นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (21 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งมอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เตรียมการหารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน และวิกฤติด้านอาหาร ซึ่งเป็นการเตรียมแผนเผชิญเหตุ เนื่องจากจะเป็นประเด็นสำคัญของไทยและโลกหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เรื่องนี้จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบเตรียมมาตรการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการประชุม สมช.เพื่อพิจารณาสถานการณ์เรื่องวิกฤติพลังงาน และอาหาร รวมทั้งหาแนวทางรับมือจะมีขึ้นในวันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะมีหน่ยงานทั้งด้านความมั่นคง หน่วยงานทางด้านต่างประเทศ และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจจะเข้าประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในทุกๆด้าน เพื่อประเมินสถานการณ์และแนวทางมาตรการรับมือที่เหมาะสม โดยในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ก่อนจะเสนอที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
ขณะที่ วานนี้ (21 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่าสถานการณ์วิกฤติพลังงานมีแนวโน้มยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้จากสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปเราคาดว่าจะส่งผลกระทบหนักหน่วงในหลายมิติ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และบางประเทศงดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็น
ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของบริโภคขาดแคลน รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อสูงทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป สูงกว่า 8% สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าราคาแพง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจชะงัก ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ได้สั่งการให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหารือในเรื่องการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ตามสมมติฐานต่างๆที่จะเกิดขึ้นว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อไปเป็นระยะเวลาต่างๆ ควรจะทำอะไรได้บ้าง ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาใหม่ไปเรื่อยๆในเรื่องการดูแลและการอุดหนุน และจะมีปัญหาด้านงบประมาณการเงินการคลังต่อไปในอนาคต
“เราต้องเตรียมแผนความพร้อมไปเรื่อยๆ ทั้งมิติด้านพลังงาน อาหาร ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น เราต้องวางแผนระยะยาว ผมได้แนะแนวทางนี้มาตลอดอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยืนยันว่าจะพยายามหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการบนพื้นฐานของวินัยการเงินการคลังที่มีความสมดุล และจะต้องไม่ก่อภาระในอนาคตจนมากเกินไป จึงขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย หลายอย่างเราก็ลดภาษีลงทำให้รายได้เราลดลง ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหน้าที่อะไร-เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง?
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในมิติด้านความมั่นคง หรือประเด็น เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ ต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
อำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีดังนี้
- จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
- เสนอแนะและให้ความเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในมิติด้านความมั่นคง หรือประเด็น เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ ต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
- พิจารณากำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ และแผนบริหารวิกฤตการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
- กำหนดแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณา
- ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
- กำกับและติดตามการดำเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
- ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น หรือตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ภารกิจหลักของ สมช. คืออะไร?
สำหรับประเด็นเรื่องความมั่นคง (Security) ในบริบทโลกปัจจุบันนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการเมืองและการทหารเหมือนในอดีต แต่มีความเกี่ยวข้องกับบริบททางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นจึงมักได้ยินคำว่า ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy security) และความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญกับยุทธศาสตร์ประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของเว็บไซต์สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ www.nsc.go.th พบว่า ภารกิจหลักๆ ส่วนใหญ่ของ สมช.ไม่ได้เน้นน้ำหนักไปที่เรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความมั่นคงทางการเมือง การทหาร ชายแดน และการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมากกว่า และไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการดูแลด้านเศรษฐกิจ
ด้านความเกี่ยวข้องในประเด็นเศรษฐกิจที่พบเบื้องต้นนั้น มีระบุอยู่ใน "นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๕)" ว่าด้วยเรื่อง การรักษาความมั่นคงทางพลังงาน และการรักษาความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ
ทั้งนี้ สมช.ยังเป็นหน่วยงานหนึ่งใน ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) โดยมี พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช. ในฐานะผอ. ศปก.ศบค.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1.30 ประเทศกักตุนอาหารแล้ว ไทยโดนลูกหลงไหม? วิกฤตอาหารอยู่ใกล้กว่าที่คิด!