รัฐบาลมาเลเซีย ประกาศระงับการส่งออกไก่ 3.6 ล้านตัวต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป้นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ
เมื่อวานนี้กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซีย หารือถึงปัญหาการขาดแคลนไก่และราคาไก่ในประเทศปรับตัวสูงขึนจึงตัดสินใจประกาศระงับการส่งออกตั้งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565และยังไม่กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนว่าจะกลับมาส่งออกได้เมื่อไหร่ ทางการบอกเพียงว่า ต้องรอให้สถานการณ์ทั้งการผลิตและราคาในประเทศกลับมามีเสถียรภาพก่อน
“ลำดับความสำคัญของรัฐบาล คือ ประชาชนมาก่อน” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ กล่าวในแถลงการณ์ และบอกเพิ่มเติมด้วยว่า จะมีการสอบสวนเกี่ยวกับราคาที่ผิดปกติอีกด้วย
ทำไมมาเลเซียต้องการระงับการส่งออกไก่
สถานการณ์ในมาเลเซียขณะนี้พบปัญหาหลายอย่าง ต้นทุนในการผลิตไก่สูงขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่นำมาเลี้ยงไก่แพงขึ้น เกษตรกรบอกว่า ในเดือนที่ผ่านมา มีการปรับราคาอาหารสัตว์ไก่ถึง 2 ครั้ง ผลกระทบโดยตรงคือ ราคาขายไก่ในมาเลเซียแพงขึ้นมาก และ ทำให้ปริมาณไก่ลดน้อยลง จนจะเรียกว่ากำลังจะขาดแคลน ร้านค้าขายไก่ถึงขนาดที่ต้องจำกัดการซื้อไก่ของประชาชน เพราะปริมาณไก่ที่ร้านค้ารายย่อยได้รับมีปริมาณลดน้อยลง
จากข้อมูลของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมไก่ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณไก่ คือต้นทุนการผลิตไก่ที่เพิ่มขึ้น และการติดเชื้อโรครวมถึงปัญหาสภาพอากาศ
รัฐบาลมาเลเซียทำอะไรอีกบ้างเพื่อแก้ปัญหานี้
นอกเหนือจากการระงับการส่งออกไก่มากถึง 3.6 ล้านตัวต่อเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ มาเลเซียเตรียมเพิ่มปริมาณสต็อคไก่สำรองไว้ และเพิ่มประสิทธิภาพของห้องเย็นให้มากขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซีย
นอกจากนี้รัฐบาลจะลดความซับซ้อนของขั้นตอนในการให้เงินอุดหนุนกับผู้ผลิตไก่และอนุญาติโรงฆ่าสัตว์ในต่างประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไก่ของประเทศให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน จะอนุญาติให้มีการนำเข้าไก่ทั้งตัวและไก่หั่นเป็นชิ้นเพื่อเพิ่มปริมาณไก่
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย บอกด้วยว่า รัฐบาลตระหนักถึงข้อร้องเรียนว่ามีกลุ่มคนที่ฮั้วราคาและปริมาณไก่ ทางการกำลังมีการสืบสวนสอบสวนอยู่เช่นกัน
ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซียได้หารือกับบริษัทจำหน่ายและกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีก 12 แห่ง ได้แก่ Leong Hup Poultry Farm Sdn., HLRB Broiler Farm Sdn., PWF Corporation Bhd. รวมถึงสมาคมเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ปีกแห่งมาเลเซีย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร
มาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกมูลค่า 18.9 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ทำให้เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์รายใหญ่อันดับที่ 49 ของโลก มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และบรูไน ตามข้อมูลของแพลตฟอร์ม Observatory of Economic Complexity ตัวอย่างสิงคโปร์นำเข้าไก่ประมาณร้อยละ 34 จากมาเลเซีย หรือ 1 ใน 3 จากมาเลเซีย ซึ่งเกือบทั้งหมดนำเข้ามาเป็นไก่ที่มีชีวิตซึ่งจะถูกแปรรูปแช่แข็งในสิงค์โปร์
“การประกาศอย่างกะทันหันโดยมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อราคาไก่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์” เมลวิน หยง ประธานสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ กล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของมาเลเซียถือเป็นมาตรการจำกัดการส่งออกอาหารที่เกิดขึ้นล่าสุดในภูมิภาค ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียได้ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มชั่วคราว ขณะที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี ส่วนเซอร์เบียและคาซัคสถานจำกัดโควตาการส่งออกธัญพืช
ที่มา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราคาน้ำมันปาล์มจ่อลด "อินโดนีเซีย" เลิกแบนส่งออก เริ่ม 23 พ.ค. นี้
"ใช้แรงงานไก่เกินอายุ" ลดราคาไข่ไก่ 20 สตางค์/ฟอง
"ข้าวสาลี" พุ่งอีก! อินเดียงดส่งออก หลายประเทศเริ่ม "กักตุนอาหาร"