ข่าวเศรษฐกิจ

รู้จักผู้นำใหม่อังกฤษ "ลิซ ทรัสส์" นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3

5 ก.ย. 65
รู้จักผู้นำใหม่อังกฤษ "ลิซ ทรัสส์" นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3

อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว "ลิซ ทรัสส์" ผงาดขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 3 แห่งเกาะอังกฤษ มาพร้อมภารกิจเร่งด่วน "แก้ของแพง-ค่าไฟพุ่ง" โจทย์ที่คนในประเทศตั้งคำถามก่อนไปยุ่งเรื่องนอกบ้าน


เมื่อเวลา 18.30 น. ที่ผ่านมา มีการประกาศชื่อ "ลิซ ทรัสส์" (Liz Truss) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไปด้วย โดยขึ้นมาต่อจากนายบอริส จอห์นสัน ที่ประกาศลาออกไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา


นางลิซ ทรัสส์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ในหน้าประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ต่อจาก "มากาเร็ต แธตเชอร์" และ "เทเรซา เมย์" และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปี อีกด้วย  


ทั้งนี้ ลิซ ทรัสต์ ขับเคี่ยวกันมาอย่างดุเดือดในศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม โดยแข่งกับนาย "ริชิ ซูแนค" อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษเชื้อสายอินเดีย

bbc

เป็นที่คาดว่าภารกิจเร่งด่วนของผู้นำใหม่รายนี้คือ การแก้ปัญหาของแพง โดยเฉพาะ "ค่าไฟฟ้า" ที่กำลังพุ่งสูงเข้าขั้น "วิกฤตพลังงาน" เมื่อรัสเซียปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ที่ส่งก๊าซไปยุโรปในวันนี้ ส่งผลให้ค่าไฟพุ่งขึ้นถึง 30% 


กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วิเคราะห์ว่า ครัวเรือนอังกฤษเจอปัญหาค่าไฟพุ่งสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ เนื่องจากอังกฤษพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการนำมาผลิตไฟฟ้าและกระจายสู่ครัวเรือน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการพึ่งพาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม และพลังงานนิวเคลียร์ ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น จึงทำให้อังกฤษได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อ "รัสเซีย" ลดการส่งออกก๊าซไปยังยุโรป


ลิซ ทรัสส์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC One ว่า จะออกมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนเรื่องค่าไฟแพง โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง และไม่ปฏิเสธแนวทางแก้ปัญหาที่อาจให้พักการจ่ายค่าไฟสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยด้วย เป็นที่คาดว่าค่าไฟที่ปรับขึ้นใหม่ในเดือน ต.ค.นี้ จะทำให้ค่าไฟเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 1,971 ปอนด์/ปี (ราว 83,000 บาท) พุ่งไปเป็น 3,549 ปอนด์/ปี (ราว 150,000 บาท)  

 

 

ลิซ ทรัสส์ คือใคร


ตอนอายุ 9 ขวบ ลิซ ทรัสส์ เคยสวมบทเป็น "มาร์กาเรต แทตเชอร์" นายกฯ หญิงเหล็กแห่งเกาะอังกฤษในละครของโรงเรียน ใครจะคิดว่าอีก 38 ปีต่อมา เธอจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษขึ้นมาจริงๆ 


แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ เกิดในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดในปี 1975 เธอเคยพูดถึงพ่อของเธอซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และแม่ของเธอซึ่งเป็นพยาบาลว่า เป็น "ฝ่ายซ้าย"


ทรัสส์ได้เข้าเรียนด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และทำกิจกรรมด้านการเมืองของนักศึกษา โดยตอนแรกเธออยู่ฝ่าย "ลิเบอรัล เดโมแครต" แต่ในช่วงหลังในระหว่างยังเรียนที่อ็อกซ์ฟอร์ด ก็ได้ย้ายข้างมาอยู่ฝ่ายพรรค "อนุรักษ์นิยม" แทน


หลังจากจบการศึกษา เธอทำงานเป็นนักบัญชีที่บริษัทเชลล์ (Shell) และบริษัทเคเบิล แอนด์ ไวร์เลส (Cable & Wireless) ก่อนจะเริ่มลงเล่นการเมืองในปี 2001 แต่ก็แพ้เลือกตั้งมาหลายครั้ง จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาของกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอนในปี 2006 ได้เข้าร่วมรัฐบาลในยุคของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ในตำแหน่ง รมช. ศึกษาธิการ, รมว. สิ่งแวดล้อม  


ในปี 2016 ยุคของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ เธอได้ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม และ รมช. คลัง กำกับดูแลกรมสำคัญและโครงการเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาล แต่เมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปเป็นนายบอริส จอห์นสัน นางทรัสส์ถูกย้ายไปเป็น รมว.การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เธอต้องพบกับผู้นำทางธุรกิจและการเมืองระดับโลกจำนวนมากเพื่อส่งเสริมบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหราชอาณาจักร และเป็น รมว.ต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน    

ลิซ ทรัสส์

นโยบายของลิซ ทรัสส์

  • ประกาศว่า จะยกเลิกการปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม (National Insurance) ของสหราชอาณาจักร หลังจากมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือน เม.ย.
  • รับปากว่า จะยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีแผนจะปรับขึ้นจาก 19% เป็น 25% ในปี 2023
  • จะระงับสิ่งที่คนรู้จักกันในชื่อ "อากรสีเขียว" (green levy) ซึ่งหมายถึงภาษีสิ่งแวดล้อม ที่เป็นส่วนหนึ่งของค่าพลังงานที่ประชาชนต้องจ่าย เงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
  • ระบุว่า จะตัดลดค่าใช้จ่ายลงด้วยการขยายระยะเวลาการชำระ "หนี้โควิด" ของสหราชอาณาจักรให้นานขึ้น
  • สัญญาว่า จะแก้ไขการจัดเก็บภาษีเพื่อช่วยเหลือคนที่ต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกหรือญาติที่สูงอายุ
  • ต้องการสร้าง "เขตที่เก็บภาษีต่ำและมีกฎเกณฑ์น้อยลง" ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างศูนย์กลางวิสาหกิจและนวัตกรรม
  • ระบุว่า จะไม่ตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลง ถ้ายังไม่มีหนทางที่จะทำเช่นนั้นได้ เพื่อที่จะไม่นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ในอนาคต
  • จะตั้งเป้าการใช้งบกลาโหมที่ 2.5% ของจีดีพีในปี 2026 และจะตั้งเป้าการใช้งบกลาโหมใหม่เป็น 3% ในปี 2030




ที่มา: BBC, The Guardian

 

 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT