ข่าวเศรษฐกิจ

ชวนดู ‘ยุโรป’ ดิ้นหนีวิกฤติค่าไฟ ประเทศไหนช่วยประชาชนอย่างไรบ้าง

6 ก.ย. 65
ชวนดู ‘ยุโรป’ ดิ้นหนีวิกฤติค่าไฟ ประเทศไหนช่วยประชาชนอย่างไรบ้าง

วิกฤติพลังงานในยุโรปยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นหลัง “ก๊าซพรอม” (Gazprom) บริษัทส่งออกก๊าซรายใหญ่ของรัสเซีย ประกาศหยุดส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 ให้ประเทศในยุโรปอย่างไม่มีกำหนดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.  ที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้หลายๆ ประเทศที่กำลังจะเข้าสู่หน้าหนาว

เพราะถึงแม้ว่ารัฐสภายุโรปจะไฟเขียวให้มีการเพิ่มก๊าซธรรมชาติในคลังสำรองได้แล้วเกิน 80% แต่ประชาชนบางส่วนก็ยังอาจขาดแคลนก๊าซและพลังงาน จนถึงกับต้องแบ่งสรรปันส่วนกันใช้ และที่สำคัญก็คือ กำลังทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว จากเดิมที่แพงขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้วตามราคาน้ำมันโลก 

istock-184559284

จากข้อมูลของ Bnomics ซึ่งอ้างอิง Statista พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ก.ค. 63 - ก.ค. 65) ค่าไฟฟ้าในกลุ่มประเทศยุโรปต่างทยอยขึ้นไปแล้ว “หลายร้อยเปอร์เซนต์” ไปจนถึงหลัก “1000%” ซึ่งปรับขึ้นหลักๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น

ฝรั่งเศส ขึ้นจาก 33 ยูโร เป็น 400 ยูโร (+1112%) 

อิตาลี ขึ้นจาก 38 ยูโร เป็น 442 ยูโร (+1063%)

สวิตเซอร์แลนด์ ขึ้นจาก 33 ยูโร เป็น 38 ยูโร (+1060%)

เยอรมนี ขึ้นจาก 30 ยูโร เป็น 315 ยูโร (+950%) 

ฮังการี  ขึ้นจาก 37 ยูโร เป็น 371 ยูโร (+902%)

กรีซ ขึ้นจาก 41 ยูโร เป็น 338 ยูโร (+724%) 

สวีเดน ขึ้นจาก 11 ยูโร เป็น 74 ยูโร (+573%)

หน่วย: ยูโร/เมกะวัตส์-ชั่วโมง 

สถานการณ์เช่นนี้จึงถือเป็น “วิกฤตพลังงานครั้งใหญ่” ที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ คือ วิกฤตทั้งในแง่ “ค่าไฟ” ที่พุ่งขึ้นหลายเท่าตัวจนซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่หนักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และวิกฤตในแง่ของ “ปริมาณก๊าซ” ที่มีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จนหลายประเทศถึงกับต้องงัดมาตรการต่างๆ ออกมาใช้ ทั้งการขอความร่วมมือให้ประชาชนลดการใช้พลังงาน 15% เพื่อเก็บพลังงานไว้ใช้ในหน้าหนาว ทั้งการออกมาตรการหยุดเก็บภาษีธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานปริมาณสูงในการผลิต และมาตรการอัดงบอุดหนุนก้อนใหญ่เพื่อควบคุมค่าไฟให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงชวนมาดูกันว่าแต่ละประเทศในยุโรป ออกมาตรการเพื่อควบคุมค่าไฟ รวมไปถึงออกเงินสนับสนุนอย่างไรบ้าง เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนในช่วงเวลายากลำบากนี้



สหภาพยุโรป (EU)

istock-181877933

มาตรการที่อียูได้เริ่มทำไปแล้วก็คือ ลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียให้น้อยลง และเร่งตุนปริมาณก๊าซสำรองให้มากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อให้เพียงพอต่อฤดูหนาวที่จะเริ่มมาเยือนในเดือน ต.ค. นี้

นับตั้งแต่เริ่มเห็นท่าไม่ดีที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนตั้งแต่ต้นปีนี้ ยุโรปก็ได้เริ่มกว้านซื้อก๊าซ LNG จากประเทศอื่นๆ มาไว้ทดแทน ตั้งแต่เอเชียจนถึงแอฟริกา จนทำให้ในเดือน ส.ค. นี้ การนำเข้าก๊าซจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนเพียง 11% จากการนำเข้าก๊าซทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ 39% 

ขณะเดียวกัน ก็ประกาศเพิ่มสัดส่วนการตุนก๊าซสำรองได้ไม่ต่ำกว่า 80% ซึ่งขณะนี้มีบางประเทศที่ตุนเกินสัดส่วนดังกล่าวไปแล้ว เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ 

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่กำลังจะตามมา มีรายงานว่าอียูกำลังเร่งประชุมเพื่อออกมาตรการควบคุมเพดานราคาพลังงาน (Price cap) โดยการให้บริษัทนำเข้าก๊าซธรรมชาติร่วมกันกำหนดเพดานราคาพลังงานจากรัสเซีย (เหมือนกับที่กลุ่ม G7 เพิ่งใช้ไปในการซื้อน้ำมันรัสเซีย) นอกจากนี้ ยังอาจพิจารณาเก็บภาษีจากพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่ได้กำไรในช่วงนี้ เพราะไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า 

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป จะเปิดเผยแผนช่วยเหลือในระดับภูมิภาค ในการกล่าวสุนทรพจน์ประจำปี วันที่ 14 ก.ย. นี้

ส่วนในระยะยาวนั้น ทางยุโรปวางแผนเปลี่ยนวิธีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติไปเป็นพลังงานหมุนเวียนเต็มรูปแบบให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในระยะยาว 

 

เยอรมนี

istock-1273467775

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมันเพิ่งประกาศอัดฉีดเงินช่วยเหลือกว่า 6.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.4 ล้านล้านบาท) เพื่ออุดหนุนค่าไฟให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือครัวเรือนที่มีความยากลำบากทางการเงิน เช่นประชาชนในวัยเกษียณ ประชาชนที่ไม่มีงานทำและต้องพึ่งสวัสดิการรัฐ และนักเรียนที่ยังไม่รายได้ 

นอกจากนี้ ยังออกมาตรการพักภาษีธุรกิจกว่า 9,000 แห่ง ที่ต้องใช้พลังงานในการผลิตในปริมาณมากเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าเม็ดเงินจากมาตรการพักภาษีจะมีมูลค่ารวมกันมากถึง 1.7 พันล้านยูโร (ราว 6.2 หมื่นล้านบาท) 

และเมื่อนำงบอุดหนุนส่วนนี้ไปรวมกับเงินช่วยเหลือก่อนหน้า จะทำให้เยอรมนีใช้งบประมาณช่วยเหลือในวิกฤติพลังงานงวดนี้ไปแล้วถึงเกือบ 1 แสนล้านยูโร (ราว 3.6 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในวิกฤติพลังงาน ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของงบประมาณ 3 แสนล้านยูโร ที่รัฐบาลใช้ช่วยเหลือธุรกิจในช่วงโควิด

ทั้งนี้ นอกจากมาตรการในระยะสั้น รัฐบาลเยอรมันยังพยายามเร่งสร้างท่าขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเติม เพื่อนำเข้าจากประเทศอื่น และขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย รวมไปถึงนำโรงงานถ่านหินที่ปิดไปแล้วกลับมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นการชั่วคราวด้วย

 

อังกฤษ

istock-530504478

หลังได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) ก็เจอปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างทันที เพราะค่าไฟในประเทศที่แพงอยู่แล้ว ยิ่งแพงขึ้นอีกหลังจากรัสเซียปิดท่องส่งก๊าซ Nord Stream 1

แม้ว่าอังกฤษจะนำเข้าก๊าซจากรัสเซียเพียง 3% แต่ผลกระทบจากรัสเซียก็ทำให้ราคาก๊าซในตลาดพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อวันจันทร์ที่รัสเซียปิดท่อส่งก๊าซนั้น ทำให้ค่าไฟพุ่งขึ้นทันทีอีก 30% 

สำนักข่าว CNN รายงานว่า ทรัสส์กำลังวางแผนจะออกงบประมาณช่วยเหลือประมาณ 1 แสนล้านปอนด์ (ราว 4.2 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้า ลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเงินสนับสนุนก้อนยักษ์รับรัฐบาลชุดใหม่ และมากกว่าเงินอุดหนุน 3 หมื่นล้านปอนด์ที่รัฐบาลชุดก่อนเคาะให้เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทจ้างพนักงานออกในช่วงโควิดระบาดหลายเท่า

 

ฝรั่งเศส

istock-496119714

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกมาตรการและเงินสนับสนุนกว่า 6.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.4 ล้านล้านบาท) เพื่อควบคุมค่าก๊าซให้อยู่ในระดับเดียวกับเดือนตุลาคมปี 2021 และคุมค่าไฟไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 4% จนถึงปลายปีนี้ รวมไปถึงให้เงินค่าไฟฟ้าจำนวน 100 ยูโรแก่ครอบครัวรายต่ำและรายได้ปานกลางทุกครอบครัวเพื่อแบ่งเบาภาระ

รัฐมนตรีการคลังของฝรั่งเศส บรูโน เลอ แมร์ กล่าวว่า รัฐบาลจะควบคุมราคาพลังงานให้เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในปีหน้า และ ‘จะไม่ยอมให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศสเป็นอันขาด’

อีกทั้งยังกล่าวอีกว่า หากไร้การเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาล ราคาก๊าซในประเทศจะเพิ่มขึ้นไปแล้ว 60% ในขณะที่ค่าไฟจะขึ้นไป 45% ทั้งนี้เป็นเพราะโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ที่ปกติผลิตไฟฟ้าประมาณ 70% ให้ประเทศกำลังปิดปรับปรุง ทำให้ฝรั่งเศสต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากยิ่งขึ้น

โดยนอกจากการให้เงินสนับสนุนแล้ว รัฐบาลยังออกมาขอร้องให้ประชาชนช่วยกันอีกทางด้วยการลดการใช้พลังงาน 10% โดยลดการใช้แอร์ในหน้าร้อน และลดการใช้ฮีตเตอร์ในหน้าหนาวอีกด้วย

 

อิตาลี

istock-667701322

อิตาลีก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติพลังงานในครั้งนี้ เพราะต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจำนวนมาก ปกติจะนำเข้าประมาณ 40% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 25% แล้ว แต่ก็ยังถือเป็นจำนวนที่มากอยู่ ค่าไฟในอิตาลีพุ่งสูงขึ้นมากหลังรัสเซียลดการส่งก๊าซให้ยุโรป ทำให้ธุรกิจจำนวนมากเดือดร้อน สมาคมธุรกิจของอุตสาหกรรมต่างๆ คาดการณ์ว่า หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภาคเอกชน บริษัทกว่า 120,000 แห่งทั่วอิตาลีอาจจะต้องปิดตัวลงใน 9 เดือนหลังจากนี้

แต่แม้ว่าสถานการณ์จะน่าห่วง รัฐบาลอิตาลีก็ยังไม่สามารถออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพราะการเมืองภายในยังไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเพิ่งลาออกไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

มัตเตโอ ซัลวีนี หัวหน้าพรรคฝ่ายขวาของอิตาลีที่สื่อคาดการณ์ว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งวันที่ 25 ก.ย. นี้ กล่าวว่าถ้าหากราคาพลังงานไม่ลดลง รัฐบาลชุดต่อไปอาจจะต้องใช้มาตรการแบ่งสรรปันส่วนไฟฟ้าและก๊าซให้ใช้กัน เพราะยังไงปริมาณก๊าซที่ปัจจุบันอิตาลีนำเข้าจากอัลจีเรีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกา ก็ไม่พอใช้ในหน้าหนาวนี้

นอกจากนี้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน รัฐบาลยังออกมาขอให้ประชาชนลดความร้อนของฮีตเตอร์ลง 2 องศาเซลเซียสในหน้าหนาว ขอให้ทางการแต่ละเมืองลดการใช้ไฟฟ้าในที่สาธารณะลง 40% และขอให้สถานที่ราชการและร้านค้าปิดทำการภายใน 1 ทุ่ม ส่วนร้านอาหารขอให้ปิดก่อน 5 ทุ่ม

จากมาตรการต่างๆ เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลแต่ละประเทศในยุโรปพยายามกันอย่างเต็มที่ที่จะดิ้นพาประชาชนผ่านวิกฤติพลังงานครั้งนี้ไปให้ได้โดยไม่ต้องเจ็บสาหัสกันมากนัก ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว 

ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและประเทศอื่นๆ ในยุโรปยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบนี้ รัฐบาลยุโรปจะสามารถทุ่มเงินช่วยเหลือประชาชนไปได้อีกนานแค่ไหน หรือจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ด้วยเงินได้อีกต่อไป



ที่มา: CNN, Politico, The Guardian

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT