[Update] บริษัทโมเดอร์นาเปิดเผยข้อมูลผลการทดลองวัคซีนรุ่นที่ 2 กับกลุ่มตัวอย่างล่าสุด พบว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รุ่นล่าสุดสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสสายพันธุ์หลักต่าง ๆ ได้ดีกว่า วัคซีนในปัจจุบันของโมเดอร์นา ซึ่งไวรัสสายพันธุ์หลักดังกล่าวรวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน และเดลตาด้วย
"วัคซีนเข็มบูสเตอร์รุ่นใหม่ของโมเดอร์นาที่มีปริมาณ 50 ไมโครกรัมต่อหนึ่งเข็ม สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นสองเท่า ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ และสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้เป็นเวลานาน 6 เดือนหลังการฉีด เมื่อเทียบกับวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นดั้งเดิมในปริมาณที่เท่ากัน"
นอกจากนี้ วัคซีนรุ่นใหม่ยังเพิ่มระดับของแอนติบอดีในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้เป็นเวลานานถึง 6 เดือนหลังการฉีดด้วย ทั้งนี้วัคซีนที่โมเดอร์นาได้พัฒนาขึ้นใหม่นั้นพุ่งเป้าไปที่ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่จำนวน 9 สายพันธุ์ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน และไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นของจีนในปี 2562
สำหรับวัคซีนโมเดอร์นาที่ใช้ในปัจจุบันที่พัฒนาขึ้นให้สามารถตรวจจับโปรตีนหนาม (Spike Protein) ซึ่งไวรัสใช้เป็นช่องทางในการบุกรุกเข้าไปในเซลล์ร่างกายมนุษย์นั้น เป็นวัคซีนที่ใช้ต่อต้านไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น แต่ขณะนี้ไวรัสโปรตีนหนามได้วิวัฒนาการตัวเองไปอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มน้อยลงที่แอนติบอดีซึ่งผลิตโดยวัคซีนจะสามารถตรวจจับไวรัสและต่อสู้กับไวรัสนั้นได้ จึงเป็นสาเหตุให้ประสิทธิภาพในการป้องกันลดน้อยลง
แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนรุ่นปัจจุบันจำนวน 2 เข็มยังคงสามารถป้องกันการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ดี แม้ประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจะลดน้อยลงก็ตาม ส่วนวัคซีนรุ่นปัจจุบันเข็มที่ 3 นั้นก็ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้
สำหรับข้อมูลล่าสุดของโมเดอร์นายังไม่ได้รับการทบทวนจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ขององค์กรอื่น ๆ (Peer-Review) ขณะที่ผลข้างเคียงของวัคซีนเข็มบูสเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุดของโมเดอร์นานั้นได้แก่อาการปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ และอาการเหนื่อยล้า
ขณะที่เฟสบุคของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เรื่องวัคซีนโมเดอร์นา รุ่น 2 ว่า
ก่อนหน้าโอมิครอนระบาด Moderna ได้พัฒนาวัคซีน รุ่น 2 เอาไว้ โดยออกแบบให้เป็นวัคซีนที่เป็น Bivalent คือ มี mRNA ที่สร้างโปรตีนหนามสไปก์ของสายพันธุ์ดั้งเดิม ผสมกับ mRNA ของสไปก์สายพันธุ์เบต้า โดยผสมกันอย่างละครึ่ง เรียกวัคซีนรุ่นใหม่นี้ว่า mRNA-1273.211 ซึ่งแตกต่างจากรุ่น 1 ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ (mRNA-1273)
ทีมวิจัยของ Moderna ได้เริ่มทดสอบในอาสาสมัครไปถึงเฟส 2 แล้ว แต่มีการระบาดของโอมิครอนเกิดขึ้นเสียก่อน จึงทำให้แผนของการใช้วัคซีนสูตรนี้อาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็นวัคซีนที่จำเพาะต่อโอมิครอนมากกว่า ซึ่งปรากฏผลงานวิจัยที่ทดสอบ mRNA-1273.211 เป็นเข็มกระตุ้นที่ 3 ในอาสาสมัครออกมาแล้วดูเหมือนว่า วัคซีนรุ่นนี้จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นแรกครับ โดยภูมิจากซีรั่มของอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนรุ่น 2 นี้สามารถยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมเบต้า เดลต้า และโอมิครอนได้ดีกว่ารูปแบบแรก
ภูมิคุ้มกันดูเหมือนจะตกช้าลงกว่าแบบแรกด้วยเช่นกัน โดยวัดที่ 6 เดือน (181 วัน) หลังเข็มกระตุ้น ภูมิต่อโอมิครอนจากวัคซีนรุ่น 2 ยังมีสูงกว่าการกระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นแรกประมาณ 2.15 เท่า (317 เทียบกับ 146) วัคซีนสูตรนี้ดูมีแนวโน้มที่ดีและน่าจะเป็นวัคซีนรุ่นใหม่แทนตัวเดิมที่ใช้อยู่ได้
Moderna กำลังทดสอบ Bivalent vaccine ที่ผสมวัคซีนสูตรแรกกับ mRNA ของโอมิครอน (mRNA-1273.214) ในเฟส 2 เช่นกัน ซึ่งผลการทดลองคงจะออกมาเปรียบเทียบได้ดีขึ้นในเวลาอีกไม่นานนี้
สำหรับในเว็บไซต์ทของ Moderna ระบุว่า น่าจะมีข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทอลอง mRNA-1273.214 ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ที่มา