเป็นประธาน 1 คนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ2 คนจะต้องแต่งตั้งคนใหม่มาทำหน้าที่แทน โดยก่อนหน้ามีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก 7 คนขึ้นมา เพื่อคัดเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอเป็นประธาน 3 คนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คนเพื่อไปทำหน้าที่แทนคนที่ครบวาระ

สำหรับคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นจะมีคนที่เป็นโดยตำแหน่งคือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศซึ่งจะทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมการด้วย แล้วก็ยังมีรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 คน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังรวมทั้งหมด 6 คน ที่เหลืออีก 6 คนเป็นประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนนั้น จะมาจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการคัดเลือกที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นคนตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยปลัดกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย การดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงนี้มี ระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยพ.ศ.๒๕๕๑ เป็นคู่มือและแนวทางปฏิบัติเอาไว้อย่างชัดเจน

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อนั้นในระเบียบที่ว่านั้นมีอยู่ 2 ข้อที่ทำให้เกิดการโต้เถียงอื้ออึงในเวลานี้ นั่นก็คือข้อ 4 และข้อ 5 

(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

บางทีก็อาจจะต้องไปดูคุณสมบัติต้องห้ามเพิ่มเติม อย่างในกรณีการคัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ประธานกรรมการที่เป็นข่าวอื้ออึงอยู่ในขณะนี้(คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง) อาจจะต้องไปดูข้อ๓ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาด้วย นั่นก็คือ (3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ในกรณีนี้อาจจะไม่เคยรับโทษแต่แค่มีคดีความ บางคนก็อาจจะถือว่าเป็นมลทินในทางการเมืองไปแล้วก็ได้

เท่าที่ดูผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทราบกันสามคน(คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง คุณกุลิศ สมบัติศิริและคุณสุรพล นิติไกรพจน์) ผมไม่คิดว่าจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ แต่อาจจะมีความรู้สึกไม่พึงประสงค์เป็นห่วงว่าการเมือง(ในความหมายว่าหมายถึงนักการเมือง พรรคการเมือง คนของนักการเมืองและคนของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสำคัญ) จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย จนขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจในเรื่องนโยบาย แม้จะไม่เป็นทางตรงแต่ก็โดยทางอ้อม โดยวิตกกังวลว่าการแทรกแซงดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาในอนาคต อันนี้ก็ต้องรับฟังความเป็นห่วงเป็นใยที่ว่าเหมือนกัน

แต่ลำพังประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากบุคคลภายนอก(ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองหนุนหลังหรือไม่) ผมไม่คิดว่าจะทำอะไรได้มากมายในคณะกรรมการที่มีจำนวนพอฟัดพอเหวี่ยงกันเพราะมีกรรมการที่มาโดยตำแหน่งทั้งผู้บริหารระดับสูงในธนาคารแห่งประเทศไทย(4คน)และหน่วยราชการอื่นอย่างที่ผมเล่าให้ไปฟังไปก่อนหน้านี้

คำถามก็คือแล้วความห่วงใยอะไรกันมากมายนั้นมีมูลเหตุมาจากไหน?

ถ้าหากไม่พิจารณาในแง่ตัวบุคคลเป็นการเฉพาะเจาะจง ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คงต้องไปดูว่าคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นมีอำนาจหน้าที่ตามที่เขียนเอาไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง

จากพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ฉบับที่๔)พ.ศ.๒๕๕๑ ระบุ อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศเอาไว้ทั้งหมด 12 ข้อ แต่ที่คนให้ความสนใจกันมากและห่วงใยกันเป็นที่สุด น่าจะเป็นข้อ 3 และข้อ 8 ผมเลยขอยกข้อความมาให้ดูครับ

(3) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน

(8) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6

ส่วนอำนาจหน้าที่ข้ออื่นๆนั้น อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ทำให้สามารถเข้าไปมีอำนาจหน้าที่โน้มน้าวกดดันในเชิงอิทธิผลต่อการปฏิบัติงานของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายผู้จะมาดำรงตำแหน่งระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย พูดง่ายๆก็คือสามารถล้วงลูกได้ ถ้าอยากจะทำจริงๆ

แต่ข้อใหญ่ใจความเห็นจะเป็นสิ่งที่เป็นอำนาจหน้าที่ในข้อ 3 เป็นสำคัญครับเพราะคณะกรรมการ(ขอยํ้าว่าคณะกรรมการไม่ใช่ประธานกรรมการหรือกรรมการคนใดคนหนึ่ง) มีอำนาจในการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินและคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ผมเข้าใจว่าผู้เสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอกมาเป็นกรรมการไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการที่ว่านั้นคือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(เท่าที่ทราบเสนอชื่อมาให้เลือกสองเท่าของจำนวนที่จะลงมติให้คัดเลือก)ครับ

เรื่องนี้ผมต้องขอสารภาพบาปเสียตรงนี้ครับว่า ผมเข้าใจผิดและไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงด้วย เลยทำให้ผมเข้าใจว่า อำนาจของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยในข้อ3 นั้นเป็นเพียงแค่ กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินและคณะกรรมการระบบชำระเงิน ว่ามีอำนาจเพียงแค่ออกข้อบังคับในการเสนอชื่อ ในการพิจารณาและในการคัดเลือกเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นคนพิจารณาและคนคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีการเสนอชื่อ

ข้อเท็จจริงก็คือคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.)ซึ่งถือว่าเป็นคณะกรรมการที่เป็นหัวใจในการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการระบบการชำระเงินแต่อันนี้ไม่ค่อยสำคัญนักเป็นเรื่องทางเทคนิคมากกว่าสามารถมองข้ามได้ครับการเป็นคนออกข้อกำหนดแต่ไม่ได้เลือกกับการเป็นคนเลือกด้วยมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน

แต่ถึงจะมีอำนาจในการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโนบายการเงินและคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินก็จริง แต่งานนี้ก็ไม่สามารถชี้ขาดด้วยคนใดคนหนึ่งได้และที่สำคัญผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เลือกนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอีกต่างหาก

ผมมองว่ากฎหมายจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นมีการออกแบบมาให้มีการถ่วงดุลระหว่างคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยและสร้างเกราะคุ้มกันให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระแบบมืออาชีพได้ดีพอสมควรเรื่อง(นักและพรรค)การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานแบบตรงๆโจ่งครึ่มผมบอกได้เลยครับว่าไม่มีทางเป็นไปได้

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงในกรณีว่าแทรกแซงทั้งในทางที่ดีหรือในทางที่ร้าย และการแทรกแซงไปแล้วเกิดผลดีหรือเกิดผลเสียในอนาคตตามมาทั้งหมดที่คุยให้ฟังมาตั้งแต่ต้นก็เพื่อจะบอกว่าสิ่งที่แสดงความคิดเห็นไปในรายการทีวีสองรายการที่ว่านั้น นอกจากข้อผิดพลาดที่ผมเล่าให้ฟังตรงนี้แล้ว ที่เหลือเป็นการแสดงความคิดเห็นตามที่ผมคิดว่าเหมาะควรกับเรื่องนี้ แม้ว่าจะเปลืองตัวไปบ้างสักหน่อยก็ตามทีขอจบเรื่องนี้แค่นี้ครับ

คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยมีใครบ้าง ?
คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยปัจจุบันมี 13 ท่าน โดยตำแหน่งประธานคณะกรรมการ 1 ท่านได้หมดวาระลงไปแล้ว คือ นายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกในวันที่ 4 พ.ย.2567 นี้ 

ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ในมาตรา 24 ระบุว่า คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธาน และรองผู้ว่าการ 3 คน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกห้าคน เป็นกรรมการ ผู้ว่าการเป็นผู้แต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ 

คณะกรรมการชุดปัจจุบันมีดังนี้ 
(อ้างอิงในเว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ) 

1.ประธานคณะกรรมการ อยู่ระหว่างการคัดเลือก แทนนายปรเมธี วิมลศิริ
2.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  รองประธานกรรมการ
3.นางรุ่ง มัลลิกะมาส  กรรมการ
4.นางอลิศรา มหาสันทนะ กรรมการ
5.นายปิติ ดิษยทัต กรรมการ
6.นายดนุชา พิชยนันท์ กรรมการ
7.นายพรชัย ฐีระเวช กรรมการ
8.นายนนทิกร กาญจนะจิตรา กรรมการ
9.นายมนัส แจ่มเวหา  กรรมการ
10.นายปกรณ์ นิลประพันธ์  กรรมการ
11.นายรพี สุจริตกุล  กรรมการ
12.นายสุภัค ศิวะรักษ์  กรรมการ
13.นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ  เลขานุการ

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการธปท.ตาม พ.ร.บ.แบงก์ชาติ มีดังนี้ 

คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 โดยความถี่ในการจัดประชุม มีกำหนดการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง​

ทั้งนี้ในรายละเอียดตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตราที่ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังนี้

มาตรา 25 คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการ และการดําเนินการของ ธปท. เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 เว้นแต่กิจการและการดำเนินการที่เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชําระเงิน รวมทั้งให้มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

  1. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดําเนินกิจการและการ ดําเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ
  2. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานบุคคล
  3. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชําระเงิน
  4. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการตามมาตรา 17 ผู้ว่าการพนักงานและ ลูกจ้าง
  5. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการมอบอํานาจ การรักษาการแทน การบริหารงานหรือดําเนินกิจการอื่นใด
  6. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยงบประมาณและรายจ่าย และการจัดซื้อและจัดจ้าง
  7. กําหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการกําหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการให้กู้ยืมเงินการสงเคราะห์และให้สวัสดิการต่าง ๆ แก่พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากตําแหน่ง และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
  8. กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสํารองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6
  9. พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งและการเลิก สาขาหรือสํานักงานตัวแทน
  10. กําหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา 55
  11. กํากับดูแลการจัดทํางบการเงิน รายงานประจําปี และรายงานอื่นๆ ของ ธปท.ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัตินี้
  12. ปฏิบัติการอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

กระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย 

มาตรา 27 ในวาระเริ่มแรก เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดํารงตําแหน่งครบ 1 ปี 6 เดือน ให้ออกจากตําแหน่ง 3 คนโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตําแหน่งโดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นจากตําแหน่งตามวาระ

มาตรา 28 ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 28/1 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่ง

มาตรา 28/1 ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน เพื่อทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการดังกล่าวในคณะกรรมการ ธปท. และให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

จากข้อมูลทั้งหมดนี้คงจะต้องติดตามการประชุมคัดเลือกประธานคณะกรรมการ และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกครั้งในวันที่ 11 พ.ย.67 ส่วน 3 รายชื่อที่ถูกเสนอจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และ ใครจะได้รับการถูกคัดเลือกให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ สังคมกำลังจับตามอง


ที่มา : 

https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/laws-and-rules/laws-and-regulations/legal-department/1-bot-act/1-1-bot-act/1.1.1-Law_Th_BOT-2561Updated.pdf
https://www.bot.or.th/th/about-us/committee/Court-Of-Directors.html

แชร์
เลื่อนแล้ว!เลือกประธานบอร์ดธปท.  ท่ามกลางกระแสห่วงใย