ข่าวเศรษฐกิจ

โพล 'นิด้า' ชี้คนส่วนใหญ่ค้านยกหนี้ กยศ. เหตุส่งเสริมคนให้ขาดความรับผิดชอบ

2 ต.ค. 65
โพล 'นิด้า' ชี้คนส่วนใหญ่ค้านยกหนี้ กยศ. เหตุส่งเสริมคนให้ขาดความรับผิดชอบ

ประเด็นการ 'ยกหนี้ กยศ.' ยังคงเป็นที่ถกเถียงกับระหว่างทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและเห็นค้าน แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขให้กับผู้กู้เงินมา แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของโควิด-19 ยังส่งผลกระบไม่จบ ลองไปดูผลโพลของ 'นิด้า' ว่า คนส่วนใหญ่มีมมุมอย่างไรกับหนี้ กยศ.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "หนี้ กยศ. ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ หรือยกเลิกหนี้" เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเรียกร้องให้ล้างหนี้ หรือยกเลิกหนี้ ของผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ 59.91% ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย

เพราะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนขาดความรับผิดชอบ อาจทำให้เกิดปัญหาและความวุ่นวาย เช่น ผู้กู้ยืมเงินที่ชำระหนี้ครบแล้วจะได้รับเงินคืนหรือไม่ รองลงมา 16.62% ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยบางส่วนระบุว่า เศรษฐกิจไม่ดีถึงไม่ยกเลิกหนี้ให้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้อยู่ดี

ขณะที่ตัวอย่างอีก 14.48% ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะในช่วงที่ผ่านมา กยศ. มีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม การลดเบี้ยปรับ เป็นต้น โดยบางส่วนระบุว่า ผู้กู้ยืมเงินควรทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และอีก 8.08% ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือด้านการศึกษา และเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่มีรายได้น้อย

โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อมติของสภาผู้แทนราษฎร ในการยกเลิกเก็บดอกเบี้ยผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ 55.18% ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ.เป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย

โดยบางส่วนระบุว่าเป็นการช่วยลดภาระสำหรับผู้ที่ตกงานหรือว่างงาน รองลงมา ตัวอย่าง 18.22% ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการให้โอกาสกับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถเข้าถึงการศึกษา และการกู้ยืมเงินจาก กยศ.ไม่ควรมีการเก็บดอกเบี้ย

ขณะที่ตัวอย่าง 17.61% ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการทำให้เด็กรุ่นใหม่ขาดวินัยทางการเงิน ขาดความรับผิดชอบ และไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ได้ชำระหนี้หมดแล้ว โดยบางส่วนระบุว่า การยกเลิกเก็บดอกเบี้ยอาจทำให้ กยศ.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และที่เหลืออีก 8.99% ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้ที่จ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยครบแล้ว และผู้กู้ยืมเงินต้องมีความรับผิดชอบกับหนี้ที่ตนเองก่อขึ้น

สำหรับประโยชน์ของกองทุน กยศ.ต่อการให้โอกาสทางการศึกษากับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ 84.53% ระบุว่า มีประโยชน์มาก รองลงมา 13.72% ระบุว่า ค่อนข้างมีประโยชน์ ขณะที่ 0.76% ระบุว่า ไม่ค่อยมีประโยชน์ และอีก 0.69% ระบุว่า ไม่มีประโยชน์เลย

เมื่อถามถึงความเกี่ยวข้องกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของประชาชน พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ 61.28% ระบุว่า ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับ กยศ. รองลงมา 21.95% ระบุว่า มีลูก/หลานในการปกครองที่เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. ส่วนอีก 9.83% ระบุว่า เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่ยังชำระคืนไม่หมด และอีก 4.88% ระบุว่า เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่ชำระคืนหมดแล้ว ส่วนอีก 1.75% ระบุว่า เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่กำลังศึกษาอยู่ โดยมีตัวอย่าง 0.23% ระบุว่า เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่อยู่ระหว่างการเจรจาแก้หนี้ และอีก 0.08% ระบุว่า เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องจาก กยศ.

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน 2565

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT