นายจ้างในประเทศซาอุดีอาระเบีย แจ้งความต้องการแรงงานกลุ่มพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และช่างฝีมือกว่า 300 อัตรา โดยมีอัตราค่าจ้างสุทธิอยู่ที่ประมาณ 27,500-37,000 บาท พร้อมสวัสดิการดี
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียว่า จากรายงานของสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย กรุงริยาด พบว่า ล่าสุดนายจ้างในประเทศซาอุดีอาระเบียได้แจ้งความต้องการแรงงานไทยมาแล้วเบื้องต้น รวมทั้งสิ้น 309 อัตรา
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีนโยบายส่งเสริมการมีงานทำให้กับคนไทยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ซึ่งล่าสุดนายจ้างได้แจ้งความต้องการแรงงานไทยผ่านทางสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว
งานส่วนใหญ่เป็นสาขาพยาบาลวิชาชีพ พี่เลี้ยงพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล สาขาละ 100 อัตรา รวม 300 อัตรา นอกจากนี้ ยังมีสาขาช่างอีก 9 อัตรา ได้แก่ ช่างเชื่อม 3 อัตรา ช่างควบคุม เครื่องกลึง 3 อัตรา ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม 3 อัตรา อัตราค่าจ้างสุทธิอยู่ที่ประมาณ 27,500 – 37,000 บาท ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
โดยเมื่อไปทำงานในซาอุดีอาระเบียแล้ว นายจ้างจะจัดสวัสดิการอื่น ๆ ให้กับแรงงานไทย เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก รถรับ - ส่งจากที่พักไปที่ทำงาน ค่าตั๋วการเดินทางไปกลับรายปีฟรี ประกันสุขภาพ ประกันการบาดเจ็บจากการทำงาน วันลาหยุด พักผ่อนประจำปี และสวัสดิการอื่น ๆ อีกมากมาย
ซึ่งผู้ที่สนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ขอให้ติดตามข่าวสารหรือประกาศรับสมัครตำแหน่งงานจากกรมการจัดหางานเป็นระยะ โดยในเบื้องต้นสามารถลงทะเบียนผ่านระบบ E-Service กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ได้ที่เว็บไซต์ http://toea.doe.go.th เลือกลงทะเบียน เลือก “คนหางาน” และสามารถศึกษาคู่มือวิธีการลงทะเบียนคนหางานได้ที่หน้าเว็บไซต์
และสามารถคิดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas. หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานได้ทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 ในวันเวลาราชการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
“ท่านนายกรัฐมนตรีมีนโยบายสำคัญในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียจึงกำชับให้กระบวนการจัดส่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้าย