ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ปัญหาการใช้จ่าย” จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ
โดยกลุ่มตัวอย่าง 47.10% ระบุว่ารายได้ในปัจจุบันลดลง ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีก 46.72% ระบุว่ามีรายได้เท่าเดิม ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 6.18% เท่านั้นที่ระบุว่ามีรายได้มากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับรายจ่ายในแต่ละเดือนพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 60.06% มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย รองลงมา 32.62% มีรายได้พอๆ กับรายจ่าย ส่วนที่เหลือ 7.32 ระบุว่า รายได้มากกว่ารายจ่าย
สำหรับการใช้จ่ายในปัจจุบันที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด
อันดับ 1 การใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง 32.73%
อันดับ 2 การใช้จ่ายด้านอาหารประจำวัน 25.79%
อันดับ 3 การใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในครัวเรือน 13.47%
อันดับ 4 การใช้จ่ายด้านแก๊สหุงต้ม 6.10%
อันดับ 5 การใช้จ่ายด้านการผ่อนชำระค่ารถ 3.36%
อันดับ 6 การใช้จ่ายด้านน้ำประปา 3.18%
อันดับ 7 การใช้จ่ายด้านการผ่อนชำระค่าบ้าน 2.79%
อันดับ 8 การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์หรือวัตถุดิบในการประกอบอาชีพ และการใช้จ่ายด้านการเรียนหนังสือของตนเองหรือบุตรหลาน ในสัดส่วนที่เท่ากัน 2.32%
อันดับ 9 การใช้จ่ายด้านค่าเช่าที่อยู่อาศัย 1.79%
อันดับ 10 ไม่มีการใช้จ่ายใดที่สร้างผลกระทบ 1.56%
อันดับ 11 การใช้จ่ายด้านการโดยสารขนส่งสาธารณะ 1.50%
และอื่นๆ ได้แก่ การใช้จ่ายด้านหนี้สินนอกระบบ การใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ การใช้จ่ายด้านโทรศัพท์มือถือ การใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ต การใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย และการใช้จ่ายด้านเคเบิ้ลทีวี 3.05%
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนในกลุ่มตัวอย่าง 0.04% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ทั้งนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหาการใช้จ่าย” จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ จำนวน 1,312 ราย ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.ที่ผ่านมา